ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท การ(ตลาด)นำการเมือง
เมื่อเข้าสู่ช่วงเปิดตัวนโยบายเพื่อหาเสียงในช่วงเลือกตั้งใหญ่ หลายพรรคการเมืองต่างแข่งขันผลักดันนโยบายอย่างเต็มที่ และที่กำลังถูกจับตามองคือพรรคเพื่อไทยกับนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่าสามารถทำได้จริงหรือไม่
กลายเป็นประเด็นถกเถียงถึงความเป็นไปได้ สามารถทำได้หรือไม่ เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมขึ้นมาทันที่ สำหรับแนวคิดการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน จบปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือนในปี 2570 ของพรรคเพื่อไทยที่สร้างแรงกระเพื่อมให้กับแวดวงแรงงานได้มากเลยทีเดียว แม้ว่าธรรมเนียมปฏิบัติ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะมีคณะกรรมการไตรภาคีเป็นผู้พิจารณา บนพื้นฐานผู้ประกอบต้องมีความสามารถในการแข่งขันด้านการลงทุนและการส่งออก ลูกจ้างแรงงานมีความเป็นอยู่ที่ดีและต้องสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ อัตราเงินเฟ้อ ดัชนีค่าครองชีพ ราคาสินค้า ฯลฯ ทั้งภายในและต่างประเทศ
ก่อนหน้านี้ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งประกาศใช้ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา มี 9 อัตรา โดยสูงสุดอยู่ที่ 354 บาท 3 จังหวัด ชลบุรี ระยอง และภูเก็ต ค่าจ้าง 353 บาท มี 6 จังหวัด กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ค่าจ้าง 345 บาท มี 1 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ค่าจ้าง 343 บาท มี 1 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา ค่าจ้าง 340 บาท มี 14 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี หนองคาย อุบลราชธานี พังงา กระบี่ ตราด ขอนแก่น เชียงใหม่ สุพรรณบุรี สงขลา สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา ลพบุรี และสระบุรี
ค่าจ้าง 338 บาท มี 6 จังหวัด คือ มุกดาหาร กาฬสินธุ์ สกลนคร สมุทรสงคราม จันทบุรี และนครนายก ค่าจ้าง 335 บาท มี 19 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี บึงกาฬ ชัยนาท นครพนม พะเยาสุรินทร์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย พัทลุง อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก อ่างทอง สระแก้ว บุรีรัมย์ และเพชรบุรี ค่าจ้าง 332 บาท มี 22 จังหวัด คือ อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน เชียงราย ตรัง ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู อุทัยธานี ลำปาง ลำพูน ชุมพร มหาสารคาม สิงห์บุรี สตูล แพร่ สุโขทัย กำแพงเพชร ราชบุรี ตาก นครศรีธรรมราช ชัยภูมิ ระนอง และพิจิตร และ ค่าจ้าง 328 บาท มี 5 จังหวัด คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส น่าน และอุดรธานี
ปี 2555-2556 พรรคเพื่อไทยได้ผลักดันค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศเป็นการปรับแบบก้าวกระโดดเฉลี่ยเพิ่มขึ้นวันละ 141 บาทหรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 70-88 ว่ากันครั้งนั้น เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการลงทุนและการส่งออกชะลอตัว โดยเฉพาะ SMEs ส่วนธุรกิจหรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่บางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น มีการตั้งคำถามว่าหากทยอยขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวันจริงๆ จะทำให้ต้นทุนภาคธุรกิจปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 70% ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อสูงทั่วโลก และมีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย จะมีผลกระทบมากมายหรือไม่
แน่นอนว่าหากค่าแรงเพิ่มขึ้นจะกระทบกับภาคธุรกิจที่ใช้แรงงานอย่าง ภาคการเกษตร และ ภาคบริการ และอาจจะมีผลทำให้อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทบทวนแผนการจ้างงาน การชะลอการลงทุนในระยะสั้น หรืออาจจะนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้แทนแรงงาน ที่สำคัญจะทำให้ต้นทุนค่าแรงของไทยสูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้การลงทุนตรงจากต่างประเทศอาจชะลอลง กระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ ที่สำคัญการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำอาจจะไม่ได้ส่งผลต่อแรงงานไทย เพราะภาคอุตสหกรรมต่างๆปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้แรงงานต่างด้าว
แม้ว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะดำเนินการโดยกลไกของไตรภาคีและต้องพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมอีกมาก ทว่าการที่พรรคเพื่อไทยออกมาประกาศ ก็กลายเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสังคมไปแล้ว แม้ว่าในอนาคตอาจจะไม่ทำได้จริงก็ตาม แต่วันนี้ก็ถือได้ว่าเป็น“ชัยชนะ”ทางการตลาดแล้ว เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายต้องนำไปขบคิดต่อ ที่สำคัญการปรับขึ้นค่าค่าแรงในระดับที่เหมาะสมจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ และควรทำควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะ องค์ความรู้และประสิทธิภาพของแรงงาน เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน