“พิธา” ชวนจับตาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ย้ำปัญหาราชการรวมศูนย์
“พิธา” พูดในฐานะ “พ่อของลูก” ชวนประชาชนร่วมกันจับตาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ เข้าสู่การพิจารณาที่ประชุมสภาสัปดาห์นี้ เผยยังตอกย้ำปัญหาราชการรวมศูนย์ ไร้ตัวแทนจากครู-นักเรียน ชี้ประเด็นสำคัญอยู่ ม.8 เป้าหมายเรียนรู้เด็กที่วัดผลแทบไม่ได้
เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเชิญชวนให้ประชาชนร่วมกันติดต่อร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภาในสัปดาห์นี้ พร้อมกับกล่าวถึงกรณี “วันเด็ก” ว่า ในฐานะ ส.ส. และพ่อคนหนึ่ง กฎหมายที่สำคัญที่สุดฉบับหนึ่งที่จะเข้าสู่การพิจารณาของการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในสัปดาห์นี้ก็คือ พ.ร.บ. การศึกษา ที่มีเดิมพันว่าประเทศไทยจะสามารถปฏิรูปหรือพัฒนาระบบการศึกษาให้ดีขึ้นมากกว่าเดิมไม่มากก็น้อยได้หรือไม่
นายพิธา ระบุว่า ในกฎหมายการศึกษาฉบับนี้มีทั้งเรื่องที่พรรคก้าวไกลเห็นว่าพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นจากร่างที่ผ่านวาระ 1 ในระดับหนึ่ง (เช่น การเพิ่มอำนาจและผู้แทนนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาหรือ School Board) และมีเรื่องที่เรายังไม่เห็นด้วยเพราะเป็นการตอกย้ำปัญหาการศึกษาของรัฐราชการรวมศูนย์เหมือนเดิม เช่น การโอนอำนาจหลายส่วนจากกระทรวงศึกษาไปที่คณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ หรือ Super Board ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ตัวแทนมาจากข้าราชการเป็นหลัก โดยไม่ได้มีตัวแทนจาก นักเรียน ครู และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ที่เพียงพอ โดยจากกฎหมายฉบับนี้ทั้ง 110 มาตรา มาตราที่จะขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนช่วยกันจับตามากที่สุดก็คือมาตรา 8 ที่เป็นการกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ให้เด็กนักเรียนอย่างละเอียดมาก ๆ จนบางส่วนวัดผลแทบไม่ได้ ไม่ยึดหยุ่นสอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนแปลง และไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายของผู้เรียน
ขอยกตัวอย่างการกำหนดเป้าหมายของผู้เรียนในช่วงอายุ 6-12 ปีจากตัวบท เช่น “ช่วงวัยที่สี่… ต้องฝึกฝนให้มีทักษะบริหารจัดการตนเอง ดูแลสุขภาพทั้งกายและจิตของตนเอง เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของร่างกาย รู้จักสิทธิและหน้าที่ของตนเอง ภูมิใจและตระหนักในความสำคัญของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีจิตอาสา ภาคภูมิใจในความเป็นไทย ซึมซับในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รับรู้ถึงความงามของธรรมชาติ มีนิสัยในการสังเกตและใฝ่รู้ มีทักษะในการเรียนรู้ รู้จัก และรู้เท่าทันในการใช้เทคโนโลยีหาความรู้ รู้จักคิดและกล้าแสดงออกอย่างสร้างสรรค์และมีเหตุผล รู้จักการวางแผนล่วงหน้า รู้จักวิเคราะห์และแก้ไขปัญหา รักการทำงานเป็นหมู่คณะ มีทักษะในการอ่าน เขียน และใช้ภาษาไทย มีความฉลาดรู้ทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และวิทยาการคำนวณ สามารถใช้ภาษาต่างประเทศในชีวิตประจำวัน มีความรู้เกี่ยวกับประเทศไทย ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ตลอดจนวิถีชีวิตของชนชาติไทยและประเทศเพื่อนบ้าน มีความรู้ในภาพกว้างของโลกและพัฒนาการของเทคโนโลยี รักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเริ่มหาลู่ทางในการประกอบอาชีพ”
นายพิธา ระบุว่า นี่เป็นตัวอย่างจากเป้าหมายในช่วงวัยเดียวที่แสดงให้เห็นถึงการตั้งเป้าหมายทางการศึกษาที่ละเอียดมาก หลายส่วนวัดผลได้ยาก มีความเสี่ยงจะไม่ยืดหยุ่นสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง และอาจไม่ได้คำนึงอย่างเพียงพอถึงเด็กแต่ละคนที่มีพัฒนาการ จุดอ่อน และจุดแข็งที่แตกต่างกัน เป็นการตั้งเป้าหมายที่สวนทางกับกระแสโลกที่มุ่งเน้นจัดการศึกษาแบบ Personalized learning หรือการเรียนรู้ที่มีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับ ประสบการณ์ จุดอ่อน จุดแข็ง และพัฒนาการของเด็กแต่ละคนให้ได้มากที่สุด
ยกตัวอย่าง เช่น จากรายงานล่าสุดของ UNICEF เรื่อง “Trends in digital personalized learning in low and middle-income countries” หรือแนวโน้มการใช้ Personalized learning ในประเทศรายได้ปานกลางและรายได้น้อย ก็แสดงให้เห็นว่ามีประเทศในแอฟริกาและเอเชียใต้จำนวนมาก ที่ได้ใช้ AI เข้ามาทำ content การศึกษาที่เฉพาะเจาะจงกับทักษะของเด็กแต่ละคนในด้านการอ่านและคณิตศาสตร์ ซึ่งนี่คืออนาคตของโลกมากกว่าการตั้งเป้าหมายเดียวมาครอบเด็กทุกคนเอาไว้
“นี่คือสาเหตุที่พรรคก้าวไกลมีความประสงค์ที่จะตัดการตั้งเป้าหมายที่ไม่ยืดหยุ่นออกไปจาก พ.ร.บ. เพื่อให้กำหนดได้ในระดับกระทรวง และเปลี่ยนการวัดเกณฑ์จากช่วงวัย เป็นช่วงชั้น (ประถม, มัธยม ฯลฯ) เพื่อให้สามารถวัดผลสัมฤทธิ์ของระบบการศึกษาได้อย่างแท้จริงครับ ในการนี้ผมขอเชิญชวนสมาชิกรัฐสภาทบทวนมาตรา 8 ที่ไม่สมเหตุสมผลในวาระ 2 และขอเชิญชวน นักเรียน พ่อแม้ ผู้ปกครอง ช่วยกันส่งเสียงไปยังผู้แทนราษฎรของท่าน เพื่อให้การออกกฎหมายการศึกษาฉบับใหม่ในครั้งนี้เป็นการพัฒนาการศึกษาไทยมากกว่าที่จะทำให้ถอยหลังลงครับ” นายพิธา ระบุ