“ธรรมนัส” ซุกปีก “ป.ป้อม” กัน “ป.ประยุทธ์” คิดบัญชี
หาก ป.ป้อม มองว่าการมาของธรรมนัส กับพวก จะมีส่วนช่วยพลิกฟื้นกระแสของพลังประชารัฐ จริง ก็นับว่าน่าสนใจ แต่ท่าทีล่าสุดของ พล.อ.ประวิตร ที่มีต่อ ธรรมนัส คล้ายส่งสัญญาณไม่สู้ดี “เขายังมีคดีอยู่ไม่ใช่หรือ”
เรียกว่าพรรคเพื่อไทยถึงกับโล่งอก เมื่อร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคเศรษฐกิจไทยและ ส.ส.อีกกว่า 10 คน กำลังจะกลับไปลงหลักปักฐานกับพรรคพลังประชารัฐอีกครั้ง
ทั้งที่แต่เดิม ก๊วนนี้เตรียมยกโขยงไปร่วมชายคาเพื่อไทย แต่ก็ต้องเจอแรงต้านอย่างรุนแรงจากคนในพรรค ไม่เพียงแต่ปัญหาตัวผู้สมัครที่จะไปทับซ้อนกับคนเดิมของพรรค แต่เกรงว่าชื่อเสียงในด้านที่ไม่ค่อยบวกของผู้กอง จะเป็นตัวฉุดรั้งเป้าหมายแลนด์สไลด์ด้วยนั่นเอง โดยเฉพาะในกทม. ที่กระแสพรรคพอได้น้ำได้เนื้ออยู่ในขณะนี้
พูดง่ายๆ ว่า ก๊วนผู้กอง อยู่ในภาวะโลกกว้าง ทางแคบของจริง เมื่อออกจากพลังประชารัฐเพราะเหตุผลความขัดแย้ง ก่อนจะไปปลุกปั้นพรรคเศรษฐกิจไทย ที่ไม่ประสบความสำเร็จ เห็นได้จากด่านทดสอบแรก คือการส่งผู้สมัคร ส.ส.ลงเลือกตั้งซ่อมลำปาง ก็แพ้หลุดลุ่ย ป้องกันแชมป์ไว้ไม่ได้
สมาชิกพรรคเศรษฐกิจไทยก็เริ่มกระจัดกระจาย ท่อน้ำเลี้ยงเริ่มติดขัด และอีกหลายปัญหาที่ส่งผลให้การเดินหน้าไม่สามารถทำได้ จึงต้องหาบ้านใหม่ แต่สุดท้ายก็ต้องกลับบ้านเก่าในที่สุด
การคืนรังของ "ธรรมนัส" จะเป็นปัจจัยเร่งให้กลุ่มก๊วนอื่นๆ ในพรรคพลังประชารัฐ ตัดสินใจง่ายขึ้นในการย้ายออก โดยเฉพาะ "กลุ่มสามมิตร" และ "กลุ่มเพชรบูรณ์" ภายใต้การนำของ สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะเลขาธิการพรรค ที่ต่างเป็นคู่ขัดแย้งกันชนิดไม่เผาผี
ตรงนี้ จึงเป็นปัญหาที่กำลังจะสร้างแรงกระเพื่อมครั้งรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งภายในพรรค และยังเป็นคำถามด้วยว่า การที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เปิดประตูรับผู้กองกลับ จะเป็นผลดีหรือผลเสียกับพรรคกันแน่
เมื่ออิทธิฤทธิ์ของธรรมนัสในวันที่หลุดวงโคจรอำนาจ ไร้ตำแหน่งรัฐมนตรี ไม่สามารถคุมกลไกต่างๆ ที่เอื้อต่อการเลือกตั้ง เห็นได้จากสนามซ่อมที่ลำปาง หรือจะย้อนกลับไปตอนเลือกตั้งซ่อมชุมพร และสงขลา ที่ตอนนั้นผู้กองยังเป็นเลขาฯ พลังประชารัฐ ระดมทุกสรรพกำลังลงไปสู้ จนคู่แข่งโอดโอย พร้อมๆกับการชูกลยุทธ์ทิ้ง ป.ประยุทธ์ เลือกขายเฉพาะ ป.ป้อม สุดท้ายก็ไม่รอด เพราะกระแสในภาคใต้ ระหว่างพี่น้อง 2 ป. ต่างกันราวดินกับฟ้า เมื่อเลือกผิดชีวิตจึงเปลี่ยน
