ศึกขั้วเดียวกัน-ชิงจัดตั้งรัฐบาล ด่าน “ประยุทธ์” นายกฯ 10 ปี
"พรรคเพื่อไทย คิดไกลชนะแลนด์สไลด์ได้เกิน 250 เสียงเช่นกัน ดังนั้น “ขั้วอนุรักษ์นิยม” จึงวางเกณฑ์ขั้นต่ำที่ต้องได้คือ 200-220 เสียง เพื่อชิงจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยมี 250 ส.ว.คอยโหวตช่วย"
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีมาแล้ว 8 ปี แต่จะสามารถฝ่าด่านไปต่อได้อีกหรือไม่ การเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นตัวชี้วัด
โดยต้องติดตามดูว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะประกาศอนาคตทางการเมืองออกมาในทิศทางใดหลังจากนี้ โดยมีเพียง 2 ทางเลือก
1.เคลียร์ใจกับ พี่ใหญ่ 3 ป. “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แล้วจับมือลุยต่อในพรรคพลังประชารัฐไปด้วยกัน แต่นาทีนี้ คงเป็นไปได้ยาก เพราะไม่ไว้วางใจ “ทีมป่ารอยต่อ” ซึ่งคอยกดดัน ต่อรองทางการเมืองตลอดเวลา
2.เข้าสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่มี "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าพรรค โดยจะเป็นพรรคที่รวบรวมนักเลือกตั้ง จากทั้งพลังประชารัฐและประชาธิปัตย์ มาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ที่แต้มการเมืองส่วนตัวยังขายได้ในบางพื้นที่
โดยการเลือกตั้งครั้งหน้า “ขั้วประยุทธ์” มีเดิมพันไปต่อ เพื่อรักษาอำนาจของขั้วตัวเอง แต่ต้องมาแย่งแต้มการเมืองที่อยู่ในโถเดียวกันเองเสียก่อน เพื่อให้พรรคของตัวเองกวาดเก้าอี้ ส.ส. มาให้ได้มากที่สุด ก่อนนำมาต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี
ศึกชิงภาคใต้ แน่นอนว่าชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังขายได้และมีคะแนนนำในทุกโพล ตรงกันข้ามกับชื่อของ “อู๊ดด้า” จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี รมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่คะแนนนิยมมีน้อยมาก
ทว่า หากเทียบกันระหว่างแบรนด์พรรค ประชาธิปัตย์ยังคงเข้มแข็ง ตรงกันข้ามกับพลังประชารัฐที่อ่อนยวบลง ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ แม้จะถูกคาดหมายเป็นทางเลือกใหม่ของพล.อ.ประยุทธ์ แต่ยังไม่สามารถวัดความนิยมได้
ดังนั้น การไปต่อบนเส้นทางการเมืองของ “พล.อ.ประยุทธ์” ในพื้นที่หลักภาคใต้ ก็ต้องห่ำหั่นกับพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ เพื่อแย่งเก้าอี้ ส.ส. ในขั้วเดียวกันเอง และเมื่อถึงเวลาลงสนามเลือกตั้ง ย่อมไม่มีใครยอมใคร
นอกจากนี้ ยังมีอีกมิติการเมือง คือ ศึกชิงบ้านใหญ่ หาก “บิ๊กตู่” แยกกันเดินกับ “บิ๊กป้อม” ต่างฝ่าย ก็ต้องแย่งนักการเมืองสายแข็ง กลุ่ม “บ้านใหญ่” ภายในพรรคพลังประชารัฐเข้าสังกัด เพื่อเสริมกำลังให้กับพรรคภายใต้การคอนโทรลของตัวเอง
โดยเฉพาะ “กลุ่มสามมิตร” ภายใต้การนำของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.ยุติธรรม “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.อุตสาหกรรม “อนุชา นาคาศัย” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีขุมกำลัง ส.ส.เขตในมือ มากพอสมควร
“สมศักดิ์” แย้มว่าจะมีความชัดเจนของกลุ่มสามมิตร จะเลือกอยู่กับ “บิ๊กตู่” หรือ “บิ๊กป้อม” ในช่วงกลางเดือน ม.ค.
