เดินหน้าโครงการที่อยู่อาศัยข้าราชการ สร้าง "บ้านหลวง" 5 จังหวัด
ครม.เห็นชอบโครงการบ้านพักข้าราชการ หรือ "บ้านหลวง" ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวม 55 หน่วย วงเงินงบประมาณ 62.28 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 ว่า ครม.เห็นชอบโครงการบ้านพักข้าราชการ หรือ "บ้านหลวง" ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวม 55 หน่วย วงเงินงบประมาณ 62.28 ล้านบาท
โดยรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณเต็มจำนวน ซึ่งอยู่ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560 - 2579) ซึ่งตั้งเป้าพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับข้าราชการ จำนวน 123,000 หน่วย ใน 2 รูปแบบ คือ
- โครงการบ้านสวัสดิการข้าราชการ 98,000 หน่วย ให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยได้มีที่อยู่อาศัยในลักษณะเช่าซื้อเป็นของตนเอง
- โครงการบ้านพักข้าราชการ (บ้านหลวง) 25,000 หน่วย ให้สวัสดิการที่อยู่อาศัยข้าราชการและเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยที่อยู่ห่างไกลจากภูมิลำเนาของตน โดยผู้อยู่อาศัยชำระค่าน้ำค่าไฟเอง
สำหรับโครงการ "บ้านหลวง" ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ที่ ครม.เห็นชอบในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ห่างไกลจากภูมิลำเนาของตน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมในพื้นที่ปฏิบัติงาน มีจำนวน 5 โครงการ รวม 55 หน่วย (รองรับครอบครัวข้าราชการ 55 ครัวเรือน หรือประมาณ 220 คน) ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ประกอบด้วย
1.สถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ (บ้านสองแคว) จังหวัดพิษณุโลก
2.สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดกาฬสินธุ์
3.สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
4.สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดอุบลราชธานี
5.สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดศรีสะเกษ
นางสาวรัชดากล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา ครม.ได้มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการ "บ้านหลวง" ไปแล้ว จำนวน 237 โครงการ รวม 8,823 หน่วย งบประมาณรวมทั้งสิ้น 11,077.22 ล้านบาท ดำเนินการโดย หน่วยงาน อาทิ กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงบประมาณ