4ปี ประยุทธ์ ประคองอำนาจ การเมืองล้มลุก ปฏิรูปล้มเหลว
การเมืองในยุคประยุทธ์ คือการประคองตัวในเกมอำนาจ ให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยไม่สนใจว่าการเมืองจะล้มลุกคลุกคลาน หรือต้องแลกมาด้วยอะไรก็ตาม การปฏิรูปจึงไกลความจริง
อายุของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในช่วงนับถอยหลังใกล้จะครบเทอมไปทุกขณะแม้จะมีการคาดการณ์กันว่า ถึงอย่างไรการยุบสภาก็จะเกิดขึ้นก่อน 23 มี.ค.66 เพื่อให้องคาพยพในฝ่ายผู้มีอำนาจได้เตรียมตัวจัดทัพสู้ศึกเลือกตั้ง
ในโอกาสที่รัฐบาลอยู่จะครบ 4 ปี มีหลายเหตุการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นมากมาย หลังจากการเลือกตั้ง เมื่อปี62 ภายใต้รัฐธรรมนูญ 60 ที่บัญญัติกติกาบัตรเลือกตั้งใบเดียว แบบจัดสรรปันส่วนผสม ทำให้เกิดพรรคเล็กจำนวนมาก และส.ส.ปัดเศษ ที่หลายพรรคต่างมองว่าไม่เป็นธรรมและการให้อำนาจ 250 ส.ว. มีอำนาจโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ถือว่าสร้างปัญหาทางการเมืองมาจนถึงทุกวันนี้
บริบททางการเมืองภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ เต็มไปด้วยข้อเรียกร้องและเกมต่อรอง อันเป็นผลมาจากกติกาเลือกตั้ง ทำให้เกิดพรรคเล็กพรรคน้อย ที่เห็นโอกาสว่ารัฐบาลอยู่ในภาวะปริ่มน้ำในช่วงแรก ทุกเสียงส.ส.ล้วนความหมายในการโหวตลงมติ โดยเฉพาะการอภิปรายไม่ไว้วางใจ
ตรงนี้เองที่เปิดช่องให้แกนนำรัฐบาลบางคน เข้ามาบริหารจัดการเสียงพรรคเล็ก เพื่อใช้ต่อรองผลประโยชน์ ถึงขนาดขนานนามตัวเองว่าเป็นฤาษีเลี้ยงลิง ต้องคอยให้กล้วยอยู่ตลอด เรียกว่าทุกโหวตมีราคาค่างวด
การเมืองในยุคนี้ จึงขับเคลื่อนด้วยสิ่งล่อตาล่อใจ จนเกิดปรากฎการณ์อย่างส.ส.งูเห่า หรือคนที่แปรพักต์ ซึ่งเห็นได้ชัดภายหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งทางผู้มีอำนาจก็ต้องเล่นในเกมนี้ด้วย เพื่อดึงส.ส.ฝ่ายตรงข้ามมาเติมเสียงรัฐบาลให้มากที่สุด พลังดูดจึงเกิดขึ้นตามมา
ขณะเดียวกัน ปัญหาความขัดแย้งในช่วงที่ผ่านมา อาจนับได้ว่าหนักหนาที่สุดได้เลยทีเดียว ไม่เพียงแต่ความไม่ลงรอยกันของบริวารผู้มีอำนาจ อย่าง 3ป. ที่แย่งชิงความเป็นใหญ่ จนทำลายความสัมพันธ์อันแนบแน่น เหตุการณ์กบฎโหวตล้มนายกฯ ในศึกซักฟอก จนนำมาซึ่งการปลดร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ พ้นตำแหน่งรมช.เกษตรฯ และรมช.แรงงานก็สะท้อนความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล
นอกจากนั้น ยังเรียกได้ว่า ในสมัยของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ความคิดของผู้คนในสังคมถือว่าแตกแยกมากที่สุดช่วงหนึ่ง ตามนิยามที่ว่า ขวาสุดขั้ว ซ้ายสุดขีด คนรุ่นใหม่ที่ออกมาเรียกร้องการปฏิรูปโครงสร้างสำคัญๆ มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ที่เห็นได้ชัดคือ ฝ่ายประชาธิปไตย กับฝ่ายอำนาจนิยม หรือเผด็จการ ซึ่งรัฐบาลก็ถูกจัดอยู่ในกลุ่มหลัง
รวมถึงปรากฎการณ์ฝีแตกกับการบุกจับอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เรียกรับเงินแลกกับการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในสังกัด ก็สะเทือนความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลอย่างเลี่ยงไม่ได้ และสะท้อนอะไรต่อมิอะไรได้อีกมากมาย ซึ่งเคสนี้คงเป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้นอาจจะมีอะไรที่ลึกลับซับซ้อนมากกว่า มีคนที่ใหญ่กว่านั้นเกี่ยวพันอีกหรือไม่ ก็ไม่แน่
ดังนั้น การเมืองในยุคพล.อ.ประยุทธ์ คือการประคองตัวเองให้อยู่ในเกมอำนาจให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยไม่สนใจว่าการเมืองจะล้มลุกคลุกคลาน หรือจะต้องแลกมาด้วยอะไรก็ตามจึงเลี่ยงคำครหาว่าพยายามสืบทอดอำนาจไปไม่ได้
ผลที่เกิดขึ้นคือคำมั่นสัญญาเรื่องการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะในด้านการเมือง นับวันยิ่งห่างไกลความเป็นจริง เมื่อการเมืองยังนำหน้าด้วยคำว่าอำนาจและผลประโยชน์เช่นนี้