"บัตร2ใบ-สูตรหาร 100" ฉลุย จับตา “กล(ประ)ยุทธ์" เอาชนะเลือกตั้ง
กติกาเลือกตั้ง แน่ชัดว่า จะใช้ "บัตร2ใบ" และ "สูตรหาร100" จากนี้ต้องจับตา "พรรคการเมือง" ที่แข่งขันในสมรภูมิเลือกตั้ง โดยเฉพาะกลยุทธ์ของ "ประวิตร-ประยุทธ์" ที่หมายจะเอาชนะ เพื่อกลับมาครองอำนาจ
“ร่างกฎหมายลูก” ที่เป็นกลไก “การเลือกตั้ง” ทั้ง 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วย พรรคการเมือง ผ่านการรับรองความชอบ ว่า ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ จาก “ศาลรัฐธรรมนูญ” เป็นที่เรียบร้อย
ขั้นตอนจากนี้ คือ “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา ต้องส่งร่างพ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับ ให้กับ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนทูลเกล้าฯ โดยคาดการณ์กันว่า ร่างพ.ร.ป. เลือกตั้ง และ ร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง จะมีผลบังคับใช้ ไม่ช้าไปกว่าเดือนมีนาคม 2566
หากนับวันบนปฏิทิน เชื่อว่าใกล้กับช่วงที่ “สภาผู้แทนราษฎร” ชุดปัจจุบัน หมดวาระ วันที่ 24 มี.ค.2566
กติกาเลือกตั้งที่ปรับใหม่ และพร้อมใช้กับ “เลือกตั้ง66” สรุปสาระได้ว่า จะใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ บัตรแรกให้เลือก “ผู้สมัครส.ส.แบบเขต” แยกอิสระจาก บัตรใบที่สอง ที่เลือก “พรรคการเมือง”
ขณะที่สูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อ แยกบัตรเลือกตั้ง ออกเป็น 2 ใบ จะทำให้ “คะแนนมหาชน” ที่กาบนบัตรพรรค แยกอิสระจาก “บัตรแบบเขต” เท่ากับว่า พรรคไหน ได้ส.ส.เขตแล้ว ยังมีของแถมเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งใช้วิธีคำนวณคะแนนแบบเติมเต็ม "ด้วยสูตรหาร 100"
สำหรับ “กติกา” ที่เปลี่ยนไปจากปี 62 ที่ใช้เลือกตั้งใบเดียว-คำนวณส.ส.แบบจัดสรรปันส่วนผสม ถูกประเมินว่า เป็นกลไกที่เอื้อให้ “พรรคใหญ่-ทุนหนา” ได้เปรียบในการเลือกตั้ง -โกยส.ส.เข้าสภา ขณะที่ “พรรคเล็ก-ทุนน้อย” เสี่ยงสูญพันธุ์ ไม่ได้ “ส.ส.” เข้าสภาฯ
ทว่ามีสิ่งที่ “นักวิชาการ” มองในมุมที่ต่างออกไป จากกติกาเลือกตั้งที่ปรับเปลี่ยน ไม่สำคัญเท่ากับ “ผู้คุมกฎ-ผู้จัดการเลือกตั้ง” ที่ต้องเฝ้าระวังการทำงาน
โดย “อ.เจษฎ์ โทณะวณิก” ประธานคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มองว่า กติกาในกฎหมายลูก มีความไม่สมบูรณ์ และยังมีเน้ือหาที่ส่อขัดกับรัฐธรรมนูญ ดังนั้นสิ่งที่จะแก้ปัญหาได้ คือ การออกแนวปฏิบัติ ขั้นตอน เลือกตั้ง รวมถึงระบบคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้ชัดเจน
หากจำได้ในการเลือกตั้งปี2562 มีหลายประเด็นที่ไม่ชัดเจน จนทำให้ เกิดคำครหา ว่า “กกต.” ทำงานเอื้อให้บางพรรค “ชนะ” เลือกตั้งทั้ง เกณฑ์การแบ่งเขตเลือกตั้ง รวมไปถึงการ คำนวณคะแนนส.ส.พึงมี ก่อให้เกิดพรรคปัดเศษ 11 พรรค
ทำให้ “พลังประชารัฐ” ได้จัดตั้งรัฐบาล ด้วยเทคนิคทางกฎหมาย แต่ต่อมาพบว่า “ส.ส.ปัดเศษ” ทำให้ การเมืองในฝ่ายนิติบัญญัติ มีปัญหา เรื่องแลกโหวต “แจกกล้วยในสภาฯ”
ต่อด้วยกลไกของราชการทั้ง “กลไกท้องถิ่น-มหาดไทย-ทหาร” ที่ถูกมองว่าเป็น “แต้มตุน” ให้กับ “นักการเมืองฝั่งอนุรักษ์นิยม” ในสมรภูมิเลือกตั้ง จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเคร่งครัดในการทำตนเป็นกลางทางการเมือง
ขณะที่การเมืองหลังเลือกตั้ง “อ.เจษฎ์” มองว่าอาจมีเงื่อนไขที่สร้างปัญหา คือ “ส.ว.”
เพราะ “ส.ว.ชุดปัจจุบัน” ยังมีอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี หาก "พรรคพลังประชารัฐ” ของ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” กับ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” ที่คาดว่า เป็นพรรคนั่งร้าน ให้กับ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ไม่สามารถรวมเสียง ส.ส. ได้เกินครึ่ง
ขณะที่ พรรคฝั่งเสรีนิยม รวมกันได้ ส.ว. จะทำอย่างไร หาก "ส.ว.” ไม่หนุน “พรรคกลุ่มเสรีนิยม” อาจทำให้เกิดม็อบ การชุมนุมเคลื่อนไหว ที่สร้างโอกาสให้ “ทหาร” เข้ามาแทรกแซงทางการเมืองได้
อ.เจษฎ์ มองด้วยว่า หากเกิดกรณีตรงข้าม คือ “ส.ว.” หันไปสนับสนุน พรรคกลุ่มเสรีนิยม “กลุ่มทหาร” ที่ยังไม่ละวางทางการเมือง จะยอมรับได้หรือไม่
ดังนั้น แม้ กติกาการเมือง และกฎหมายลูกที่เป็นเงื่อนไขของการเลือกตั้ง มีผลใช้บังคับแล้ว ใช่ว่า “ประชาธิปไตยของประเทศไทย” จะเปลี่ยนผ่านไปได้ อย่าง ราบรื่น
เพราะเมื่อการเมือง ยังยืนอยู่บนการแบ่งปัน จัดสรรผลประโยชน์ ภายในกลุ่มขั้ว-ข้างของฝ่ายตน จึงเป็นสิ่งที่ต้องจับตา “กล” ของ “ประยุทธ์”- “ประวิตร" ที่จะงัดมาใช้ เพื่อบรรลุเป้าหมายเพื่อ “ชนะเลือกตั้ง” ให้มากที่สุด.