"เอเปค 2022" ไทยต้องไม่เสียประโยชน์
ผลลัพธ์ที่ได้จากการประชุมเอเปค จะต้องสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันในแบบหุ้นส่วนที่มีความสร้างสรรค์ และ ยั่งยืน ที่สำคัญประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพก็ควรได้รับประโยชน์แบบจับต้องได้ และไม่ควร “เสียประโยชน์” จากการประชุมระดับโลกแบบนี้แม้แต่นิดเดียว
การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ นับเป็นงานใหญ่ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ต้อนรับบรรดาผู้นำระดับโลกที่เดินทางเข้าร่วม การประชุมครั้งนี้ คือ การประชุมที่ครอบคลุมเกือบทุกมิติของความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ความคาดหวัง คือ ผลประโยชน์ที่จับต้องได้ เป็นรูปธรรม การหารือทวิภาคีในหลายประเด็น โดยเฉพาะประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน รวมถึงประเด็นใหญ่ของโลกเรื่องความยั่งยืน ล้วนเป็นประเด็นที่ทุกประเทศให้ความสำคัญ
ขณะที่ เวทีคู่ขนานอย่าง “ซีอีโอ ซัมมิท” หรือ APEC CEO Summit ก็เป็นอีกเวทีที่สำคัญเช่นกัน เป็นการรวมตัวของภาคธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาค หลังเผชิญวิกฤติโลกระบาดที่กินเวลามาอย่างยาวนาน เวทีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ได้นำเสนอ 3 ประเด็นที่ควรมีความร่วมมือกันในระดับภูมิภาค คือ ประเด็นเรื่อง BCG ประเด็นการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และ ประเด็นการมุ่งไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ทั้ง 3 ประเด็นนับว่ามีความสำคัญ หากมีความร่วมมือกันในระดับเขตเศรษฐกิจได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี
กลุ่มเอเปค คือ ความร่วมมือของ 21 เขตเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ประชากรของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจรวมกันครอบคลุมประชากรมากกว่า 3 พันล้านคน หรือคิดเป็น 38% ของประชากรทั้งโลก เป็นกลุ่มประชากรที่มีความน่าสนใจมากที่สุด โดยเฉพาะกำลังซื้อของประชากรกลุ่มนี้ขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ เป็นตลาดขนาดใหญ่ ขนาดเศรษฐกิจรวมกันราว 2 ใน 3 ของมูลค่าผลผลิตมวลรวมของทั้งโลก หรือคิดเป็นตัวเงินกว่า 50 ล้านล้านดอลลาร์ และมูลค่าการค้าระหว่าง 21 เขตเศรษฐกิจ ยังเทียบเท่ากับครึ่งหนึ่งของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของทั้งโลก
การประชุมเอเปคครั้งนี้ ยังเป็นการประชุมแบบ พบปะ ถกหารือ ขึ้นเวทีเสวนาแบบพบหน้าเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาด ระเบียบโลกที่เปลี่ยนไป ทั่วทั้งโลกกำลังต้องการความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศของเศรษฐกิจให้ฟื้นคืน หลังเจอวิกฤติโรคระบาด ผลพวงของปัญหาตามมามากมาย ทั้งวิกฤติอาหาร วิกฤติพลังงาน สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยี
ดังนั้น ผลลัพธ์ที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ ควรต้องเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ยังประโยชน์และมีความรับผิดชอบเพื่อให้เศรษฐกิจของทั้ง 21 เขต และของทั้งโลกพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น รองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ สร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันในแบบหุ้นส่วนที่มีความสร้างสรรค์ และ ยั่งยืน ที่สำคัญประเทศไทยก็ควรได้รับประโยชน์แบบจับต้องได้ และไม่ควร “เสียประโยชน์” จากการประชุมระดับโลกแบบนี้แม้แต่นิดเดียว