ปรับองคาพยพ คุมเกมเลือกตั้ง ลุ้นหุ้นการเมือง“ประยุทธ์-รทสช.” ?
"ปัญหาคือคนที่ตั้งมา ไม่ได้ทำให้นายกฯ ได้เปรียบ แต่ยิ่งเสียเปรียบ เพราะตั้งที่ปรึกษาที่ไม่ได้ตอบโจทย์อะไรกับสิ่งที่นายกฯ อยากจะปั่นหุ้น คือตั้งคนของเมื่อวาน ไม่ใช่คนของวันพรุ่งนี้ วันข้างหน้า"
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม เพิ่มสถานะทางการเมืองของตัวเอง ด้วยการเข้าไปเป็นสมาชิก “พรรครวมไทยสร้างชาติ” อย่างเป็นทางการ ถือเป็นการเปิดเกมสู้ในสนามเลือกตั้ง ไม่อิงแอบอยู่ข้างหลัง “พี่ป้อม” อีกต่อไป
องคาพยพของ รทสช. มีบิ๊กเนม-โนเนมหลายรายที่ นายกฯประยุทธ์ ดึงมาร่วมงานเองกับมือ ส่วนอีกหลายราย เตรียมทยอยเข้ามา เมื่อนายกฯประยุทธ์ มีความชัดเจนต่อพรรค และได้เห็นทิศทางการเมืองที่มีอนาคต
วันเปิดตัวบนเวที ด้วยฤกษ์ดี วันที่ 9 ม.ค.2565 บรรดาขุนพลข้างกาย “บิ๊กตู่” และวอลเปเปอร์การเมือง ถือเป็นไฮไลต์สำคัญที่ถูกกระแสสังคมจับจ้อง โดยเฉพาะนักการเมืองที่จะเปิดตัวสนับสนุนและร่วมทัพในศึกเลือกตั้ง จะเสริมบารมีให้แคนดิเดตนายกฯของพรรค หรือเพิ่มราคาการเมืองให้กับพรรค รทสช.มากน้อยแค่ไหน
“กรุงเทพธุรกิจ” สนทนากับ รศ.ตระกูล มีชัย รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงปรากฏการณ์คนข้างกาย และการแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ จะส่งผลต่อความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่ อย่างไร
รศ.ตระกูล มองว่า ถือเป็นเรื่องปกติทางการเมืองที่นายกฯ แต่งตั้งที่ปรึกษา ซึ่งมาจากพรรคการเมือง แต่กรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งนายเสกสกล อัตถาวงศ์ เป็นที่ปรึกษานายกฯ ซึ่งเป็นผู้ที่สังคมคลางแคลงใจจากข้อครหา เช่น เรื่องสลาก ทำให้สังคมตั้งคำถามว่าตั้งทำไม “แม้นายเสกสกลจะระบุว่าไม่รับเงินเดือน แต่ผมมองว่าการไม่รับเงินเดือน ถือเป็นเรื่องกระจอกมาก เมื่อเทียบกับการมีตำแหน่ง และอำนาจทางการเมือง”
ขณะที่การตั้งนายชัชวาลล์ คงอุดม เป็นที่ปรึกษานายกฯเช่นกัน ตนมองว่านายชัชวาลล์ยังมีมิติในทางการเมืองที่จะเดินงานการเมือง เพราะเป็นผู้กว้างขวางและเป็นที่เกรงใจของกลุ่มการเมืองหลากหลายกลุ่ม
“คนที่มีอำนาจการเมือง เมื่อตั้งคนมาเป็นไม้เป็นมือให้ตัวเอง หากเกิดกรณีที่ปัญหาทางจริยธรรม คุณธรรมทางการเมือง ใช้อำนาจที่คาบเส้นระหว่างสมาชิกพรรคการเมือง กับตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะคนแต่งตั้งก็ต้องรับผิดชอบ ซึ่งการมีตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ สามารถใช้ทรัพยากรของรัฐได้ แต่ต้องระวังทำผิดกฎหมายที่มีผลเอื้อต่อการเมือง หรือ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ"
อาจารย์ตระกูล กล่าวอีกว่า สำหรับการตัดสินใจลงเล่นการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ แม้หากดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ต่อ จะอยู่ได้ไม่เกิน 2 ปี ตนมองว่าเหมือนกับพญาเสือโคร่ง ที่เคยเป็นพญาเสือ ไม่วางมือทางการเมือง ต้องมีวาระ ซึ่งคำว่าวาระหมายถึง การเล่นการเมืองที่ไม่หวังว่าจะอยู่แค่ 2 ปีเท่านั้น
โดยมีประเด็นที่พอประเมินได้ คือ
1.พล.อ.ประยุทธ์ มาเพื่อที่จะเดินเกมทางการเมืองต่อเนื่อง ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า อาจจะอาศัยมติมหาชนสนับสนุนให้เป็นนายกฯ และนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกวาระนายกฯ 8 ปี เหมือนอย่างผู้นำหลายประเทศได้ทำ
