“ดร.ณัฎฐ์” หวั่น นิรโทษกรรม ฉบับอดีตแกนนำ พธม. จุดชนวนขัดแย้งรอบใหม่
“ดร.ณัฎฐ์” ปรมาจารย์กฎหมายมหาชน ชี้ ข้อเสนอ นิรโทษกรรม ของอดีตแกนนำพันธมิตร ไม่กำหนดกรอบชัดเจน อาจขยายความขัดแย้งมากขึ้น
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 ตามที่กระแสข่าว นายพิภพ ธงชัย อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก จุดพลุ นิรโทษกรรม คดีการชุมนุมทางการเมือง เหมือน 66/2523 สมัย พล.อ.เปรม ชี้การรัฐประหาร 13 ครั้ง ออกกฎหมายนิรโทษกรรม โดยสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาเพื่อให้ประชาชนทุกฝ่ายหันมาพูดคุยกันตามแนวทางสันติวิธี และสันติธรรมในโอกาสครบรอบ 50 ปี 14 ตุลาและ 30 ปี 17 พฤษภา 35
ล่าสุด ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม หรือ “ดร.ณัฎฐ์” ปรมาจารย์ด้านกฎหมายมหาชนและผู้เชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญคนดัง ในประเด็นเกี่ยวกับนิรโทษทางการเมือง กล่าวว่า กฎหมายนิรโทษกรรมทางการเมือง ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย หากนับแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อปี 2475 ประเทศไทยมีกฎหมายนิรโทษกรรมทางการเมืองมาหลายครั้ง หลายคราว โดยผ่านการออกกฎหมาย เป็นพระราชบัญญัติ/พระราชกำหนด/หรือบัญญัติไว้ในธรรมนูญการปกครอง หรือบัญญัติไว้ในมาตราท้ายๆ ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จะพบว่า เนื้อหาสาระสำคัญกฎหมายนิรโทษกรรม มีสาระสำคัญ 2 ประการ ดังนี้
(1)นิรโทษกรรมการกระทำผิดทางอาญา เช่น- ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา
- ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์- ความผิดฐานกบฏและจลาจล
(2)นิรโทษกรรมเหตุการณ์
-กรณีความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนของนักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2516 นิรโทษกรรมแก่บรรดานักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว ซึ่งเหตุการณ์เดินขบวนนั้น เป็นต้น
ทั้ง 2 ประการ จะเขียนกฎหมายในลักษณะแนวทางเดียวกัน คือ “ให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิด และให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้าผู้นั้นรับโทษอยู่ ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง”
แนวคิดนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมือง ในอดีตเคยออกนิรโทษกรรมหลายครั้ง หากจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมจะต้องไม่ใช่การเหมาเข่ง ต้องแยกความผิด เหตุการณ์ต่างๆ ออกจากกันให้ชัดเจน ยกตัวอย่าง กรณีมาตรา 112 ไม่ควรที่จะนิรโทษกรรมให้ หรือ หลบหนีคำพิพากษาไปต่างประเทศ ไม่ควรจะนิรโทษกรรมให้
ส่วนกรณี นายพิภพ ธงชัย อดีตแกนนำพันธมิตร ยกกรณี 66/23 น่าจะหมายถึง กรณีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ไม่ใช่เป็นการตรากฎหมายในชั้นพระราชบัญญัติ หรือ พระราชกำหนด แต่เป็นการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการบริหารราชการแผ่นดินในการออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี สมัยนั้น เป็นการออกนโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ เกิดขึ้นจากการนำแนวทางการเมือง “นำการทหารมาใช้ในการเอาชนะการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์” เกิดจากการที่รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เล็งเห็นแล้วว่า การที่มีประชาชนในชนบทเข้าร่วมกับกองทัพปลดแอกของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) จับปืนสู้รบกับรัฐบาลนั้น มีสาเหตุสำคัญมาจาก”การไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือกระทั่งถูกรังแกกลั่นแกล้ง กดขี่ ขูดรีด จนทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะประชาชนในชนบทห่างไกล”
จะเห็นได้ว่าคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 เกิดขึ้นในยุครัฐบาล พล.อ.เปรม ที่คู่ขัดแย้งขณะนั้น คือ รัฐบาล พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และประชาชนที่หนีเข้าป่าหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 ขณะที่ความขัดแย้งที่ผ่านมา เป็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม การไม่ได้ความเป็นธรรม หรือสองมาตรฐานในการใช้บังคับกฎหมาย หรือแนวคิดขวา/ซ้าย เหลืองกับแดง มีความซับซ้อนในชั้นชนทางสังคม การนำ 66/23 กลับมาใช้อีกครั้ง บริบทสังคมการเมืองเปลี่ยนไปมาก โดยเฉพาะสังคมโซเชี่ยล ประชาชนใช้มือถือติดตามและเข้าถึงข่าวสารมากขึ้น การนำแนวคิด 66/23 มาใช้ อาจไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หากการปรองดอง หมายความรวมถึง การนิรโทษกรรมเหมาเข่ง รัฐบาลจำเป็นต้องสร้างบรรยากาศของการปรองดอง โดยเริ่มต้นง่ายๆ จากการยุติคดีทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากความเห็นต่าง ถ้าสร้างบรรยากาศนี้ไม่ได้ การปรองดองไม่มีวันเกิดขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในอดีตมีการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม แล้วไม่ผ่านมีหรือไม่ อย่างไร ดร.ณัฎฐ์ กล่าวว่า หากมองย้อนกลับไปปี 2556 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เสนอ ร่างกฎหมายหนึ่ง ที่เรียกว่า "นิรโทษกรรมเหมาเข่ง" หรือ "นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย" คือ “ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน" จุดพลิกผันสู่การประกาศยุบสภาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันที่ 9 ธ.ค. 2556 อันเนื่องมาจากกระแสต่อต้านร่าง พ.ร.บ. ฉบับที่เสนอเพราะร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับสุดซอยไป มีความเคลือบแคลงสงสัยว่า นิรโทษกรรมจะเหมารวมไปถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พี่ชายของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรด้วยหรือไม่ กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ขยายความเป็นระเบิดลูกใหญ่หล่นใส่ตูมก่อกำเนิดกลุ่มมวลมหาประชาชน ที่เรียกว่า “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" (กปปส.) ภายใต้การนำของ นายสุเทพ เทือกสุบรร ออกมาชุมนุมขับไล่ต่อเนื่อง จึงเป็นการต่อสู้ทางความคิดระหว่าง กลุ่ม กปปส.และกลุ่ม นปช. จนนำมาสู่การประกาศกฎอัยการศึกและยึดอำนาจรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดย
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ภายใต้แกนนำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
การจุดพลุประเด็นนิรโทษกรรมดังกล่าว ถือว่า เป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทุกฝ่ายหันมาพูดคุยปรองดอง
สามัคคีคนในชาติ แต่ตั้งข้อสังเกตว่า ข้อเสนอนิรโทษกรรมระหว่างปี 2549 ถึงปัจจุบันของนายพิภพ ธงชัย อดีตแกนนำพันธมิตร นิรโทษกรรมเป็นการเหมาเข่งหรือไม่ หากเป็นกรณีเหมาเข่ง จะเหมือนปี 2556 จนเกิดรัฐประหาร การจุดพลุดังกล่าว ต้องให้ชัดเจนว่า
นิรโทษกรรมในคดีประเภทใด ในเหตุการณ์การเมืองในช่วงใดด้วย หากไม่ระบุให้ชัด ข้อเสนอดังกล่าวเป็นการสับขาหลอก เรียกแขก มากกว่าปรองดอง จะเป็นการเทราดน้ำมันในกองไฟ จะรุกลามบานปลายมากกว่า เนื่องจากการปกครองโดยหลักนิติรัฐ ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน จะต้องปฎิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ตั้งข้อสังเกตว่า หากมีการเสนอเป็นกฎหมายนิรโทษกรรม รวมไปถึงประเภทคดีที่หลบหนีคำพิพากษาไปต่างประเทศด้วยหรือไม่ อย่างไร เพราะจะขัดแย้งกับข้อกฎหมายตาม พรป.ปปช.มาตรา 7 อายุความสะดุดหยุดอยู่ แม้หลบหนีไป 100 ปี ย่อมไม่พ้นความผิด หากไม่ชัดเจน จะเพิ่มความขัดแย้งทางการเมืองมากขึ้นกว่าเดิม บรรยากาศอาจไม่นำไปสู่การปรองดอง