อีกทั้งสนามชุมพรในครั้งนั้น คู่ต่อสู้ของผู้กองและพลังประชารัฐ ได้รับการสนับสนุนจากคนบนตึกไทยคู่ฟ้า ที่กำลังจะเปิดตัวในสีเสื้อพรรครวมไทยสร้างชาติ รวมถึงที่สนามซ่อมที่สงขลา พลังประชารัฐ ที่พ่ายแพ้ไม่เป็นท่า ส่วนหนึ่งมาจากการปราศรัยของผู้กองให้เลือกคนรวยใช่หรือไม่
ดังนั้น ไม่ว่าการกลับมาพลังประชารัฐของธรรมนัส จะมีเหตุผลใดก็ตาม แต่บรรดาคอการเมืองต่างตั้งข้อสังเกตว่า เพราะหมดทางไปใช่หรือไม่ เมื่อเศรษฐกิจไทย เองก็ไปต่อลำบาก ทางเพื่อไทย ก็ไม่ต้อนรับ จะมีก็แต่ “ป.ป้อม” ประมุขแห่งป่ารอยต่อฯ และพลังประชารัฐ เท่านั้น
มีอีกหนึ่งข้อสังเกตที่น่าสนใจก็คือ เวลานี้เป็นช่วงเช็กบิลธรรมนัส ตามบัญชีแค้นของ“ป.ประยุทธ์”หรือไม่ สืบเนื่องจากเหตุการณ์กบฎโหวตล้มนายกฯ ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ 4 ก.ย.64 และเกมกระเพื่อม ปรับ ครม. ที่ต้องการอัพเกรดเก้าอี้รัฐมนตรีในช่วงที่เป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์
ทั้งยังถูกเชื่อมโยงถึงการกวาดล้างกลุ่มจีนสีเทาในขณะนี้ เพื่อต้องการเด็ดปีกนักการเมือง หรืออดีตรัฐมนตรีช่วยฯ ซึ่งสังคมเข้าใจว่าเป็นธรรมนัส หรือไม่
นี่เองจึงอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ผู้กองต้องซุกปีกผู้มีอำนาจในพลังประชารัฐ เพื่อหาเกราะป้องกันตัวให้อยู่รอดปลอดภัย หรืออย่างน้อยหนักจะได้เป็นเบา เพราะหากไปโลดแล่นอย่างอิสระ มีหวังโดนสอยเอาง่ายๆ
ส่วนเหตุผลอื่นในทางการเมือง หาก ป.ป้อม มองว่าการมาของธรรมนัส กับพวก จะมีส่วนช่วยพลิกฟื้นกระแสของพลังประชารัฐ จริง ก็นับว่าน่าสนใจว่าอะไรที่เป็นตัวสร้างความมั่นใจเช่นนั้นโดยเฉพาะใน กทม. และภาคใต้ ที่ความนิยมในตัวพรรค ผกผันไปจากเดิมแบบหน้ามือเป็นหลังมือ
โดยพื้นที่ที่พลังประชารัฐ มีโอกาสชนะเลือกตั้ง จึงมีแค่บางเขต ในบางจังหวัดที่เป็นบ้านใหญ่หรือมีตัวผู้สมัครเข้มแข็งด้วยตัวเอง ชาวบ้านไว้วางใจ โดยไม่ต้องอาศัยกระแสของพรรคพลังประชารัฐ
ถึงอย่างนั้นก็ตาม ท่าทีล่าสุดของพล.อ.ประวิตร ที่มีต่อ ธรรมนัส คล้ายส่งสัญญาณเรื่องการรับกลับ เมื่อตอบคำถามนักข่าวด้วยการส่ายหัวว่า “เขายังมีคดีอยู่ไม่ใช่หรือ”