แต่กรณีจะนำไปสู่ประเด็นนั้นได้ ต้องมีคะแนนมหาชนสนับสนุน เพื่อให้ได้ความชอบธรรม และคุมกลไกของรัฐสภาได้ “ในเชิงการเมือง ผมไม่เชื่อเรื่องดีลแบ่งนายกฯ คนละครึ่ง กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ หรือนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย”
2.พล.อ.ประยุทธ์ มาเพื่อสืบทอดอำนาจทางการเมือง ผ่านการวางทายาท เพื่อส่งไม้ต่อ แม้ขณะนี้จะมองไม่เห็นว่าเป็นใคร แต่ต้องจับตาว่า รายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ที่พรรครวมไทยสร้างชาติเสนอนั้น มีบุคคลอื่นนอกจาก พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่
“ในทางการเมือง ตัวละครสำคัญ ไม่ได้มีแค่ พล.อ.ประยุทธ์ เท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มอำนาจเบื้องหลัง ทั้งอำนาจเศรษฐกิจ อำนาจสังคม และอำนาจการเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผลประโยชน์มหาศาล ดังนั้นความต้องการของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองอีกครั้ง จึงเปรียบเป็นผู้พิทักษ์ผลประโยชน์ทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ และเชื่อว่ามีพลังขับเคลื่อนดังกล่าวอยู่เบื้องหลัง” อาจารย์ตระกูล กล่าว
สำหรับในการเลือกตั้ง ประเด็น 2 ปีของนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จะกระทบต่อการตัดสินใจเลือกของประชาชนหรือไม่ รศ.ตระกูล มองว่า การเลือกตั้งในเชิงพื้นที่ ไม่มองการเมืองภาพใหญ่ ว่าใครจะเป็นนายกฯ แต่มองว่าในพื้นที่ของตนเอง ใครจะเป็น ส.ส. ดังนั้นตนเชื่อว่า เขาอ่านออก และในการเลือกตั้งที่จะมาถึง จะพบกลยุทธ์ทุกรูปแบบที่จะได้ให้ได้ชัยชนะ
นอกจากนี้ เกมแยกกันเดินของ 3 ป. เวลานี้ 3 ป. จำเป็นต้องแยกกันเดิน เพราะพรรคพลังประชารัฐกระแสตก ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย แม้บอกว่าจะไม่เลนการเมือง แต่ไม่เคยบอกว่าจะไม่ค้ำจุน พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้นตนเชื่อว่า เขายังอยู่ และ พล.อ.อนุพงษ์ คือผู้ทรงอำนาจในการเลือกตั้ง เพราะคุมกลไกของกระทรวงมหาดไทย
อาจารย์ตระกูล ทิ้งท้ายถึงขุมกำลังทหาร ที่จะเป็นแรงสนับสนุน และฐานการเมืองของ 3 ป. ด้วยว่า "ทหารไม่มีใครกล้าแตกแถว ยังอยู่ในแถวของ รมว.กลาโหม การแยกไปของ พล.อ.ประวิตร ไม่มีผลทางการทหาร ตนเชื่อว่าในสถาบันของกองทัพจะต้องมีประเด็นของการหลีกทาง ไม่เป็นคู่แข่งกัน"
ด้าน ดร.ธนพร ศรียากูล นายกสมาคมรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความเห็นผ่านรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ช่อง 9 MCOT ถึงบิ๊กอีเวนต์เปิดตัวของพล.อ.ประยุทธ์ในการเป็นแคนดิเดตนายกฯ ในการเลือกตั้งรอบ 2 ของเขาว่า หากเปรียบเป็นราคาหุ้น ก็ถือว่ายังไม่ขึ้นจริงๆ ที่เห็นหน้าเห็นตา ก็ยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานของหุ้นตัวนี้แบบเดิมๆ ยังไม่ดึงดูดใจนักลงทุนมากเพียงพอ ตัวอย่าง 2-3 เรื่อง ที่ตนเคยเสนอ อาทิ การใช้เทคนิคปรับ ครม.แต่ท่านนายกฯ ก็คิดไปอีกแบบหนึ่ง โดยไปตั้งที่ปรึกษา แม้เรื่องความได้เปรียบทางการเมืองใครๆ ก็ทำกัน ไม่ได้แปลกอะไร
