เปิดแผล 4 พรรคดัง ฝ่ากฎ? กกต.ลุยสอบก่อนศึกเลือกตั้ง
ทั้งหมดคือความเคลื่อนไหวใน กกต.ที่อยู่ระหว่างตรวจสอบเรื่องร้องเรียนกล่าวหา 4 พรรคการเมืองใหญ่ ทั้งฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน ส่วนบทสรุปทั้งหมดจะเป็นอย่างไร ต้องจับตากันต่อไป
ไม่ใช่แค่พรรคการเมืองเท่านั้นที่คึกคักรับสมรภูมิเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง แต่องค์กรอิสระที่มีอำนาจหน้าที่จัดการเลือกตั้งอย่างสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็มีความเคลื่อนไหวอย่างน่าสนใจไม่แพ้กัน
พลันที่ “แสวง บุญมี” เลขาธิการ กกต.มีคำสั่งไปยัง ผอ.กกต.จังหวัดทั่วประเทศ จับตาการลงพื้นที่ของ “นักเลือกตั้ง” รวมถึง “ข้าราชการ” ว่าทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ มีพฤติการณ์ฝ่าฝืน “กฎเหล็ก” 180 วันก่อนสภาครบวาระ หรือเปล่าด้วย
ว่ากันว่า บางพื้นที่ กกต.จังหวัด มีการรายงานพฤติการณ์บางอย่างของ “นักเลือกตั้ง” ส่งมายัง กกต.กลาง เรียบร้อยแล้ว
นอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ดูแลควบคุมการเลือกตั้งให้เป็นไปอย่าง “สุจริต เที่ยงธรรม” แล้ว กกต.ยังมีอำนาจในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนกล่าวหา “พรรคการเมือง” ว่ากระทำผิดกฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ด้วย
ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมามีประเด็นร้อนแรงหลายเรื่อง ที่ถูกร้องเรียนมายังสำนักงาน กกต. โดยเฉพาะ 4 พรรคใหญ่ในปัจจุบัน
เปิดหัวด้วยเรื่องร้องเรียน “พรรคเพื่อไทย” หลังจากชู “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นมาเป็น “แกนนำ” คนสำคัญของพรรค แต่อีกบทบาทหนึ่งของ “อุ๊งอิ๊ง” คือลูกสาวคนเล็กของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธไม่ได้ว่าสายใยพ่อกับลูกตัดกันไม่ขาด แม้ “ทักษิณ” จะพำนักลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ แต่ “อุ๊งอิ๊ง” ก็บินไปพบหาบ้างเป็นบางวาระ โดยอ้างถึงความสัมพันธ์ทางครอบครัว
ทำให้มี “นักร้อง” บางคนนำเรื่องมาร้องเรียน กกต.ว่า การเข้าพบ “ทักษิณ” ที่อีกสถานะหนึ่งคือ “นักโทษหนีคดี” อย่างน้อย 3 คดี ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 12 ปี เข้าข่ายผิดกฎหมายพรรคการเมือง กรณีคนนอก “ครอบงำพรรค” หรือไม่
อีกประเด็นคือ “อุ๊งอิ๊ง” ปราศรัยบนเวทีพรรคเพื่อไทยที่ จ.อุดรธานี เมื่อ 15 ม.ค. 2566 ตอนหนึ่งประกาศจะพา “ทักษิณ” กลับบ้านมาเลี้ยงหลาน ทำเอาฝ่ายอนุรักษ์เนื้อเต้น ทำให้ “นักร้อง” นำเรื่องมายื่นต่อ กกต.ให้ตรวจสอบกรณีดังกล่าวเช่นกัน
ไม่ใช่แค่ “อุ๊งอิ๊ง” แต่ “ทักษิณ” ในอีกชื่อ “โทนี่ วู้ดซัม” เคยออกมาพูดผ่านไลฟ์สดหลายครั้ง ตอนหนึ่งกรณีตำหนิ และวิพากษ์วิจารณ์คนไม่เห็นด้วยกับนโยบายค่าแรง 600 บาท/วัน ของพรรคเพื่อไทย โดยถูก “นักร้อง” ขาประจำยื่น กกต.ให้ตรวจสอบว่า “ทักษิณ” คือผู้อยู่เบื้องหลังคิดค้นนโยบายดังกล่าวหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นจริง อาจเข้าข่าย “คนนอก” ครอบงำพรรคได้
ถัดมา “พรรคก้าวไกล” อีกหนึ่งพรรคฝ่ายค้านที่ได้รับความสนใจจากประชาชน โดยเฉพาะ “คนรุ่นใหม่” มีอยู่เรื่องเดียวที่ยังวนเวียนถูกร้องเรียนไม่รู้จบ คือกรณี “มาตรา 112” โดยคราวนี้ถูก “นักร้อง” เจ้าเดิมยื่นร้องเรียนว่า นโยบายการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรค เข้าข่ายผิดกฎหมายพรรคการเมือง รวมถึงผิดตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากผิดจริง โทษสูงสุดอาจถึงขั้น “ยุบพรรค” ซ้ำรอย “พรรคอนาคตใหม่” ได้
นอกจากนี้ยังมีประเด็นพรรคก้าวไกล ใช้เงินจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองฯของ กกต.จัดทำปฏิทินปีใหม่ 1.2 แสนฉบับแจกจ่ายประชาชน ในช่วง “กฎเหล็ก” 180 วัน อาจเข้าข่ายใช้เงินผิดประเภท และฝ่าฝืนกฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งหรือไม่ แม้ว่าพรรคก้าวไกลอ้างว่า ปฏิทินดังกล่าวแจกจ่ายเฉพาะสมาชิกพรรคเท่านั้น แต่ประเด็นคือการนำเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองฯ มาดำเนินการ สามารถทำได้หรือไม่
จบขั้วฝ่ายค้านไปแล้ว ตัดภาพมาขั้วรัฐบาลกันบ้าง นำโดย “พรรครวมไทยสร้างชาติ” (รทสช.) พรรคใหม่ล่าสุดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่เพิ่งเปิดตัวไปช่วงต้นเดือน ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา ถูกจับตาจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีต กกต. ปัจจุบันสวมหมวกเป็นประธานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นโยบายพรรคเสรีรวมไทย เข้าร้องเรียนต่อ กกต.ให้ตรวจสอบพรรค รทสช.เปิดตัว พล.อ.ประยุทธ์ ส่อเข้าข่ายผิดตามกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่
โฟกัสไปที่ประเด็นการใช้รถบัสมากกว่า 100 คัน ขนคนข้ามจังหวัดมาฟังคำปราศรัย “บิ๊กตู่” การแจกเสื้อ-หมวก มากกว่า 4,000 ชุด มูลค่ากว่า 1 ล้านบาทแก่ประชาชนที่มาฟัง การจัดมหรสพ โดยเชิญ “หรั่ง ร็อคเครสตร้า” มาร้องเพลงในงาน การปราศรัยของ “ไตรรงค์ สุวรรณคีรี” นักการเมืองลายคราม ที่ถูกอ้างว่ากล่าวพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างไม่เหมาะสม รวมถึงการจัดประชุมใหญ่วิสามัญพรรค แต่ไม่มีการเซ็นชื่อผู้เข้าร่วม ไม่มีวาระประชุม และไม่มีการลงมติเลือกรรมการสรรหาผู้สมัคร
ข้ามฟากมาอีกพรรคหนึ่งของ “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อย่าง “พรรคพลังประชารัฐ” (พปชร.) ในมุมของ กกต.ยังโฟกัสประเด็น “เงินบริจาค” 3 ล้านบาท จากเครือข่าย “ทุนจีนสีเทา” อยู่ เรื่องนี้ กกต.ยังคงสืบสาวราวเรื่องอย่างเงียบ ๆ ไม่ได้ทิ้งไปไหนเช่นกัน เพราะคดีนี้มีโทษสูง หากทำผิดจริงอาจถึงขั้น “ยุบพรรค” ได้
ทั้งหมดคือความเคลื่อนไหวใน กกต.ที่อยู่ระหว่างตรวจสอบเรื่องร้องเรียนกล่าวหา 4 พรรคการเมืองใหญ่ ทั้งฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน ส่วนบทสรุปทั้งหมดจะเป็นอย่างไร ต้องจับตากันต่อไป