รัฐสภา เปิด3เป้าหมาย-ความสำเร็จ ดันมาตรการสร้างความปลอดภัยท้องถนน
เครือข่าย "สมาชิกรัฐสภา" ด้านความปลอดภัยทางถนนภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก เปิด3เป้าหมาย-กางผลงานความสำเร็จ ดันมาตรการสร้างความปลอดภัยท้องถนน "นิกร" ลาตำแหน่งประธาน หวังสมาชิกเดินหน้าไปสู่ทศวรรษใหม่
นายนิกร จำนง รองประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม คนที่ห้า ในฐานะประธานเครือข่ายสมาชิกรัฐสภาด้านความปลอดภัยทางถนนภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก เป็นประธานการประชุมเครือข่ายสมาชิกรัฐสภาด้านความปลอดภัยทางถนน เรื่อง "การติดตาม ความคืบหน้าในช่วง 2 ปีแรก ทศวรรษแห่งปฏิบัติการด้านความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2564 - 2573" โดยมี นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ นายนพพล เหลืองทองนารา ส.ส.พิษณุโลกพรรคเพื่อไทย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย นายทวีวงษ์ จุลกมนตรี สมาชิกวุฒิสภา และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ซึ่งการประชุมครั้งนี้ได้จัดประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ด้วย
นายนิกร จำนง กล่าวว่า นับได้เป็นเวลา 6 ปีแล้ว ตั้งแต่ได้มีการก่อตั้งเครือข่ายสมาชิกรัฐสภาเพื่อความปลอดภัยทางถนน (the Global Network for Road Safety Legislators) ในปี 2016 เครือข่ายสมาชิกรัฐสภาได้แสดงให้เห็นว่า สมาชิกรัฐสภานั้นมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งในการยืนหยัดให้เห็นถึงความรุนแรงของปัญหาอุบัติเหตุทางถนน โดยที่เป็นปัญหาร่วมกัน ของทุกประเทศในโลก ซึ่งได้เห็นผลงานการดำเนินงานอย่างหนักจากเพื่อนสมาชิกในหลาย ๆ ประเทศ ที่ได้ดำเนินการในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างความถนนที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับทุกคน ในฐานะที่
ตนเป็นสมาชิกรัฐสภาคนหนึ่งได้เป็นผู้เสนอให้มีการตั้งอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาศึกษาความปลอดภัยทางถนนและคมนาคม ภายใต้คณะกรรมาธิการการคมนาคม และได้เป็นประธานอนุกรรมาธิการดังกล่าวเอง โดยอนุกรรมาธิการได้จัดทำรายงานเรื่อง “ความปลอดภัยทางถนนและคมนาคม” ขึ้นในปี 2563
ซึ่งต่อมาได้ถูกเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี และสืบเนื่องจากข้อเสนอดังกล่าวนั้นคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการตามคำแนะนำดังกล่าว
ปัจจุบันได้ดำเนินการจนเป็นรูปธรรมแล้วในหลายประเด็น เช่น การกำหนดให้รถจักรยานยนต์ต้องติดตั้งระบบ ABS (Anti lock Brake System) และการให้ใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ซึ่งปัจจุบันได้ออกมาเป็นกฎหมายแล้วและจะมีผลบังคับใช้ต่อไป นี้เป็นเพียงกรณีตัวอย่างการดำเนินการ
ตนเชื่อว่ายังมีเรื่องราวความสำเร็จลักษณะเดียวกันจากเพื่อนสมาชิกรัฐสภาอื่น ๆ
อีกมากมาย ก่อนหน้านี้ เราได้เคยมุ่งหน้าไปสู่ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน 2554 - 2563 (Decade of Action for Road Safety 2011-2020) ซึ่งอย่างที่ทราบกันดีว่าเราไม่ได้บรรลุตามเป้าหมายดังกล่าว และเชื่อว่าความพยายามนั้นไม่ได้สูญเปล่า เราได้เรียนรู้และได้ดำเนินการจนมีความคืบหน้ามามากมาย ด้วยทิศทางที่ชัดเจนขึ้น การผนึกกำลัง และร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และระหว่างประเทศต่าง ๆ จะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ในที่สุด
สำหรับการดำเนินการในทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน 2564 - 2573 (Decade of Action for Road Safety 2021-2030) ที่กำลังมาถึง ตนขอใช้โอกาสนี้กล่าวถึงประเด็นสำคัญด้านความปลอดภัยทางถนนที่เป็นบทเรียนได้เรียนรู้มา และควรเป็นเป้าหมายในการดำเนินการต่อไป ในอนาคต ดังนี้
1. อุบัติเหตุเกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ เป็นปัญหาสำคัญในหลายประเทศ ในกลุ่มเอเชียและกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งการขนส่งสาธารณะไม่เพียงพอ ทำให้จักรยานยนต์เป็นเครื่องมือหลักในการเดินทาง ส่งผลอุบัติเหตุทางถนนส่วนใหญ่เกิดกับกลุ่มผู้ใช้จักรยานยนต์ ปัญหาเกี่ยวกับจักรยานยนต์นั้นค่อนข้างซับซ้อน แนวทางการแก้ไขก็อาจแตกต่างกันในแต่ละประเทศ
เช่นจากการศึกษาพบว่าคนไทยประสบปัญหาในการหยุดรถ ซึ่งแม้ว่าจะมีการออกกฎหมายปี 2564 กำหนดให้รถจักรยานยนต์ต้องติดตั้งระบบ ABS แล้วก็ตาม แต่ผลกระทบที่ตามมาก็คือราคาของรถที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนั้น สำหรับรถที่จดทะเบียนใช้งานอยู่แล้วก่อนกฎหมายมีผลก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ซึ่งต้องรอจนรถดังกล่าวสิ้นสภาพไป
ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรการอบรมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เพื่อเพิ่มทักษะการใช้ห้ามล้อคู่ขนานไปด้วย ทั้งนี้ ยังมีบางเรื่องที่สามารถดำเนินการ ได้ง่าย ก็คือระบบเปิดไฟหน้าอัตโนมัติ “Automatic Headlight On (AHO)” ซึ่งเมื่อคราวที่ตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงคมนาคมทำหน้าที่กำกับดูแลด้านการขนส่งทางบก ได้กำหนดบังคับให้รถจักรยานยนต์ทุกคันที่จดทะเบียนตั้งแต่ตั้งแต่ปี 2548 ต้องติดตั้งระบบเปิดไฟหน้าอัตโนมัติ ซึ่งมาตรการดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ง่ายแต่ก็มีประสิทธิภาพสูงมากในด้านความปลอดภัยทางถนน ซึ่งตนก็ได้แนะนำมาตรการนี้ไปยังทุก ๆ ประเทศ
2. เด็กและเยาวชนควรเป็นเป้าหมายสำคัญของเราเสมอ เด็กและเยาวชนนั้น บอบบางต่ออุบัติเหตุทางถนนเป็นอย่างมาก ดังนั้น การให้ความรู้ด้านความปลอดภัยทางถนน อย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
3. การบังคับใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้กฎหมาย ประสบความสำเร็จ นอกเหนือจากการบังคับใช้กฎหมายแล้วควรพิจารณาเครื่องมืออื่นๆ ที่ช่วย เพิ่มประสิทธิภาพได้ เช่น ระบบคะแนนความประพฤติ โดยในประเทศไทยระบบคะแนนความประพฤติจราจรจะมีผลต้นปี 2565 และนอกจากนั้น กำหนดให้มีศาลจราจรในการดำเนินคดีจราจรก็จะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายอย่างมาก
อย้างไรก็ดีเชื่อว่าทุกคนต่างก็มีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานไปสู่ทศวรรษใหม่ ตนในฐานะสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นสมาชิกมนตรีในคณะมนตรีของเครือข่ายสมาชิกรัฐสภาเพื่อความปลอดภัยทางถนน และดำรงตำแหน่งเป็นประธานเครือข่ายสมาชิกรัฐสภาด้านความปลอดภัยทางถนนภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก มาแล้ว 2 สมัย
ตนขออำลาจากตำแหน่งประธานเครือข่ายสมาชิกรัฐสภาด้านความปลอดภัยทางถนนภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก และเปิดโอกาสให้เพิ่มสมาชิกท่านอื่นได้เข้ามาดำรงตำแหน่งแทน และขอแสดงความขอบคุณไปยังผู้เกี่ยวข้องในการสนับสนุน การร่วมมือ การทุ่มเท หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นเครือข่ายดำเนินต่อไปอย่างเข้มเข็ง สามารถพัฒนากฎระเบียบ แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประเทศ และนำไปสู่การลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนตามเป้าหมายที่มุ่งหวังต่อไป