“จักรพันธ์”เสนอขับเคลื่อนBCG สานเวทีเอเปค ชง 3 ข้อเสนอพัฒนาที่สมดุล
“จักรพันธ์”ร่วมระดมแนวทางขับเคลื่อนBCG สานเวทีเอเปค ยื่น 3 ข้อเสนอพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล
นายจักรพันธ์ พรนิมิตร ประธานภาค ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร. ) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ กล่าวเปิดสัมมนา “เอเปค อัพเดท : ก้าวต่อไปของความร่วมมือระหว่างไทย อาเซียน เอเปค และสหภาพยุโรป (อียู) จัดโดย มูลนิธิคอนราด อเดนาวร์ ว่า จากความสำเร็จของไทยในการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC)ครั้งที่ 29 ปี 2565 ซึ่งมีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจและการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย.ที่ผ่านมาจะนำไปสู่การขยายความร่วมมือกับภูมิภาคต่างๆมากขึ้นทั้งอาเซียน สหภาพยุโรป(อียู) เพื่อความร่วมมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ท่ามกลางความท้าทายจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์
“ แม้ว่าการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคได้จบสิ้นแล้ว แต่การหารือครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วม ทั้งสมาชิกสภา วุฒิสมาชิก เจ้าหน้าที่รัฐสภา นักวิชาการและ สื่อมวลชน เพื่อระดมความคิดเห็นที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนแนวทางที่เอเปควางกรอบและต่อเนื่องไปถึงการประชุมเอเปคครั้งถัดไป โดยเฉพาะหัวข้อหลักที่เป้าหมายของการประชุมเอเปคที่กรุงเทพมหานครภายใต้แนวคิด “Open. Connect. Balance.” ที่ไทยได้ชูโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นแนวคิดสำคัญในการส่งเสริมความยั่งยืนของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนจึงเป็นโอกาสอันดีที่จะร่วมมือกันสร้างความเข้าใจในยุทธศาสตร์และบทบาทของเอเปคและอนาคตของเอเปค”นายจักรพันธ์กล่าว
สำหรับบทบาทไทย ได้มีการทบทวนกลยุทธ์ เพื่อการเติบโตบนปัจจัยเสี่ยงของโลกที่เกิดจากผลกระทบไวรัสโควิด -19 การเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทำให้เกิดการสู้รบส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงจากความผันผวนของราคาพลังงาน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เหล่านี้ล้วนกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทย เป้าหมายการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจของไทย เดินหน้าเข้าสู่ BCG Economy Model ตามเป้าหมายของการประชุมเอเปคที่ผ่านมา จะมีส่วนสำคัญต่อการกำหนดยุทธศาสตร์การฟื้นฟู หลังผ่านวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด 19 โดยการนำ วิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุ้มค่า พร้อมไปกับ การฟื้นฟูระบบนิเวศน์ โดยเฉพาะการบริหารจัดการขยะ กลับมาเป็นวัตถุดิบ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เข้าสู่กระบวนกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง เพื่อสร้างความสมดุล ในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน
โดยแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในยุคต่อไป ที่จะนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนจะมี 3 ประเด็นหลัก คือ 1. มีการวิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจใหม่นับจากนี้ และทบทวนแนวทางการส่งเสริมเพื่อการบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน ที่มีความยืดหยุ่น เพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม
2. สร้างความเชื่อมั่นในการเดินทางระหว่างประเทศอย่างปลอดภัย ด้วยการกำหนดมาตรการและการรับรองระบบการคัดกรองโรคระบาดที่เป็นมาตรฐานที่ใช้ร่วมกัน ภายใต้กลุ่มสมาชิก และขยายผลการใช้การรับรองไปยังภาคธุรกิจ เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเดินทางในอนาคต
3. ประเทศสมาชิก ให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบาย ที่สามารถครอบคลุมความตกลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในภาคสังคม ต้องเข้ามามีส่วนร่วม และบูรณาการความร่วมมือระหว่างรัฐบาล ภาคเอกชน นักวิชาการ กลุ่มสตรี และเยาวชน เพื่อให้บรรลุผลในพันธกิจจากกรอบความร่วมมือของเอเปก สู่การพัฒนาและการเติบโตที่มีความสมดุลและเกิดความยั่งยืน