"ปิยบุตร" โยนเผือกร้อน ทาง 2 แพร่ง "ก้าวไกล" ขอเกาะร่วมรัฐบาล หรือไปให้สุด
"ปิยบุตร" โพสต์สถานการณ์ร้อน "ก้าวไกล" เดินบน "ทางสองแพร่ง" ต้องเลือกให้ชัดศึกเลือกตั้งครั้งหน้า จะขอเกาะร่วมรัฐบาล หรือประกาศจุดยืนชัดเจน ไปให้สุด เป็นตัวแทน "พลังใหม่" ของสังคมไทย
เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2566 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล ถึงพรรคก้าวไกล ในประเด็น ทางสองแพร่งของพรรคก้าวไกล มีรายละเอียด ดังนี้
อีกสามเดือนเศษ คงมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เพียงแต่การเลือกตั้งครั้งนี้มีความสำคัญต่อประเทศไทย แต่ยังสำคัญต่อชะตากรรมของพรรคก้าวไกลด้วย พรรคก้าวไกลต้องได้จำนวนคะแนนเสียงทั่วประเทศ (Popular Vote) ไม่ว่าจะจากใบที่หนึ่งหรือใบที่สองหรือทั้งสองใบ มากกว่าที่พรรคอนาคตใหม่ได้รับในการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562
พรรคก้าวไกลต้องได้จำนวน ส.ส.เขตให้มากกว่าที่พรรคอนาคตใหม่ได้ และสร้างโมเดล “ส.ส.เขตแบบก้าวไกล” ให้ได้ นอกเหนือไปจาก “การเมืองเรื่องตัวเลข” แล้ว พรรคก้าวไกลต้องใช้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็น “สนาม” ในการผลักดันความคิด ปักธงความคิดใหม่ๆ และหาวิถีทางให้ตนเองได้เข้าไปมีอำนาจบริหารเพื่อผลักดันนโยบาย แสดงฝีมือให้ประชาชนเห็นให้ได้
แต่ด้วยแนวทางแบบพรรคก้าวไกลที่ถูกคนจำนวนมากมองว่าเป็น “แกะดำ” ของการเมืองไทย ทำให้เกจิอาจารย์กูรูการเมืองมองว่า แทบไม่มีโอกาสที่พรรคก้าวไกลจะได้เป็นรัฐบาล
ในขณะที่สถานการณ์การเมืองปัจจุบันที่พรรคเพื่อไทย พรรคใหญ่อันดับหนึ่ง ชูธง “แลนด์สไลด์” เพื่อเปลี่ยนขั้วรัฐบาล และยังไม่ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่าจะตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคใด และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าฐานคะแนนเสียงของพรรคก้าวไกลมีจำนวนไม่น้อยที่ทับซ้อนกับพรรคเพื่อไทย
เช่นนี้แล้ว พรรคก้าวไกลจะทำอย่างไร เห็นว่า ณ เวลานี้ 3 เดือนเศษ ก่อนเลือกตั้ง พรรคก้าวไกลตกอยู่ใน “ทางสองแพร่ง” ที่จำเป็นต้องประเมินและตัดสินใจเลือกทางที่ดีที่สุดของตนเองและสังคมการเมืองไทย
ทางแรก - ขอเกาะเป็นรัฐบาล รณรงค์หาเสียงแบบประเมินอารมณ์ของสังคม กระแส แรงกดดันที่ถาโถมเข้ามา ไม่กล้ายืนยันหนักแน่นหรือไปให้สุด เพราะ กังวลว่าเดินแบบนี้ จะเสียตรงนั้น เดินแบบนั้น จะเสียตรงนี้ จะไม่ได้เป็นรัฐบาลเอา จำเป็นต้อง “ทอดไมตรี” กับพรรคต่างๆ จนเสียความเป็นตัวตน เสียอัตลักษณ์
การเดินแนวทางนี้ หากผลลัพธ์ได้ 40-50 ที่นั่ง ก็อาจทำให้มีโอกาสเป็นรัฐบาล ตาม “ความกรุณา” ของพรรคเพื่อไทย คนจำนวนมากที่ต้องการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลให้ได้ ต้องหันเข้าหาวิถีทาง “แลนด์สไลด์แบบเพื่อไทย” บางคนก็ลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทย 2 ใบ หรือพรรคอื่น 2 ใบ แต่หากใครที่มีใจนิยมแนวทางพรรคก้าวไกลอยู่บ้าง ชอบ สนับสนุน เห็นถึงความพยายาม เห็นว่าเป็นอนาคตที่ดีในระยะยาว แต่ตอนนี้ ต้องใช้วิธี “แลนด์สไลด์” ก่อน อย่ากระนั้นเลย ใบแรก กา ส.ส. เขตพรรคเพื่อไทย แล้วแบ่งมากาบ้ญชีรายชื่อให้พรรคก้าวไกล
ทิศทางแบบนี้ จะทำให้พรรคก้าวไกลได้ ส.ส.เขตน้อยลง และได้แบ่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ มาอยู่บ้าง ซึ่งให้ตาย ได้ถึง 25-30 ที่ ก็ยากมากแล้ว หากพรรคก้าวไกลต้องการร่วมรัฐบาล แม้อาจได้ ส.ส.น้อย แต่อย่างไรก็อาจได้ร่วม ไ้ด้เป็นรัฐมนตรีคุมสัก 2-3 กระทรวง แล้วใช้โอกาสในการแสดงผลงาน แนวทางแบบ “ขอเกาะเป็นรัฐบาล” ก็เหมาะสม แล้วค่อยไปหวัง ไปลุ้น กับการเลือกตั้งครั้งถัดไป
ทางสอง - ประกาศจุดยืนการเป็นตัวแทนของพลังใหม่ในสังคมไทย รณรงค์หาเสียงตามแนวทาง ความคิด อุดมการณ์ ของตนเองอย่างยืนหยัดมั่นคง ชัดเจน ไม่ผันแปร ไม่ไหวเอนกับกระแสหรือภัยคุกคามใด
ยืนยันในนโยบายทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่ก้าวหน้ามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในระบบการเมืองปัจจุบัน เพื่อสร้างความแตกต่างจากพรรคการเมืองทุกพรรคที่ลงแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งนี้ ให้ประชาชนเห็นว่า ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองแบบดั้งเดิมอันไม่น่าพิศมัย และทำลายต่อสุขภาพประชาธิปไตยไทย ทุกพรรคการเมืองต่างสาละวนกับการแย่งดึงตัว ส.ส., นักการเมือง/นักเลือกตั้งย้ายพรรคข้ามไปมาโดยไม่ได้คิดถึงถึงแนวคิดอุดมการณ์ใด นอกจากหาพรรคสังกัดเพื่อลงเลือกตั้ง, ใช้เงินใช้ทองมหาศาลในการ “ทำพื้นที่/หาเสียง” สะสมจำนวน ส.ส.ให้มาก นำไปแลกรัฐมนตรี ส่งหัวหน้ามุ้งเป็นรัฐมนตรี, สภาล่มแล้วล่มอีก เพราะ ไม่มี “ผู้แทน”ของ “ราษฎร” หลงเหลือ มีแต่ “ผู้ประกอบอาชีพลงเลือกตั้ง” แต่เรายังมีโอกาสในการสร้างการเมืองแบบใหม่ๆได้
การเมืองไทยกำลังปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ครั้งใหม่ ไม่ใช่ ฝ่ายเผด็จการ vs ฝ่ายประชาธิปไตย อย่างเดิมๆ แต่กำลังขยับไปสู่ พลังเก่า vs พลังใหม่ กำลังพัฒนาไปสู่ คงอยู่ตามเดิมหรือปฏิรูปเล็กน้อยเพื่อเอาตัวรอด vs เปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่อย่างถึงรากในทุกมิติ พรรคก้าวไกลต้องแสดงจุดยืนของตนให้แจ่มชัด ให้แตกต่างจากทุกพรรค ขีดเส้นแบ่งใหม่ “พลังเก่า” และ “พลังใหม่”
พลังเก่า ประกอบด้วย ชนชั้นนำจารีตประเพณี, กลไกรัฐ ศาล ทหาร คุก ตำรวจ ระบบราชการ, ชนชั้นนำนักการเมืองแบบเดิม ที่มองการเลือกตั้งเป็นการเก็บจำนวน ส.ส. เพื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลและแสวงหาทรัพยากร เงินทอน มาทำทุนทางการเมืองต่อไป โดยไม่คำนึงถึงอุดมการณ์ เฉดความคิด ขอเพียงแต่ จำนวน ส.ส.ให้มากที่สุด
พลังใหม่ ได้แก่ คนทุกรุ่นที่มีความคิดใหม่ ที่เล็งเห็นว่า โครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม แบบที่เป็นอยู่ ไม่สามารถนำพาประเทศไทยไปได้อีกแล้ว ต้องเขย่า รื้อ และเปลี่ยนแปลงเสียใหม่
พรรคก้าวไกลต้องยืนตรงอย่างทระนงองอาจประกาศตนเป็นตัวแทนของ “พลังใหม่”
หากเลือกทางเดินนี้ อาจเหนื่อย อาจโดนกระหน่ำจากทุกสารทิศ จากกลไกรัฐ จากพรรคการเมืองทุกพรรค อาจสร้างความไม่พอใจ หรือความลำบากใจแก่พรรคอื่นในการชักชวนให้พรรคก้าวไกลร่วมตั้งรัฐบาล แต่ด้วยสถานการณ์การเมืองที่แลดูสิ้นหวังแบบนี้ พรรคก้าวไกลต้อง รณรงค์ ขีดเส้นแบ่ง “พลังเก่า” vs “พลังใหม่” ให้ประชาชนเชื่อ หวัง เห็นความเป็นไปได้แบบใหม่ๆ มิใช่ “ถูกบังคับ” ให้ต้องเลือกระหว่าง “แลนด์สไลด์แบบเพื่อไทย” กับ “ประยุทธ์และพวก”, ระหว่าง “ขอเป็นรัฐบาลก่อน เพื่อเข้าไปแก้ปัญหาปากท้อง อย่างอื่นค่อยว่ากัน” กับ “ระบอบประยุทธ์” เท่านั้น
หากพรรคก้าวไกลทำได้เช่นนี้ การเลือกเดินทางนี้ ก็อาจเป็นตัวชี้ขาดสำคัญ ส่งทะยานให้พรรคก้าวไกลมีจำนวน ส.ส.เพิ่ม มีคะแนนนิยมเพิ่ม ประชาชนที่ไม่ต้องการทนกับ “แบบเดิม” ก็อาจตัดสินใจเปลี่ยนใจลงคะแนนให้พรรคก้าวไกลทั้ง 2 ใบ
ดีกว่าไปฝันกลางอากาศ กั๊กไปกั๊กมา ไม่เอาสักทาง แล้วให้ได้ ส.ส.มาจำนวนหนึ่ง เพื่อ “เกาะเป็นรัฐบาล” ซึ่งไม่รู้จะได้เป็นหรือไม่
แนวทางนี้ ไม่ใช่ปฏิเสธการเป็นรัฐบาล เราต้องการเป็นรัฐบาล แต่ให้ความคิด แนวทาง คะแนนเสียงและจำนวน ส.ส.เป็นตัวบอกว่าจะได้เป็นหรือไม่ หาเสียงรณรงค์ให้เต็มที่แบบไม่กั๊ก แบบชัดเจน แล้วผลเลือกตั้งจะเป็นตัวบ่งชี้เองว่าจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่ พรรคก้าวไกลจะเลือกทางเดินแบบไหน เหลือเวลาอีกไม่มาก อยู่ที่มองการเลือกตั้ง 66 แบบไหน และต้องการวางยุทธศาสตร์และตำแหน่งแห่งที่ของพรรคอย่างไร พรรคก้าวไกลต้องตัดสินใจ