“สว. สถิตย์" แนะกระจายอำนาจท้องถิ่นสำเร็จได้ ต้องกระจายอำนาจทางการคลัง
“สว. สถิตย์" กางโมเดล "กระจายอำนาจท้องถิ่น" แนะต้องกระจายอำนาจทางการคลัง ปรับสัดส่วนโครงสร้างภาษีท้องถิ่น
ในการประชุมรัฐสภา วาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 14 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น)
นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา ได้อภิปรายว่า การกระจายอำนาจที่จะนำไปสู่ ความสำเร็จของการบริการสาธารณะในระดับท้องถิ่นได้อย่างแท้จริงนั้น หัวใจสำคัญของการกระจายอำนาจ คือการกระจายอำนาจทางการคลัง โดยต้องทำให้มีท้องถิ่นมีอิสระทางการคลัง มีรายได้ของตนเองให้มากพอ พึ่งพาส่วนกลางให้น้อยลง
ในปัจจุบันรายได้ทางการคลังของท้องถิ่นมาจากรายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง รายได้ที่รัฐบาลจัดเก็บให้ รายได้ที่รัฐบาลแบ่งให้และรายได้จากการอุดหนุน และถ้าแยกแต่ละประเภทแล้ว รายได้จากการอุดหนุนมีมากที่สุด
ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างภาษีท้องถิ่นให้มีขอบข่ายที่กว้างขวางชัดเจนมากขึ้น ต้องพัฒนาความสามารถในการจัดเก็บภาษีให้สามารถจัดเก็บภาษีให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย
รวมถึงการ ปรับโครงสร้างภาษีที่รัฐจัดเก็บให้รับโครงสร้างภาษีที่รัฐแบ่งให้ ให้มีสัดส่วนที่ทำให้เห็นว่า รายได้ ทางการคลังของท้องถิ่นมีเพียงพอที่จะถือว่ามีอิสระภาพทางการคลัง
นายสถิตย์ อภิปรายต่อไปว่า รูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทยไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกเป็นองค์กรแบบทั่วไปกับแบบพิเศษ ดังเช่นรูปแบบพิเศษของกรุงเทพมหานครและพัทยา แต่ควรมีเพียงรูปแบบเดียว คือ รูปแบบเทศบาล แบ่งเป็น เทศบาลมหานคร เช่นกรุงเทพมหานครและพัทยา เทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล องค์กรบริหารส่วนตำบลให้เปลี่ยนเป็นเทศบาลตำบล การจัดระดับของเทศบาลก็ให้เป็นไปตามความเหมาะสม
สำหรับการบริหารเป็นการทั่วไปทั้งจังหวัดที่เป็นอำนาจขององค์กรปกครองส่วนจังหวัด และอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น สมควร
พิจารณาว่าจังหวัดไหนเป็นจังหวัดใหญ่และมีความพร้อม ก็เปลี่ยนสถานะจากองค์กรปกครองส่วนจังหวัด มาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดในเวลาและสถานการณ์ที่เหมาะสม ก็จะทำให้การกระจายอำนาจไปสู่ ท้องถิ่นค่อยค่อยเคลื่อนคล้อยไปสู่โครงสร้างใหม่ ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดและเทศบาล เป็นสองรูปแบบที่ชัดเจน
นายสถิตย์ ยังกล่าวว่า การกระจายอำนาจที่นำเสนอและที่ตนได้ให้ข้อสังเกตนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นเรื่องที่อาจจะทำได้ภายใต้โครงสร้างกฎหมายปัจจุบัน เช่น พระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง การปรับโครงสร้างรายได้จากภาษีก็สามารถทำได้ในระดับพระราชบัญญัติ การกู้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการออกพันธบัตรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต่างก็มีกฎหมายก็ให้อำนาจอยู่แล้ว
ยกเว้นองค์กรบริหารส่วนตำบลเพราะว่ามีขนาดเล็กเกินไป
อีกทั้งการออกพันธบัตรนั้นจำเป็นต้องมีการจัดลำดับความน่าเชื่อถือ ต้องมีที่ปรึกษาด้านการเงิน และการดำเนินการอย่างอื่นอีกหลายอย่าง ซึ่งมี
ค่าใช้จ่ายจำนวนมาก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กจึงไม่มีความสามารถในการที่จะออกพันธบัตร
ทั้งนี้ ในการกระจายอำนาจหากยังมีเรื่องใดที่ยังทำไม่ได้ตามกฎหมายปัจจุบัน ก็สามารถแก้ไขใน ระดับพระราชบัญญัติได้ แต่เนื่องจากในประเทศไทยมักไม่ค่อยเชื่อถือว่าจะมีการแก้ไขพระราชบัญญัติให้
เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ จึงได้มีความคิดที่จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมา
เพราะเมื่อปรากฏอยู่แล้วรัฐธรรมนูญแล้วจะต้องมีพระราชบัญญัติใหม่หรือแก้ไขพระราชบัญญัติเดิมให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญนั้น
"ไม่ว่าเป็นการจัดทำในระดับรัฐธรรมนูญ หรือการจัดทำในระดับพระราชบัญญัติ ตราบใดที่เป็นหลักการที่ถูกต้องในการกระจายอำนาจ และตราบใดที่การใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล เป็นไปตามหลักวินัยการเงินการคลัง เป็นสิ่งที่ยอมรับ
ได้ทั้งสิ้น"