ร้องผู้ตรวจฯสอบกรมชลประทาน บริหารพลาดทำ ต.รางจรเข้ อยุธยา น้ำท่วม 2 ปีซ้อน
อบต.รางจรเข้ อยุธยา เข้าร้องเรียน “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ขอให้ช่วยตรวจสอบ หลังประชาชนได้รับความเดือดร้อน การบริหารจัดการน้ำของ สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ-กรมชลประทาน ก่อให้เกิดอุทกภัยติดต่อกัน 2 ปีซ้อน
เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2565 ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน รับเรื่องร้องเรียนจากนายพงศกร มงคลหมู่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลรางจรเข้ ยื่นเรื่องร้องเรียนขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบกรณีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตำบลรางจระเข้ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สืบเนื่องจากองค์การบริหารส่วนตำบลรางจรเข้ ได้รับคำร้องทุกข์จากประชาชนในตำบลรางจรเข้และใกล้เคียง ว่าได้รับความเดือดร้อนจากการบริหารจัดการน้ำของสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกรมชลประทาน เนื่องจากตำบลรางจรเข้ ตั้งอยู่ในพื้นที่ทุ่งรับน้ำจากการระบายน้ำจากเขื่อนชัยนาท ซึ่งเกิดอุทกภัยซ้ำซากสองปีซ้อน ประชาชนได้รับความเดือดร้อนที่อยู่อาศัยถูกน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 เดือน ถนนสายหลักที่ใช้สัญจรระหว่างหมู่บ้านถูกตัดขาด พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย จากการบริหารจัดการน้ำที่ขาดความจริงจังและไม่มีประสิทธิภาพ
ก่อนหน้านี้เคยมีข้อตกลงร่วมกันระหว่างจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรมชลประทาน และ กรมส่งเสริมการเกษตร ให้เกษตรกรในพื้นที่รับน้ำทำนาปรังปีละสองรอบ เพื่อในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี จะได้ใช้พื้นที่การเกษตรเป็นทุ่งแก้มลิงในการรับน้ำ โดยดำเนินตามนโยบายปล่อยน้ำเข้านา ปล่อยปลาเข้าทุ่ง ซึ่งเป็นวิธีการรับน้ำเข้าทุ่ง และลดปัญหาการเผาตอซังของเกษตรกร อีกทั้งเป็นการปรับปรุงระบบนิเวศน์ในพื้นที่การเกษตร
แต่จากการบริหารจัดการน้ำของสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมชลประทานที่ผ่านมา ส่งผลให้พื้นที่ตำบลรางจรเข้ ทั้ง 7 หมู่บ้าน จำนวนกว่า 800 หลังคาเรือน ประสบปัญหาอุทกภัยเต็มพื้นที่ ถนนสายหลักที่เชื่อมต่อระหว่างตำบลซึ่งก่อสร้างด้วยงบประมาณแผ่นดินมูลค่ากว่า 50 ล้านบาทชำรุดเสียหายจากเหตุอุทกภัยสองปีซ้อน
นอกจากนี้ยังพบว่าการยกระดับบานประตูระบายน้ำแต่ละแห่งไม่สอดคล้องกับปริมาณน้ำในพื้นที่ เนื่องจากกรมชลประทานปล่อยปละละเลยให้เกษตรกรทำนารอบที่สามในช่วงเดือนสิงหาคม จึงต้องมีการป้องกันพื้นที่การเกษตรที่มีเกษตรกรจำนวนมากฝ่าฝืนทำนารอบที่สาม ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมสำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในบริเวณทุ่งรับน้ำตำบลรางจรเข้ ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินเคยตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้เมื่อปี พ.ศ. 2554 และมีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลสมัยนั้นดำเนินการแก้ไขหลายประการ
ด้วยเหตุนี้ องค์การบริหารส่วนตำบลรางจรเข้ อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงขอร้องเรียนต่อท่านผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้สอบสวนข้อเท็จจริง กรณีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการบริหารจัดการน้ำของ สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมชลประทาน ซึ่งก่อให้เกิดสถานการณ์อุทกภัยติดต่อกันสองปี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชนและป้องกันทรัพย์สินของรัฐเสียหายจากการปล่อยปละละเลยของเจ้าหน้าที่ของรัฐ