4 วิธีกู้"รล.สุโขทัย"งบทะลุ 100 ล้าน เทียบประสบการณ์ “กู้เรือฟีนิกซ์”
"กองทัพเรือ" เชื่อว่าหากกู้เรือหลวงสุโขทัยขึ้นมาได้ ก็จะสามารถคลี่คลายข้อสงสัยต่างๆ ที่ค้างคาใจสังคมว่าเพราะเหตุใดเรือรบถึงอับปาง
“เรือหลวงสุโขทัย” จมอยู่ใต้ท้องทะเลฝั่งอ่าวไทยในระดับความลึกที่ 50 เมตร ในตำบลที่ละติจูด 11 องศา 0.39 ลิปดาเหนือ ลองจิจูด 99 องศา 28.699 ลิปดาเหนือ เขตพื้นที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ห่างจากฝั่งไปประมาณ 19 ไมล์ทะเล
โดยศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ประกาศให้เป็น เขตการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินเรือ และไม่เป็นการกีดขวางการปฏิบัติหน้าที่ค้นหา และช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตามพระราชบัญญัติการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ.2562 โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค.65 จนกว่าจะมีคำสั่งยกเลิกประกาศต่อไป
ที่ผ่านมา “กองทัพเรือ” ยังคงเดินหน้าค้นหากำลังพลที่สูญหายจากเรือสุโขทัยอับปาง ที่ยังเหลืออยู่ 5 นายต่อเนื่อง และปฏิบัติงานคู่ขนานไปกับการเตรียมแผนกู้เรือ โดย พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ได้แต่งตั้ง พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ เป็นประธานคณะกรรมการในการพิจารณากู้เรือ
เมื่อเร็วๆ นี้ กองทัพเรือ ได้เปิดภาพล่าสุดของเรือหลวงสุโขทัย ที่ใช้เทคโนโลยีระบบโซนาร์ (Sonar) ของเรือหลวงบางระจันถ่ายภาพไว้ได้ โดยพบว่าเรือหลวงสุโขทัย ที่มีขนาดยาว 76.8 เมตร น้ำหนัก 96 ตัน สูง 28 เมตร จมอยู่ก้นทะเล อ่าวประจวบคีรีขันธ์ ในสภาพตั้งตรงขนานกับพื้นทะเล ไม่เอียงซ้ายหรือขวา ในขณะที่นักประดาน้ำยังไม่สามารถเข้าไปสำรวจภายในตัวเรือได้ หวั่นจะเกิดอันตราย รวมถึงอาจก่อให้ปัญหาทำให้เรือเคลื่อนที่หรือเอียงได้
โดยวานนี้ (11ม.ค.66) พล.ร.อ.อะดุง ในฐานะคณะกรรมการพิจารณาแนวทางกู้เรือหลวงสุโขทัย ได้ประชุมคณะกรรมการเพื่อหาข้อสรุปในการเลือกบริษัท เข้าทำกู้เรือหลวงลำดังกล่าวอย่างเร่งด่วน หลังมีบริษัทแจ้งความประสงค์เข้ามา 12 บริษัท
โดยมีเงื่อนไขตามความต้องการของ “กองทัพเรือ” คือต้องรักษาสภาพเรือให้สามารถใช้งานต่อไปได้ โดยไม่มีการแยกส่วน หรือ ตัดชิ้นแยกเรือเพื่อนำขึ้นมา คาดว่าจะใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท จากนั้นกองทัพเรือจะต้องดำเนินการตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง และนำเสนอกระทรวงกลาโหม เพื่อพิจารณากรอบวงเงินต่อไป
