ส่องคอนเนคชั่น “3 รมต.ป้ายแดง” สายตรงนายกฯ-มือขวา“อัศวเหม”
ทั้งหมดคือคอนเนคชั่นการเมืองของ “3 รัฐมนตรีป้ายแดง” ที่แม้จะอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีในระยะเวลาอันสั้น แต่ถือเป็นเกียรติประวัติอันสำคัญของ “คนการเมือง”
ในที่สุด นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยอมขยับปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังดองโควตาของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 2 ตำแหน่งมา 1 ปีกว่า แต่การขยับครั้งนี้“ประยุทธ์” ยึด 1 โควตา ส่วนอีก 1 โควตา ยังเป็นของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพปชร.
โดยเรียกว่าเป็นปีทองที่แท้จริงสำหรับ “เสี่ยแด็ก” ธนกร วังบุญคงชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่เพิ่งได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
จากเด็กปั้นของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.ยุติธรรม แกนนำกลุ่มสามมิตร ที่ผลักดันให้อยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกตั้งเมื่อ ปี 2562 พร้อมๆกับการได้เป็นโฆษกพรรคพลังประชารัฐ คนแรก ในยุคที่หัวหน้าพรรคชื่อ “อุตตม สาวนายน”
การฟอร์มรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งนั้น “อุตตม” ได้ตำแหน่งรมว.คลัง ก็ดึงเอา “ธนกร” ไปนั่งเป็นเลขานุการ รมว.คลัง อยู่ระยะหนึ่ง ก็ต้องเผชิญกับแรงกระเพื่อมในพลังประชารัฐ กดดันจน“อุตตม” และกลุ่ม 4 กุมารต้องลาออกจากตำแหน่ง ก่อนจะโดนบีบให้ต้องพ้นจากพลังประชารัฐตัว “ธนกร” เองก็ต้องหลุดตำแหน่งไปโดยปริยาย
จากนั้นไม่นาน “ธนกร” ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ของอนุชา นาคาศัย ที่เริ่มมีบทบาทเป็น “องครักษ์พิทักษ์ประยุทธ์” อย่างชัดเจน ออกมาปกป้องและตอบโต้ทุกฝ่ายที่โจมตี แถมถนัดในเรื่องยกยอปอปั้นผลงานนายใหญ่อยู่เสมอ จนเป็นที่พออกพอใจ
จึงไม่ต้องแปลกใจ หาก ประยุทธ์ ตัดสินใจเลือกธนกร ขึ้นเป็นโฆษกรัฐบาลในเวลาต่อมา แทนที่“อนุชา บูรพชัยศรี” ที่สไตล์การทำงานนุ่มนวลเกินไป ต่างจากธนกร ที่เล่นบทบู๊ฟาดฟันกับบรรดาฝ่ายตรงข้ามอยู่เสมอ โดยนั่งทำงานในตำแหน่งโทรโข่งอยู่ได้ประมาณ 1 ปี
ความฝันของธนกร ก็เป็นจริง เมื่อ “วทันยา บุนนาค” ลาออกจากส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ก็ทำให้ต้องเลื่อนลำดับคนถัดไปขึ้นมาแทนนั่นก็คือ ธนกร ที่ได้เป็นผู้แทนราษฎรสมใจอยาก และแล้วบุญก็หล่นทับ เมื่อเป็นส.ส.อยู่ไม่กี่เดือน ก็ถูกปรับครม. ให้เป็นรัฐมนตรีในที่สุด
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ธนกร มีความสามารถในการเข้าหาผู้ใหญ่ จนได้รับความเมตตา ไม่ว่าจะ “สมศักดิ์” เรื่อยมาจนถึง “อุตตม” และ “ประยุทธ์” ในขณะนี้
ท่ามกลางการตั้งข้อสังเกตว่า การที่ประยุทธ์ ตั้งลูกหม้อสามมิตร เป็นรัฐมนตรีนั้น นอกจากปูนบำเหน็จส่วนตัวแล้ว ยังต้องการซื้อใจสมศักดิ์ด้วยหรือไม่ ในช่วงที่กำลังตัดสินใจจะไปอย่างไรต่อในทางการเมือง
ขณะที่รัฐมนตรีป้ายแดงอีกคนอย่าง “สุนทร ปานแสงทอง” หรือพี่ทร ตามที่กลุ่มส.ส.สมุทรปราการ พลังประชารัฐ เรียกและให้ความเคารพ เพราะถือเป็นคนเก่าคนแก่ที่ทำงานการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่กับบ้านใหญ่มายาวนาน
พูดง่ายๆ สุนทร เป็นคนในบ้านอัศวเหมอย่างไรอย่างนั้น มีบทบาทเป็นมือทำงานในบทบาทต่างๆ ให้กับวัฒนา อัศวเหม ในสมัยที่ยังโลดแล่นในเวทีการเมืองสนามใหญ่ ทั้งยังเคยเป็นผู้ช่วย ส.ส.ของวัฒนา อีกด้วย
แล้วยังมีโอกาสได้มาช่วยงาน เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เมื่อครั้งเป็นนายกอบจ.สมุทรปราการ ในตำแหน่งเลขานุการฯ และล่าสุด มีตำแหน่งเป็นรองนายกฯ อบจ.สมุทรปราการ ในยุค ตู่ นันทิดา แก้วบัวสาย เป็นนายกอบจ.สมุทรปราการ
ด้วยประสบการณ์การทำงานสูง เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ จึงตัดสินใจ เลือกสุนทร นั่งรัฐมนตรีในโควตาปากน้ำ โดยเสนอชื่อผ่านพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้นายกฯ ปรับครม.
ขณะเดียวกัน กลุ่มส.ส.ปากน้ำ พลังประชารัฐ เอง ก็เห็นตรงกันว่า พี่ทร เหมาะสมที่สุดกับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ และเชื่อว่าด้วยประสบการณ์จะสามารถเริ่มขับเคลื่อนงานได้อย่างรวดเร็ว สามารถต่อยอดพื้นที่ได้ เนื่องจากสมุทรปราการมีพื้นที่ทำการเกษตรและการประมงอยู่พอสมควร
จะเห็นได้ว่า 2 รัฐมนตรีป้ายแดง ต่างมีสังกัดด้วยกันทั้งสิ้น แม้เส้นทางการเติบโตทางการเมืองของแต่ละคนจะแตกต่างกันอยู่บ้างก็ตาม
ด้าน “นริศ ขำนุรักษ์” รมช.มหาดไทย ส.ส.พัทลุง 5 สมัย นอกจากนี้ เคยถูกเสนอชื่อจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เมื่อครั้งปรับครม.ประยุทธ์2/4 แทน ถาวร เสนเนียม อดีตรมช.คมนาคม แกนนำกปปส.ที่พ้นจากตำแหน่งหลังต้องคำพิพากษาถึงที่สุดคดีการชุมนุมทางการเมือง
ก่อนที่ต่อมาปชป.จะมีมติเสนอชื่อ สินิตย์ เลิศไกร ส.ส.สุราษฎร์ธานี เป็นรมช.พาณิชย์ ซึ่งเป็นการสลับกระทรวงระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ด้วยเหตุผลในเรื่องความเหมาะสม เนื่องจากสุราษฎร์ธานีเป็นจังหวัดเดียวที่ปชป.กวาดส.ส.ได้ยกจังหวัดและยังไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
ขณะเดียวกันการผลักดันนริศ ขึ้นแท่น มท.3 รอบนี้ ไม่ใช่เพียงแค่พิจารณาจากลำดับความอาวุโส หรือการเป็น ส.ส.5 สมัยแต่เพียงเท่านั้น แต่ปชป.ยังพิจารณาในแง่ความ“ตอบโจทย์”การทำหน้าที่ มท.3 ซึ่งกำกับดูแลกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย(ปภ.) รวมถึงกรมที่ดินต่อเนื่องไปถึงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสภาผู้แทนราษฎร ที่นริศทำหน้าที่ก่อนหน้า
โดยเฉพาะในแง่ของพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ติด“กฎเหล็ก”180 วัน ของ กกต.ทำให้ ส.ส.และผู้สมัครไม่สามารถลงพื้นที่ หรือแจกของได้อย่างเต็มที่ จะต้องอาศัยกลไกที่พรรคมีอยู่เป็นตัวช่วย
ขณะที่อีกหนึ่งปัจจัย ที่ตอบโจทย์คือ “นริศ” ซึ่งเป็นมุสลิม น่าจะตอบโจทย์ในแง่ของพื้นที่โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งปชป.พยายามขขยายฐานเสียงในภาคใต้อยู่ ณ เวลานี้ ที่สำคัญเป็นหนึ่งในขุนพลที่ “จุรินทร์” ไว้วางใจมากที่สุด
ทั้งหมดคือคอนเนคชั่นการเมืองของ “3 รัฐมนตรีป้ายแดง” ที่แม้จะอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีในระยะเวลาอันสั้น แต่ถือเป็นเกียรติประวัติอันสำคัญของ “คนการเมือง”