'พิชิต' ชี้สูตรประชามติ 3 ครั้งจัดทำ รธน.ใหม่ ยึดความเห็นตุลาการไม่เป็นผลดี

'พิชิต' ชี้สูตรประชามติ 3 ครั้งจัดทำ รธน.ใหม่ ยึดความเห็นตุลาการไม่เป็นผลดี

"พิชิต ชื่นบาน" ค้านประชามติยึดคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการ เป็นแค่ความเห็นส่วนตัวของคนใกล้หมดวาระ ย้ำต้องยึดคำวินิจฉัยกลางผ่าทางตันทำประชามติ 3 รอบ ชี้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เคยชี้แก้อำนาจศาล-องค์กรอิสระได้ เสนอ “3 ประตู สู่ประชามติ เพื่อประชาธิปไตย"

เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2567 นายพิชิต ชื่นบาน อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุถึงกรณีการแก้ไขรัฐธรรรมนูญ ซึ่งเป็นความเห็นที่ต่างจากนักการเมืองคนอื่นโดยระบุว่า "ผมขอพูดในฐานะนักกฎหมายและประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่รักและหวงแหนการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผมยืนยันว่า ผมมีเจตนาบริสุทธิ์ที่ต้องการปกป้องและรักษาไว้ซึ่งความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย"

"ประเด็นแรก ผมไม่เห็นด้วยกับการนำเอาคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาเป็นแนวทางในการทำประชามติ เนื่องจาก ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ต่างทยอยครบวาระกันไปแล้ว การจะนำเอาความเห็นส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่กำลังจะหมดหน้าที่ มาใช้เป็นแนวทางการจัดทำประชามติ ย่อมไม่ส่งผลดีต่อประโยชน์สาธารณะของประเทศ"

นายพิชิต ระบุว่า ทิศทางเดียวที่ประเทศจะได้รับประโยชน์สูงสุดก็คือ การยึดเอาคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ มาใช้ประกอบเป็นแนวทางการจัดทำประชามติทั้ง 3 ครั้ง เพราะตามคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่ได้วินิจฉัยไว้ว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะสามารถแก้ไขอำนาจศาล หรือองค์กรอิสระได้อย่างไร หรือไม่

\'พิชิต\' ชี้สูตรประชามติ 3 ครั้งจัดทำ รธน.ใหม่ ยึดความเห็นตุลาการไม่เป็นผลดี

นายพิชิต ระบุว่า ตนมขอเสนอหลักการ “3 ประตู สู่ประชามติ เพื่อประชาธิปไตย ที่จะนำมาซึ่งความสงบสุข ร่มเย็น อันแท้จริง”  โดยเห็นว่า ควรจัดทำประชามติ 3 ครั้ง ทั้งนี้เพื่อความรอบคอบในประเด็นข้อพิจารณาเพื่อให้เป็นตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย 

โดยการทำประชามติครั้งที่ 1 เพื่อเป็นการขอความเห็นชอบต่อประชาชนว่า สมควรร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เป็นผู้ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ให้เป็นหน้าที่ของ สส.และ  สว.เท่านั้น 

ครั้งที่ 2 เพื่อเป็นการขอความเห็นชอบต่อประชาชน โดยยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256/1 หรือ หมวด 15/1 เพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการ จัดตั้ง ส.ส.ร. และ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 256 (8) โดยจะไม่แก้ไข หมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ เท่านั้น แต่เพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการแก้ไขหมวดอื่นๆ เช่น การแก้ไขอำนาจศาลหรือองค์กรอิสระที่ไม่อาจปฎิบัติหน้าที่สอดคล้องตามหลักการและอุดมการณ์ที่แท้จริงของการปกครองระบอบประชาธิปไตย จึงมีเหตุจำเป็นที่ต้องขอฉันทานุมัติจากประชาชนเสียก่อน เพื่อป้องกันการตีความในภายหลังว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีลักษณะที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ส่วนการทำประชามติครั้งที่ 3 เพื่อเป็นการนำเอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับที่ ส.ส.ร.ยกร่างเสร็จแล้ว มาขอความเห็นชอบจากประชาชนเป็นครั้งสุดท้าย

นายพิชิต ระบุว่า แม้การจัดทำประชามติแต่ละครั้ง จะต้องใช้เวลาและใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่ตนมั่นใจว่าจะคุ้มค่ากับทั้งเวลาและงบประมาณที่ต้องเสียไป เพราะคุณค่าของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่ จะเป็นไปตามหลักการและอุดมการณ์ของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

"ระหว่างทางของการเดินไปสู่จุดหมายความเห็นต่างย่อมเกิดขึ้นได้ ถนนอาจมีหลุม มีบ่อบ้าง ถือเป็นเรื่องปกติในวิถีประชาธิปไตย  ผมอยากเห็นทุกฝ่ายร่วมกันหาทางออก โดยยึดประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นหลัก และรักษาไว้ซึ่งความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  สุดโต่งกันเกินไป สุดท้ายการแก้ไขรัฐธรรมนูญมันจะไม่สำเร็จเอาครับ" นายพิชิต ระบุ