“นายกฯ” เปิดประชุมวิชาการ AULF ยกระดับองค์ความรู้ ร่วมมือฝ่าวิกฤติ

“นายกฯ” เปิดประชุมวิชาการ AULF ยกระดับองค์ความรู้ ร่วมมือฝ่าวิกฤติ

“นายกฯ” เปิดการประชุมวิชาการ APEC University Leaders’ Forum 2022 ยกระดับองค์ความรู้ใหม่ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สาธารณสุข เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อ ปชช. ชี้ ความร่วมมือเป็นหัวใจนำพาประเทศพ้นวิกฤติ

ที่อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุมทางวิชาการ APEC University Leaders’ Forum 2022 (AULF) ภายใต้หัวข้อ “Preventing the Next Pandemic – The Global Partnership Agenda: Government, Business and Research University” โดยภายหลังเสร็จสิ้น นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของคำกล่าว ดังนี้
 

นายกรัฐมนตรี ยินดีต่อการจัดการประชุมทางวิชาการในวันนี้ ซึ่งเป็นความร่วมมือที่สอดคล้องกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายใต้ APEC รวมถึงเป็นเวทีในการแบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ตลอดจนเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการฟื้นฟูและการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมั่นคงและยั่งยืน เช่นเดียวกับประเด็นสำคัญในการเป็นเจ้าภาพ APEC ของไทยในปีนี้ ที่มุ่งผลักดันการสร้างความร่วมมือภายใต้แนวคิด “Open. Connect. Balance.” นอกจากนี้ การประชุมฯ ยังขยายความสำคัญไปถึงการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัย เพื่อยกระดับองค์ความรู้ใหม่ โดยเฉพาะองค์ความรู้ด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่เกี่ยวกับการทำวิจัยชีวการแพทย์ การบำบัดโรค และการพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ ที่พร้อมรับมือกับโรคอุบัติใหม่ ตลอดจนการนำงานวิจัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเกิดผลเป็นรูปธรรมสำหรับประชาชนอย่างทั่วถึง
 

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วิกฤติสาธารณสุขที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าความถูกต้องของข้อมูล การเผยแพร่ รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน ซึ่งภาคการศึกษาเป็นกำลังสำคัญในการชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องทางวิชาการแก่สังคมนอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างกันเป็นหัวใจสำคัญในการนำพาประเทศก้าวผ่านวิกฤติ โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับคำชมจากองค์การอนามัยโลก และนานาประเทศในการดำเนินนโยบายและมาตรการการควบคุมโควิด-19 รวมถึงการดูแลประชาชน ทำให้องค์การอนามัยโลกเลือกไทยเป็นประเทศต้นแบบในโครงการนำร่อง “การทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า” ซึ่งความสำเร็จนี้เป็นความภาคภูมิใจที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน รวมถึงความมุ่งมั่นในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี ยารักษาโรค วัคซีน และเครื่องมือทางการแพทย์กับประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
 
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีชื่นชมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและภาคการศึกษาที่ร่วมมือกับ ศบค. ช่วยเหลือประเทศภายใต้รูปแบบ “นวัตกรรมเพื่อสังคม” โดยได้นำผลการศึกษาวิจัยมาพัฒนาให้สามารถใช้งานได้จริง และนำมาช่วยเหลือสังคมในช่วงวิกฤต ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยประสบความสำเร็จในการรับมือกับโรค คือ นโยบายในการวางรากฐานระบบหลักประกันสุขภาพ และความพร้อมของเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านสาธารณสุขกับนานาประเทศ และส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถในการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศรวมถึงการยกระดับศักยภาพของบุคลากรให้มีความสามารถสูงขึ้นและมีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยใช้งาน
 
นายกรัฐมนตรีหวังว่าการประชุมฯ ในวันนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกันในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาในทุกมิติ โดยมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นรากฐานสำคัญ นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของทุกประเทศในภูมิภาคอย่างสมดุลและยั่งยืนสืบต่อไป
 
อนึ่ง การประชุมทางวิชาการ APEC University Leaders’ Forum 2022 จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างสมาคมมหาวิทยาลัยภาคพื้นแปซิฟิก (Association of Pacific Rim University: APRU) กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคธุรกิจ และการศึกษาของไทยกับภูมิภาคทั่วโลกรวมถึงเป็นการเสริมสร้างการตระหนักรู้ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อหลักของการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคของไทย “Open. Connect. Balance. เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล”