“ไตรรงค์” ผนึก “พีระพันธุ์” “อาวุธลับประยุทธ์” ปั้น รทสช.
การตั้ง”ไตรรงค์”ที่เพิ่งไขก๊อกออกจาก ปชป.เป็นที่ปรึกษานายกฯ จึงไม่พ้นถูกโฟกัสไปยังอนาคตการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ ในพรรค รทสช.
พลันเมื่อ นายกฯ ประยุทธ์ ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 289/2565 แต่งตั้งที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ที่ชื่อ ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี โดยระบุถึงทำหน้าที่ว่า ให้คำปรึกษา และพิจารณาเสนอความเห็น หรือข้อเสนอแนะต่างๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย
พร้อมทั้งระบุให้ส่วนราชการสนับสนุนการดำเนินงานของที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีตามที่ได้รับการร้องขอ และให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของที่ปรึกษาฯ .... โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย.2565 เป็นต้นไป
การขยับตั้งอดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งไขก๊อกออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่าน หลังจากร่วมงานการเมืองในพรรคเก่าแก่มายาวนานถึง 38 ปี จึงไม่พ้นถูกโฟกัสไปยังประเด็นการเมือง เรื่องอนาคตของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทันที
โดยเฉพาะในจังหวะที่ พล.อ.ประยุทธ์ กำลังถูกจับจ้องอย่างหนัก ถึงท่าทีทางการเมืองว่าจะตัดสินใจ ร่วมงานกับพรรคการเมืองใดในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
ขณะเดียวกัน เสียงเล็ดลอดออกมาจากทำเนียบฯ ยังระบุด้วยว่า อีกภารกิจที่ นายกฯประยุทธ์ มอบหมายงานให้ ดร.ไตรรงค์ รับผิดชอบอีกเรื่อง คือ นโยบาย และการปราศรัย ยิ่งทำให้ถูกจับตาว่า เป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สนามเลือกตั้ง โดยทั้งคู่ต่างก็ถูกคาดหมายว่า จะเปิดตัวร่วมงานพรรครวมไทยสร้างชาติเร็วๆ นี้ ซึ่งมีรายงานว่ารทสช.จะส่งเทียบเชิญให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในวันที่ 21 พ.ย.นี้
ขณะเดียวกัน เสียงเล็ดลอดออกมาจากทำเนียบฯ ยังระบุด้วยว่า อีกภารกิจที่ นายกฯประยุทธ์ มอบหมายงานให้ ดร.ไตรรงค์ รับผิดชอบอีกเรื่อง คือ นโยบาย และการปราศรัย ยิ่งทำให้ถูกจับตาว่า เป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สนามเลือกตั้ง โดยทั้งคู่ต่างก็ถูกคาดหมายว่า จะเปิดตัวร่วมงานพรรครวมไทยสร้างชาติเร็วๆ นี้ ซึ่งมีรายงานว่ารทสช.จะส่งเทียบเชิญให้ พล.อ.ประยุทธ์ ในวันที่ 21 พ.ย.นี้
การจากลา ปชป.ของ “ไตรรงค์” ไม่ได้มีความขัดแย้งกับแกนนำพรรค ปชป.ชุดปัจจุบันและยังคงเป็นมิตรที่ดีของสมาชิกพรรค ปชป.ทุกคน
“ผมว่าการลาออกในครั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการประสานกับพรรคการเมืองอื่นๆ จะได้มีพลังและมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการเคลื่อนไหวแบบเงียบๆ เพื่อจะได้ตะล่อมให้บ้านเมืองเดินหน้าไปในทิศทางที่ผมเห็นว่าน่าจะปลอดภัยที่สุด”
ไตรรงค์ ได้แจ้งให้จุรินทร์-นิพนธ์ รู้ล่วงหน้าแล้ว ตั้งแต่ที่ทั้งสองมาเยี่ยมตัวเขาที่บ้านพักหลังการเลือกตั้งซ่อมที่จังหวัดสงขลา และชุมพร
ถ้ายังจำกันได้ บนเวทีปราศรัยใหญ่ของพรรค ปชป.เมื่อวันที่ 14 ม.ค.2565 ในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ชุมพร เขต 1 ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ตั้งใจช่วยลูกหมี-ชุมพล จุลใส ในการต่อสู้กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สมัยที่เป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ
“ผมเชื่อว่าลุงตู่ไม่โกง แต่ถ้าการเลือกตั้งใหม่แล้ว คนทางดูไบกลับเข้ามา ก็เกิดปัญหาอีก..” ไตรรงค์บอกกับคนชุมพรในวันนั้น
“ส่วนตัวผิดหวังกับลุงป้อมที่เป็นผู้ใหญ่มาเล่นการเมือง เพราะคนที่เป็นรัฐบุรุษต้องมองการณ์ไกล ต้องเห็นผลประโยชน์ของชาติมากกว่าผลประโยชน์ของพรรค หากลุงป้อมต้องการช่วยชาติบ้านเมืองต้องสำรวจตัวเองว่า เล่นการเมืองเพื่ออะไร..” ไตรรงค์วิพากษ์ลุงป้อม และผู้กองธรรมนัสอย่างรุนแรง
หากการเลือกตั้งสมัยหน้า “ไตรรงค์” ผนึก พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นำทัพพรรครวมไทยสร้างชาติ สู่สมรภูมิเลือกตั้ง ก็ทำให้หลายคนนึกถึงภาพเก่าๆ วันที่พรรค ปชป.ต้องต่อสู้กับพรรคประชาชน
พรรครวมไทยสร้างชาติ ก็มีลักษณะคล้ายพรรคประชาชนในอดีต เพราะเป็นพรรคที่มีอดีต ส.ส.ปชป.หลายรุ่นไปรวมตัวกันทำงานการเมือง ที่มีพื้นที่เป้าหมายอยู่ในภาคใต้เหมือนกัน
พรรคประชาชน กำเนิดจากกลุ่ม 10 มกรา นำโดย เฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ อดีตเลขาธิการพรรค ปชป. และวีระ มุสิกพงศ์ เลขาธิการพรรค ปชป.ในเวลานั้น โดย ส.ส.กลุ่ม 10 มกรา ได้ยกทีมลาออกจาก ปชป.เมื่อปี 2530
การเลือกตั้งปี 2531 ในสมรภูมิปักษ์ใต้ จึงเป็นการต่อสู้กันระหว่างพรรค ปชป. ที่มี พิชัยรัตตกุล หัวหน้าพรรค และชวน หลีกภัย แม่ทัพสะตอสามัคคี กับพรรคประชาชน นำโดยเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ และวีระ มุสิกพงศ์
มี ส.ส.ปชป.หลายจังหวัดในภาคใต้ รวมถึง ส.ส.กลุ่มวาดะห์ที่เคยสังกัด ปชป. ก็แยกตัวออกไปสังกัดพรรคประชาชนผลการเลือกตั้งปี 2531 พรรคประชาชนประสบความล้มเหลวในภาคใต้ เพราะคนปักษ์ใต้ส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นและศรัทธา ปชป.
สำหรับบริบทการเมือง พ.ศ.ปัจจุบัน แตกต่างจากเมื่อปี 2531 ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ยังขายได้ในปักษ์ใต้ แถมคู่แข่ง ปชป.ก็มีหลายพรรค ฉะนั้น พรรครวมไทยสร้างชาติ อาจไม่ได้มีชะตากรรมเหมือนพรรคประชาชนก็เป็นได้