"แต่ปัญหาคือ คนที่ตั้งมา ไม่ได้ทำให้นายกฯ ได้เปรียบ แต่ยิ่งเสียเปรียบ เพราะตั้งที่ปรึกษาที่ไม่ได้ตอบโจทย์อะไรกับสิ่งที่นายกฯ อยากจะปั่นหุ้น คือตั้งคนของเมื่อวาน ไม่ใช่คนของวันพรุ่งนี้ วันข้างหน้า ซึ่งเกือบทั้งหมดข้าราชการประจำที่อาจจะต้องไปสนับสนุนการทำงานในหน้าที่ ก็อึดอัดด้วยซ้ำไป เพราะแต่ละท่านก็มีเรื่องราวหลากหลายมากมาย และแต่ละเรื่องก็ยังไม่เคยได้รับการอธิบายอย่างชัดเจนต่อสังคม ฉะนั้นการตั้งตรงนี้ จึงชิงความได้เปรียบไม่ได้ ทั้งที่ตั้งทั้งทีมันต้องได้เปรียบ ก็ต้องถือว่าหุ้นตัวนี้เสียโอกาสไปแล้ว"
อาจารย์ธนพร กล่าวอีกว่า ในมุมของการเพิ่มราคาหุ้นให้พรรค รทสช. เมื่อเปรียบเทียบอีเวนต์แบบนี้กับอีก 3 พรรค เช่น เพื่อไทยเปิดตัว ก็ได้เรื่องประเด็นค่าแรง 600 บาทต่อวัน กลายเป็นที่ถกเถียงกันทั้งเมือง มันสร้างความจดจำว่า เปิดแล้วมีของ หรือพรรคภูมิใจไทย เปิดตัวปุ๊บพักหนี้ 1 ล้านบาท อันนี้ก็ถกเถียงกันทั้งเมือง ทำให้คนพูดถึง พรรคก้าวไกล เรื่องแก้มาตรา 112 ก็ชิงพื้นที่ข่าวได้ ซึ่งเราพูดถึงการสื่อสารเพื่อให้คนจดจำ เรียกเอฟซี แต่ราคาหุ้นเมื่อวันที่ 9 ม.ค.มันไม่เห็น
แล้วท่านนายกฯ เองก็ดูเหมือนจะยังติดนิสัยเดิม คือ เอาบุญคุณ บอกว่าพรรคนี้ ตัวเองเป็นคนตั้งชื่อ เสมือนไปเอาทรัพย์สินทางปัญญาของท่านนายกฯ มา ซึ่งลีลาอย่างนี้ พูดตรงๆ ว่า ไม่ได้ส่งเสริมให้ราคาหุ้นของพรรคนี้ดีขึ้น แล้วยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเปิดตัวคนรุ่นใหม่ กับผู้อาวุโสในพรรค ก็ยังไม่มีคนซึ่งสังคมรู้สึกว่าว้าว เมื่อเทียบกับพรรคอื่นๆ ฉะนั้นสรุปง่ายๆ ว่าเมื่อวันที่ 9 ม.ค.ต้องถือว่าขาดทุนในภาพรวม
อย่างไรก็ตาม ดร.ธนพร ยังเห็นมุมที่อาจได้เปรียบ โดยระบุว่า ยังมีอีกคนที่นายกฯ ต้องรีบตั้งเป็น มท.1 แทน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา คือนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน “เพราะถ้าเราดูบนเวที คุณสุชาติเป็นตัวจริงคนเดียวในพรรคนี้ ถ้าเรามองเห็นสมาชิกพรรค ที่บอกว่ามากันเป็นหมื่นคน 70% มาจากชลบุรีโดยฝีมือของสุชาติ แล้วเราดูว่าบทบาทบนเวทีของคุณสุชาติไม่ต้องออกอาการเยอะ แล้วตำแหน่งยืนหลังเวทีก็อยู่เบื้องหลังหัวหน้าและเลขาธิการพรรค ภาพที่ออกมาให้รู้ว่าไผเป็นไผ คือของจริง คนที่พาสมาชิกพรรคมาร่วมชื่นชมลุงตู่ถึง 70% ในห้องประชุมนั้น ศักยภาพของเค้าจะต้องขนาดไหน”
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกสำหรับพรรครวมไทยสร้างชาติ อาจารย์ธนพร ระบุว่า คือเราได้พรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ เป็นขวาจัด ขึ้นมาหนึ่งพรรค ซึ่งอันนี้ตอบโจทย์แฟนคลับของฝ่ายขวาจัด ซึ่งเมื่อก่อน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม (หัวหน้าพรรคไทยภักดี) ก็มีความพยายามที่จะอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ตรงนี้ แต่ปรากฏว่ามันไปไม่ถึง
"วันนี้พรรครวมไทยสร้างชาติก็เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ ในฐานะเป็นตัวแทนความคิดทางการเมืองแบบขวาจัดของประเทศไทย เราจะเห็นได้ว่า รูปแบบพฤติกรรมที่บอกเล่าเรื่องราวบนเวที ตั้งแต่ ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ก็จะเป็นเรื่องราวในทำนองอุดมการณ์ชาตินิยมแบบขวาจัดมาตั้งแต่ต้น อันนี้ก็เป็นเรื่องดี ซึ่งจะได้เปรียบเทียบกับทางเสรีนิยมสุดๆ อย่างพรรคก้าวไกล"
ดร.ธนพร ทิ้งท้ายถึง พล.อ.ประยุทธ์ว่า “ส่วนอื่นๆ ท่านนายกฯ ก็คงจะได้ภาพบ้าง ในแง่ว่าเมื่อก่อนนี้อาจจะคุ้นชินกับการแต่งเครื่องแบบ ใส่สูทผูกเน็คไท ใส่เสื้อผ้าไหม การเปิดตัวก็ได้ใส่เสื้อยืดแจ็คเก็ต มีตราพรรคการเมือง มีลีลาออดอ้อนแบบนักการเมือง อันนี้ก็ต้องถือว่าแฟนคลับของลุงตู่ ฟินจิกหมอน”