หากเดาใจกลุ่มสามมิตรคงเทน้ำหนักมาที่ “บิ๊กตู่” มากกว่า เพราะมีบทเรียนจาก “ทีมป่ารอยต่อ” ที่กีดกันไม่ให้มีบทบาทภายในพรรคพลังประชารัฐ และมีบางจังหวะยังส่งคนเข้าล้วงลูกงานกระทรวง
หากเทียบกับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่แม้จะกำกับดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แต่ไม่เคยเข้ามาล้วงลูกงานกระทรวงยุติธรรม ตรงนี้จึงได้ใจ “สมศักดิ์” ไม่น้อย
“บ้านใหญ่เพชรบูรณ์” แม้ “สันติ พร้อมพัฒน์” จะนั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ แต่แทบไม่มีบทบาทภายในพรรค ที่สำคัญชื่อมักจะถูกจัดไปอยู่กับ “ทีมประยุทธ์”
“บ้านใหญ่คุณปลื้ม” แม้ในพื้นที่ จ.ชลบุรี จะโดน “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน อดีตเด็กในบ้านท้าทาย รวบรวมไพร่พลตีเมืองชล แต่ “เสี่ยแป๊ะ” สนธยา คุณปลื้ม มีโมเดลจะสร้างพรรคพลังบูรพา ขยายให้ครอบคลุมภาคตะวันออก
อย่างไรก็ตามทั้ง “ทีมตึกไทยคู่ฟ้า” และ “ทีมป่ารอยต่อ” ต่างก็ต้องการดึง “บ้านใหญ่คุณปลื้ม” ไปอยู่ด้วย
“บ้านใหญ่ปากน้ำ” ภายหลัง ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด “เสี่ยเอ๋” ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม แกนนำกลุ่มปากน้ำ เกี่ยวพันกับคดีเงินทอนวัดสมุทรปราการ จึงเป็นไฟต์บังคับให้กลุ่มปากน้ำต้องอยู่กับ “พล.อ.ประวิตร-ทีมป่ารอยต่อ” ต่อไป
นอกจากนี้ ยังมี “บ้านใหญ่” อีกหลายบ้านที่กระจัดกระจายอยู่ในหลายจังหวัดที่ “พล.อ.ประยุทธ์-ทีมตึกไทยคู่ฟ้า” ต้องเปิดศึกแย่งชิงกับ “พล.อ.ประวิตร-ทีมป่ารอยต่อ” ซึ่งจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงเดือน ม.ค. ปีหน้า
ศึกชิงตั้งรัฐบาลรอบหน้าของ “พล.อ.ประยุทธ์” และทีมขั้วอนุรักษ์นิยม ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนากล้า และพรรคเล็ก ต้องการ ส.ส. 250 เสียง แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายในสถานการณ์นี้
เนื่องจาก “ขั้วฝ่ายค้าน” ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล มีฐานเสียงค่อนข้างเข้มแข็ง ยากที่ “ขั้วอนุรักษ์นิยม” จะเข้าไปเจาะได้ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย คิดไกลชนะแลนด์สไลด์ได้เกิน 250 เสียงเช่นกัน
ดังนั้น “ขั้วอนุรักษ์นิยม” จึงวางเกณฑ์ขั้นต่ำที่ต้องได้คือ 200-220 เสียง เพื่อชิงจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย โดยมี 250 ส.ว.คอยโหวตช่วย
หลังจากนั้นค่อยปฏิบัติการดูด “ส.ส.งูเห่า” เข้าร่วมปฏิบัติการในสภาฯ ในวาระต่างๆ แม้จะเป็นเกมเสี่ยงไม่ใช่น้อย แต่ถอดบทเรียนในห้วง 4 ปีที่ผ่านมา ก็ใช่จะเป็นไปไม่ได้
ทั้งหมด คือศึกรอบด้านที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องรบหนัก หากจะอยู่ในการเมืองอีกสมัย โดยมีเดิมพันเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ที่ปฏิบัติหน้าที่จริงได้ยาวนานถึง 10 ปี