ศึกรุกกรุง "ขวา" ไผ่แยกกอ ซ้าย "แดง-ส้ม" รบเมืองหลวง
"33ที่นั่งส.ส.กทม." วัดพลัง2ขั้ว เพื่อไทย-ก้าวไกล 2พรรคฝ่ายซ้ายประกาศศักดาท้ารบเต็มสูบ ขณะที่ขั้วอนุรักษ์ยามนี้แตกเป็น4กอใหญ่ ประกาศสู้ศึกแบบไม่มีพรรคพี่พรรคน้อง
เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นภายใต้กติกาบัตร2ใบ-ปาร์ตี้ลิสต์หาร100 “สนามกทม.” จะมีที่นั่งส.ส.เพิ่มขึ้นจากเดิม 30 ที่นั่งเป็น 33 ที่นั่ง
ขณะเดียวกัน ด้วยสัญญาณที่เริ่มชัดเจน จึงไม่แปลกที่ “ตลาดการเมือง กทม.”ยามนี้จะ “คลาคล่ำ” ไปด้วยนักเลือกตั้งที่กำลังอยู่ในฤดูกาลโยกย้าย-เปิดดีลหาสังกัดเพื่อสู้ศึกที่กำลังจะมาถึง
“ขั้วประชาธิปไตย” แบ่งเป็น พรรคเพื่อไทย รอบที่แล้วปักธงสนามใหญ่ได้ 9 ที่นั่ง บวกศึกเลือกตั้งซ่อมหลักสี่อีก 1 ที่นั่ง รวมเป็น 10 ที่นั่ง
ขณะที่ พรรคก้าวไกล หรืออนาคตใหม่เดิม ได้กระแส “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ”นำพา ส.ส.เข้าสภาได้ 9 ที่นั่ง
กระนั้นในช่วงที่ผ่านมา ฝั่ง “พรรคแดง-พรรคส้ม” เอง ก็เผชิญเกมดูด ส.ส.อยู่ไม่น้อย โดยพรรคเพื่อไทยมีทั้ง การุณ โหสกุล และ อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ที่เตรียมย้ายไปสังกัดพรรคไทยสร้างไทย และล่าสุด ประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ที่ก็บกระเป๋าเข้าบ้านภูมิใจไทยและเปิดตัวไปเป็นที่เรียบร้อย
ไม่ต่างจากก้าวไกล ทั้ง มณฑล โพธิ์คาย และโชติพิพัฒน์ เตชะโสภณมณี ที่ตัดสินใจไม่ไปต่อกับพรรคก้าวไกล ภายหลังพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ รอบนี้เปลี่ยนมาสวมเสื้อสีน้ำเงินลงชิงเมืองหลวง ขณะที่ จิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ ล่าสุดเปิดตัวภายใต้ชายคารั้วแดงไปเป็นที่เรียบร้อย
ทว่าด้วยกระแสพรรคขั้วประชาธิปไตยบวกผลโพลผู้นำพรรค ทั้ง อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และพรรคเพื่อไทยที่พยายามกระแสโหนกระแส “ชัชชาติแลนด์สไลด์” หรืออย่าง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้นำพรรคก้าวไกลที่ยามนี้คะแนนนิยมกำลังติดลมบน
จุดนี้เองที่ทำให้ทั้ง 2 พรรคฝ่ายประชาธิปไตยกำลังฮึกเหิม ชิงเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครตั้งแต่ไก่โห่ไปก่อนหน้านี้
ทั้งฝั่ง “เพื่อไทย”ที่เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร “2 ล็อต” รวม 29 คนจากทั้งหมด 33 คน ขณะที่ “ก้าวไกล” เปิดตัวล็อตแรก 23 คน บวกกับ “สิริน สงวนสิน”ที่เปิดตัวตามมาอีก 1 คนเท่ากับว่า ยามนี้ก้าวไกลเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครไปแล้ว 24 จาก 33 คน
ขณะที่ “ขั้วอนุรักษ์นิยม” ยามนี้กำลังอยู่ในสภาวะ “ไผ่แยกกอ” เป็น 4 กอใหญ่ๆ
กอแรก รวมไทยสร้างชาติ มี "ขิง" เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาฯพรรค ซึ่งเป็นอดีตส.ส.กทม.เป็นขุนพล ยามนี้ชิงจังหวะดูด ส.ส.โดยเฉพาะจากพรรคพลังประชารัฐ ทั้ง ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ที่เปิดตัวค่อนข้างชัดเจน
ทว่าด้วยกระแสฝ่ายประชาธิปไตยค่อนข้างมาแรง แม้รอบนี้รวมไทยสร้างชาติจะยังเลือกชูกระแสลูงตู่ในสนามกทม. ถึงเวลาจริงอาจต้องไปลุ้นที่หลากหลายด่านโหด-โจทย์หินที่รออยู่เบื้องหน้า
กอที่สอง ประชาธิปัตย์ มี องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคภาคกทม. เป็นแม่ทัพใหญ่คุมทีมกทม.
