‘“เกมศึก” สมรภูมิใต้ 40 + “กลลึก” ผู้คุมเกม ปชป.
เกมลึกปชป. สะท้อน “กลศึกในพื้นที่” ที่มีเบื้องลึกเบื้องหลังอย่างมีนัยสำคัญ ภายใต้การเดินหมากของ “ผู้คุมเกม” ตัวจริง
ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น “สมรภูมิแดนสะตอ” ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของบรรดาพรรคการเมืองในขั้วอนุรักษ์นิยม หนึ่งในนั้นรวมไปถึง “ค่ายสีฟ้า” พรรคประชาธิปัตย์ ที่รอบนี้ชูจุดขายพรรคของคนใต้ มีหัวหน้าพรรคเป็นคนใต้ หมายมั่นปักธงที่นั่งส.ส.ไม่น้อยกว่า 40 ที่นั่งจากทั้งหมด 58 ที่นั่ง
นอกเหนือจากศึกภายนอกที่มีการขับเคี่ยวกันระหว่างพรรคพี่พรรคน้อง รวมถึงพรรคอดีตคนคุ้นเคยแล้ว ความเคลื่อนไหวภายใน ปชป.ช่วงที่ผ่านมายังปรากฎภาพความไม่ลงตัวเกี่ยวกับการวางตัวผู้สมัครเลือกตั้งส.ส.
โดยเฉพาะ จ.ตรัง 1 ใน 6 จังหวัดอันดามัน บ้านเกิด “ชวน หลีกภัย” ประธานรัฐสภา ที่ล่าสุด เกิดกรณี “สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล” เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร และ อดีตส.ส.ตรัง สายตรงนายหัวชวน ตัดสินใจยื่นใบลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค หลังแพ้ผลโพล ชวดลงชิง ส.ส.เขต 4 จ.ตรังในนามพรรคประชาธิปัตย์
ที่มาที่ไปเรื่องนี้ เริ่มต้นที่การขับเคี่ยวกันระหว่าง 2 สายเมืองตรัง ฝั่ง“สมบูรณ์” ขายภาพสายตรงนายหัวชวน และเป็น ส.ส.เขต 4 มาตั้งแต่ปี 2544 พยายามทวงสิทธิ์ไปยัง ปชป.เพื่อลงชิงเขตดังกล่าว ซึ่งเคยถูกยุบไปเมื่อการเลือกตั้งปี 2562 กลับมาเป็นของตน ตอกย้ำชัดจากการลงพื้นที่ในช่วงที่ผ่านมา พร้อมชูสโลแกน “เชื่อมั่นชวน หลีกภัย ไว้ใจ สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล”
ทว่า ท่าทีดังกล่าวดูเหมือนจะถูกสกัดจาก “บ้านใหญ่โล่สถาพรพิพิธ” ที่ออกตัวสนับสนุน “กาญจน์ ตั้งปอง” สท.กันตัง ในนามโล่สถาพรพิพิธ ลงชิงในเขตดังกล่าว พร้อมขึ้นป้ายแนะนำตัวในฐานะ “ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.” เขต 4 เช่นเดียวกัน
โดยเฉพาะ “ถ่ามเอ้ง” สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ ส.ส.ตรัง และว่าที่ผู้สมัครเขต 3 และเป็นลูกสาว “โกหนอ” สมชาย โล่สถาพรพิพิธ อดีต ส.ส.ตรัง 4 สมัย และเป็นหลานสาวของ “บุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ” นายก อบจ.ตรัง ที่ปรากฎภาพลงพื้นที่ร่วมกับ สท.กาญจน์ ชูจุดขาย “พร้อมทำงานคู่ขนาน”
กระทั่ง ปชป.ต้องหาข้อสรุปด้วยการทำโพลในพื้นที่ ในท้ายที่สุด ผลโพลที่ออกมาแม้ยังทิ้งไว้ซึ่งความคลางแคลงใจให้กับ “สมบูรณ์” ทั้งในเรื่องความโปร่งใส รวมถึงเกณฑ์การทำโพล แต่การโต้แย้งไม่เป็นผล สมบูรณ์ก็รับรู้สัญญาณดีว่า ไม่สามารถสู้แรงต้านทานขุมกำลังทางฝั่งผู้มากบารมีได้
เมื่อเป็นที่แน่นอนแล้วว่าไม่มีที่ยืนในพรรค บวกกับท่าที “ผู้ใหญ่พรรคบางคน” ที่อาจทำให้ตัวสมบูรณ์เกิดความคลางแคลงใจ
จุดนี้เองที่กลายเป็นฟางเส้นสุดท้าย ทำให้ เจ้าตัวตัดสินใจอำลาบ้านหลังเก่า หันไปสวมเสื้อรวมไทยสร้างชาติ พรรคอดีตคนคุ้นเคยเพื่อลงชิง ส.ส.ในเขตดังกล่าวแทน
กลเกมที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่สะท้อนภาพ “ศึกวัดพลัง” ภายในปชป.เท่านั้น หากแต่ยังสะท้อน “กลศึกในพื้นที่” ที่มีเบื้องลึกเบื้องหลังอย่างมีนัยสำคัญ
เจาะลึกสนามเขต 4 จ.ตรังรอบนี้ “ครูบูรณ์” ที่เปิดหน้าชนภายใต้ค่ายใหม่ รวมไทยสร้างชาติ แม้จะมั่นใจในฐานเสียงที่มีเป็นทุนเดิม แต่อาจต้องเจอศึกหนักแบบ “2 รุม 1” เพราะนอกเหนือจาก“สท.กาญจน์” เด็กปั้นบ้านใหญ่โล่สถาพรพิพิธแห่งค่ายปชป.แล้ว
ยังมีกระดูกชิ้นใหญ่อย่าง “เอก” ดิษฐ์ธนิน ภาคย์อิชณน์ ที่เปิดตัวในนามภูมิใจไทย โดย”ดิษฐ์ธนิน” มีศักดิ์เป็นหลานชายของสมชายและบุ่นเล้ง
การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ดิษฐ์ธนิน ลงสมัครในนามพรรคพลังประชารัฐ ส.ส.เขต 3 แข่งขันกับ “สุณัฐชา” ซึ่งมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้อง แต่พ่ายแพ้ โดยรอบนี้ดิษฐ์ธนิน ที่ย้ายจากพลังประชารัฐไปมาอยู่พรรคภูมิใจไทย ขยับมาลงเขต 4 ท่ามกลางการจับตาไปที่ “สูตรหลบเขต” ภายในตระกูลดัง
สอดคล้องกับท่าที “บิ๊กภูมิใจไทย” ก่อนหน้านี้ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ขนทัพลงใต้ประกาศแลนด์สไลด์อันดามัน กางตัวเลขพื้นที่เป้าหมาย โดยเฉพาะจ.ตรังที่จะต้องได้อย่างน้อย 1 เขตจากทั้งหมด 4 เขต
ปัญหาความไม่ลงตัวในการจัดสรรผู้สมัครของค่ายปชป. โดยเฉพาะสนามแดนสะตอ ไล่เรียงมาตั้งแต่เขต 2 พังงา ระหว่าง ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคและบำรุง ปิยนามวาณิช อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) พังงา
เขต 3 นครศรีธรรมราช ระหว่าง”พงศ์สินธุ เสนพงศ์” น้องชาย เทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช และว่าที่ร.ท.ยุทธการ รัตนมาศ นายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดนครศรีธรรมราช กระทั่งมาถึงเขต 4 ตรัง จน”สมบูรณ์”อำลาบ้านเก่าในท้ายที่สุด
หรือแม้แต่เขต8 นครศรีธรรมราช ของ "ปุ้ย"พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ที่ลาสุดอำลาค่ายสีฟ้า มาสวมเสื้อรวมไทยสร้างชาติ ขณะที่ประชาธิปัตยื เปิดตัว "ศิลป์ชัย สุนทรมัฏฐ์" หรือ ลูกหมี เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นครศรีธรรมราช เด็กสายบ้านใหญ่เดชเดโช ลงชิงเขตดังกล่าว
ในเรื่องการทำโพลแม้ที่ผ่านมา “บิ๊กปชป.” จะออกมาการันตีความโปร่งใส พร้อมระบุว่า ผลโพลที่ออกมา ย่อมมีทั้งคนที่พอใจและไม่พอใจเป็นธรรมดา
โดยเฉพาะกรณีของ “สมบูรณ์” ที่คนในปชป.อย่าง “ชินวรณ์ บุญเกียรติ” ส.ส.นครศรีธรรมราช ยืนยันว่า ไม่ใช่ปัญหาเลือดไหล แต่เพราะไม่มีพื้นที่ยืน จึงเป็นธรรมดาของนักการเมืองที่ต้องไปสังกัดพรรคอื่น เพื่อให้ตนเองได้ลงสมัครส.ส.
ปรากฎการณ์ ที่เกิดขึ้นใน ปชป.แง่หนึ่งอาจเป็นการสะท้อนถึง “ขุมอำนาจ” ที่เมื่อถึงเวลาอาจต้องขึ้นอยู่กับ “ผู้คุมเกม” ตัวจริง