“ทั้ง 12 บริษัทเอกชน เชื่อมั่นว่าจะสามารถนำเรือขึ้นมาโดยทั้งลำ โดยใช้เทคนิคและอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพ เช่น เครน หรือการใช่ทุ่นเพื่อพยุงเรือ ซึ่งอุปกรณ์บางอย่างต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ อาจต้องใช้เวลาดำเนินการพอสมควร ขณะที่นักประดาน้ำที่ลงไปสำรวจ และวางแผนในการกู้เรือ ก็ไม่สามารถเข้าไปในบริเวณตัวเรือได้ เนื่องจากมีความเสี่ยงที่เรือจะเอียง หรือ มีการหลงพื้นที่ และอาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของนักประดาน้ำด้วย” แหล่งข่าวกองทัพเรือ ระบุ
สำหรับการกู้เรือหลวงสุโขทัย ทำได้ 4 วิธี คือ 1. สูบน้ำออกจากเรือให้ได้มากที่สุด ทำให้เรือเบา โดยอาจใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิค เช่น การปิดประตูผนึกน้ำ 2.ทำบอลลูนเข้าไปแทนที่น้ำ 3.ใช้เครนยกซึ่งมีอยู่ที่ ประเทศสิงคโปร์ และ 4. เป็นการผสมผสานโดยอาจจะใช้ทั้งวิธีที่ 1-3
อย่างไรก็ตาม การกู้เรือหลวงสุโขทัย กองทัพเรือ เตรียมดำเนินการให้เร็วที่สุด ทันทีที่มีความพร้อมเพราะต้องยอมรับว่า หากทำได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะลดความเสียหายที่มีต่อเรือและอาวุธประจำเรือ เช่น ปืนใหญ่ หนัก 30-40 ตัน ท่อตอปิโดขนาดใหญ่ ลูกปืน ลูกปืนใหญ่
อีกทั้งยังเปรียบเสมือนการได้ ชันสูตรพลิกศพ เพื่อให้สาเหตุ เรือหลวงสุโขทัยอับปาง ว่าเกิดจากสาเหตุใด มีรอยรั่ว หรือ โดนวัตถุใต้ทะเลกระแทก จนทำให้เกิดความเสียหาย น้ำเข้าตัวเรือ และที่สำคัญกำลังพลที่หาย 5 นาย ติดอยู่ในเรือหรือไม่
ทั้งนี้ประเทศไทย เคยประสบการณ์ในการกู้เรือปี 2562 หลังเกิดเหตุเรือ “ฟีนิกซ์” ซึ่งเป็นเรือนำเที่ยวแบบวันเดย์ทริป บรรทุกนักท่องเที่ยว และลูกเรือกว่า 100 ชีวิต ออกเดินทางจากเกาะราชา จ.ภูเก็ต เพื่อกลับมายังอ่าวฉลอง จังหวัดภูเก็ต เมื่อปี 2561
แต่ระหว่างเดินทางมาถึงจุดระหว่างเกาะราชาและเกาะเฮ เรือฟีนิกซ์ถูกคลื่นซัดจนล่มกลางทะเล ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวจีน และลูกเรือต้องหนีตายลอยคออยู่ในทะเล ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิต โดยเหตุการณ์ครั้งนี้ได้คร่าชีวิตนักท่องเที่ยวไปมากถึง 47 คน
โดยการกู้เรือฟีนิกซ์ จมใต้ทะเลระดับความลึก 45 เมตร ห่างจากเกาะเฮ ประมาณ 2 ไมล์ทะเล ใช้เครนขนาด 1,200 ตัน ยกขึ้นสู่ผิวน้ำ ก่อนจะสูบน้ำในเรือออกทั้งหมด และสุดท้ายก็ต้องประมูลขายซากเรือ
ในส่วนของการกู้เรือหลวงสุโขทัยแม้ยังต้องผ่านอีกหลายขั้นตอน แต่กองทัพเรือจะเร่งดำเนินการโดยเร็วที่สุด และหวังจบปัญหานี้ เพราะเชื่อว่าหากกู้เรือหลวงสุโขทัยขึ้นมาได้ ก็จะสามารถคลี่คลายข้อสงสัยต่างๆ ที่ค้างคาใจสังคม