รอบนี้ ปชป.แอบหวังลึกๆ ว่า ด้วยคะแนน ส.ก.9 เขต ซึ่งมีการเลือกตั้งไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ปรากฏผลคะแนนที่ตีตื้นพรรคการเมืองในขั้วอนุรักษ์นิยมด้วยกัน บวกกติกาเลือกตั้งบัตร 2 ใบ แยกคน-แยกพรรค ที่พรรคน่าจะได้เปรียบ
จุดนี้เองที่อาจเป็นตัวหนุนให้ “ว่าที่ผู้สมัคร” ค่ายสีฟ้า ที่เป็นผู้สมัครหน้าเดิมกว่าครึ่ง น่าจะปักธงในสนามเมืองหลวงได้สัก 4-6 ที่นั่งจากทั้งหมด 33 ที่นั่ง
กอที่สาม ภูมิใจไทย ก่อนหน้าเปิดตัวทีมกทม.ทั้ง จักรพันธ์ พรนิมิตร กษิดิ์เดช ชุติมันต์ พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ในฐานะสมาชิกพรรค เป็นที่เรียบร้อย ขณะที่ กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ที่ร่วมอีเวนต์เปิดตัวแต่ยังไม่ได้สมัครสมาชิก เพราะยังไม่ได้ลาออกจาก ส.ส. ก็มีแนวโน้มที่จะย้ายตามมาอีกคน
รวมทั้ง ประเดิมชัย ที่ย้ายมาจากจากเพื่อไทย มณฑล และโชติพิพัฒน์ที่ย้ายมาจากพรรคอนาคตใหม่ก่อนหน้านี้
จากนี้ต้องติดตามความเคลื่อนไหวของ “บี” พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตแกนนำพลังประชารัฐ ที่จะเข้ามาเป็นคีย์แมนคนสำคัญในค่ายสีน้ำเงินหลังจากนี้ ซึ่ง"บิ๊กภท." โฆษณาไว้ว่า จะขนทีมกทม.มาอีกล็อตหนึ่ง
ศึกรอบนี้แม้ภูมิใจไทยจะพยายามโชว์พลังดูด และให้ความสำคัญในการรุกเมืองกรุงมากกว่าทุกครั้ง โดยเฉพาะ “จักรพันธ์” ที่ลงทุนโชว์ลูกอ้อน “นโยบายดี แต่ไม่มีปากมีเสียง ไม่มีผู้แทนสานงาน”
แต่เมื่อผ่าไส้ในว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม.ค่ายสีน้ำเงินรอบนี้ ทั้งอดีต 4 ส.ส.พลังประชารัฐ รวมทั้ง 2 อดีต ส.ส.อนาคตใหม่ รอบที่แล้ว ก็ล้วนแต่เข้าสภาด้วยกระแสพรรคเดิมแทบทั้งสิ้น
กอที่สี่ พลังประชารัฐ ที่แม้ล่าสุดเตรียมดึง “จั้ม” สกลธี ภัททิยกุล มาเป็นแม่ทัพ แต่พลังประชารัฐในวันที่ไร้ลุงตู่ บวกกระแสนิยมที่หล่นวูบอย่างน่าใจหาย สะท้อนภาพชัดจากตัวเลข ส.ก.ที่ได้มาเพียง 2 ที่นั่ง ศึก กทม.รอบนี้ พปชร.จึงต้องกรำศึกแบบหนักหนาสาหัสเอาการเลยทีเดียว
“ศึกรุกกรุงฯ” รอบนี้ไม่เพียงแค่สะท้อนกลชิงไหวชิงพริบของบรรดาค่ายการเมืองแต่เพียงเท่านั้น หากแต่ตัวเลข 33 ที่นั่งรอบนี้ยังมีผลต่อสมการการเมืองในการรวบรวมเสียงหลังจากนี้อยู่ไม่น้อย