“8 ศึกซักฟอก”วีรกรรมฝ่ายค้าน ตอกลิ่ม 3 ป. - ก่อกบฎรัฐบาล
ใกล้จะครบเทอม ของสภาฯ ชุดปัจจุบัน พบว่าที่ผ่านมา ฝ่ายค้าน เปิดศึกซักฟอก ซัดสัมพันธ์3ป. ขาดวิ่น แถมยังต้องจับตา "การอภิปรายทั่วไป" ที่จะส่งต่อผล ไปยังการตัดสินใจเลือกตั้ง ของประชาชนอีกไม่เกิน3เดือนจากนี้
ตลอดการทำงานเกือบ 4 ปี ในสภาฯ ของ “พลพรรคฝ่ายค้าน” ที่แม้จะมีการเปลี่ยนตัว “ผู้นำฝ่ายค้าน” ในสภาผู้แทนราษฎรไปถึง 2 คน จาก “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” เป็น “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว”
แต่การเคลื่อนทัพของฝ่ายค้าน ที่เรียกตัวเองว่าเป็น “ฝั่งประชาธิปไตย” ในสภาฯ แต่ละครั้งถึงกับซัด “สภาฯเสียงปริ่มน้ำ” ให้ซวนเซ และบางจังหวะเกือบล้มทั้งกระดาน
โดยเฉพาะ “เกมล่มประชุม” และไม่ร่วมสังฆกรรมในบางวาระพิจารณากฎหมาย เพื่อพลิกเกมเป็นต่อ“ฝั่งรัฐบาล”
นอกจากนั้น คือการใช้บทบาทตรวจสอบรัฐบาลผ่านกลไก “ซักฟอก” หรือการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี เป็นรายบุคคล
แม้ผลการอภิปราย 4 ครั้งที่ผ่านมาจะไม่สามารถ “โหวต” ชนะฝ่ายรัฐบาล เพื่อไล่ “รัฐมนตรี” ได้ แต่ได้รับการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า ผลจากการอภิปราย ทำให้ “ฝั่งรัฐบาล" ไม่ไว้วางใจกันเอง เกิดกบฎกลางสภาฯ ถึงขั้นที่ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” อดีต รมช.เกษตร ที่เปรียบตัวเองเป็นเส้นเลือดใหญ่ของรัฐบาล ต้องถูก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯ ตะเพิดพ้นวง ครม. ลามไปถึงต้องออกจากพรรคพลังประชารัฐ
ถือเป็น กลเกมของการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่สามารถ “เขย่า” เสถียรภาพของรัฐบาลได้ และยิ่งกว่านั้น คือการขย่มสัมพันธ์พี่น้อง “3 ป.” ให้เกิดความไม่ไว้วางใจกันเอง จนถึงขั้นที่ “ประยุทธ์” ต้องขอแยกทางออกจาก “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ ในฐานะหัวหน้าพรรรคพลังประชารัฐ
ย้อนรอยการอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้ง 4 ครั้ง มีดังนี้
ครั้งแรก เมื่อ 24-27 กุมภาพันธ์ 2563 แม้ว่ารัฐบาลจะบริหารประเทศได้ไม่ถึงปี แต่เป้าซักฟอก 6 ราย ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ กับ 5 รัฐมนตรี ประกอบด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ดอน ปรมัติวินัย รมว.ต่างประเทศ และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์
โดยเจาะจงถึงพฤติกรรมการบริหารประเทศที่ไม่โปร่งใส ทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล ทุจริตต่อหน้าที่ โดยเฉพาะ ร.อ.ธรรมนัส ที่ถูกกระหน่ำด้วยข้อหาขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เพราะเคยต้องคำพิพากษาคดียาเสพติดของศาลออสเตรเลีย
ผลการลงมติ เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2563 แม้ว่าจะไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ ขณะที่ฝ่ายค้านเองเลือกแนวทาง “วอล์กเอาท์” เพราะมองว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์
ศึกซักฟอกครั้งที่สอง เกิดขึ้นเมื่อ 16 -19 กุมภาพันธ์ 2564 อภิปราย นายกฯและ "9 รัฐมนตรี” ที่น้อง 3 ป. ทั้ง พล.อ.ประวิตร-พล.อ.อนุพงษ์ ถูกยื่นซักฟอกด้วย รวมถึง "ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และร.อ.ธรรมนัส”
โดยรอบนี้ หัวหน้าพรรค แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลโดนรวบด้วย ทั้ง “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม เลขาฯ พรรคภูมิใจไทย "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์" รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ "นิพนธ์ บุญญามณี" รมช.มหาดไทย รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ภาพรวมการอภิปรายครั้งนี้ เน้นการบริหารที่งานบกพร่อง โดยเฉพาะ การป้องกันแก้ไข โควิด-19 ที่แพร่ระบาด รวมไปถึงการสมยอมให้เกิดการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม เปิดปม “ตั๋วช้าง” และการใช้ปฏิบัติ สร้างสงครามไซเบอร์ หรือไอโอ
สำหรับผลการลงมติ เมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2564 แน่นอนว่าไม่สามารถ “โค่น” รัฐบาลได้
ศึกซักฟอกครั้งที่สาม เมื่อ 31 สิงหาคม- 3 กันยายน 2564 รอบนี้ เจาะจงถึงเครือข่าย “คนในรัฐบาล” ที่เป็นต้นเหตุให้ “โควิด-19” กลับมาระบาดรุนแรงอีกครั้ง โดยได้อภิปรายนายกฯ พร้อมกับ 5 รัฐมนตรี ได้แก่ อนุทิน - ศักดิ์สยาม - สุชาติ - ชัยวุฒิ ธนาคมนานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์
ส่วนผลลงมติ 4 กันยายน 2564 แน่นอนว่า นายกฯ และ 5 รัฐมนตรี ยังได้รับความไว้วางใจ แต่การซักฟอกครั้งนี้ มีเกมซ้อนเกมจาก “กบฎการเมือง” ที่ “ธรรมนัส” เคลื่อนไหว เพื่อจะล้มนายกฯ “ประยุทธ์” ผ่านการดึง พรรคเล็ก 1 เสียงให้ลงมติไม่ไว้วางใจ ซึ่งผลลงคะแนนครั้งนี้ นายกฯได้คะแนนไว้วางใจ “รองบ๊วย”
ศึกซักฟอกสุดท้าย ครั้งที่ 4 ของสมัยสภา เกิดขึ้นเมื่อ 19 - 22 กรกฏาคม 2565 อภิปราย นายกฯ พร้อม 10 รัฐมนตรี ได้แก่ "พล.อ.ประวิตร - พล.อ.อนุพงษ์ - อนุทิน - ศักดิ์สยาม - จุรินทร์ -นิพนธ์ - จุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ - ชัยวุฒิ - สุชาติ และ สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง
โดยเจาะจงถึงพฤติกรรมที่ส่อว่า “ทุจริต" ในหน้าที่ ใช้ตำแหน่งแสวงหาประโยชน์มิชอบ และเอื้อให้เอกชนในการได้รับโครงการของรัฐ ทั้ง ท่อส่งน้ำอีอีซี-รถไฟฟ้า ส่วนผลการลงมติ เมื่อ 23 กรกฎาคม 2565 ได้เห็นรอยร้าวระหว่างพี่น้อง “3 ป.” ชัดเจนมากขึ้น เมื่อ “อนุพงษ์” ถูกเด็กในคาถาของ “ประวิตร” งดออกเสียงไว้วางใจ ขณะที่ “สุชาติ” รัฐมนตรีสังกัด “ประยุทธ์” ได้คะแนนไว้วางใจต่ำสุด
นอกจากผลงาน “ซักฟอกแบบลงมติ” แล้ว ที่ผ่านมาพรรคฝ่ายค้านยังใช้กลไกอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติอีก 3 ครั้ง แม้ “ส.ส.” ลงมติไล่รัฐบาลไม่ได้ แต่ผลที่ฝ่ายค้านคาดหวัง คือการบั่นทอน “ความดี” ของหน้ากากที่ครอบความจริงที่ว่า “รัฐบาลนี้ต้องการสืบทอดอำนาจ แสวงหาประโยชน์"
ครั้งแรก ของการอภิปรายทั่วไป เกิดขึ้นเมื่อ 18 กันยายน 2562 โดย “สมพงษ์" พร้อม 205 ส.ส. เสนอญัตติ
รอบนั้นพุ่งเป้าไปที่ การถวายสัตย์ปฏิญาณของ “พล.อ.ประยุทธ์” ก่อนเข้ารับหน้าที่ ไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 ซึ่งขาดข้อความที่เป็นสาระสำคัญ ในประเด็น “การรักษาและปฏิบัติตามรัฐธรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทยทุกประการ” ถือว่า “ประยุทธ์” เป็น “นายกฯเถื่อน” รวมถึงการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ที่ไม่ระบุแหล่งที่มาของรายได้
ครั้งที่สอง เมื่อ 9 กันยายน 2563 รอบนั้น “น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ" พร้อม 79 ส.ส. ยื่นอภิปรายซึ่งเน้นไปที่วิกฤติโรคระบาด “โควิด-19” และ วิกฤติการเมือง ที่พบการจับกุมแกนนำนักศึกษาระหว่างการชุมนุมทางการเมือง
และครั้งที่สาม เมื่อ 17 - 18 กุมภาพันธ์ 2565 “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว" พร้อมส.ส.ฝ่ายค้าน 173 คน เสนอ โดยย้ำการซักถามถึงปัญหา ข้าวของแพง ค่าแรงถูก การแก้ไขสถานการณ์เศรษฐกิจที่พบการก่อหนี้จำนวนสูง รวมถึงการแก้ปัญหาโรคระบาดในสุกร
อย่างไรก็ดี ก่อนที่สภาฯ จะปิดสมัย ส่งท้ายการครบเทอม ชุดที่ 25 “ฝ่ายค้าน” นำโดย นพ.ชลน่าน ได้ยื่นอภิปรายทั่วไป แบบไม่ลงมติเป็นครั้งที่สี่ โดยรอบนี้จะเป็นการชี้ให้ประชาชนเห็นถึงผลงาน 4 ปีของรัฐบาล ที่ “พูด แต่ไม่ทำ มีปัญหา แต่แก้ไม่ได้" รวบตึงให้ประชาชนเห็นน้ำยา “รัฐบาลบิ๊กตู่”
แม้การอภิปรายทั่วไปครั้งสุดท้าย “ส.ส.”จะลงมติเพื่อแสดงความไม่วางใจให้บริหารบ้านเมืองต่อไม่ได้ แต่ “ฝ่ายค้าน” ปรารถนาจะส่งความไปถึง“ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคน”ว่า จะไว้ใจให้ “รัฐบาลปัจจุบัน” เข้ามาสืบอำนาจ บริหารราชการแผ่นดินต่อไปหรือไม่.