ต้องรอ กม.ลูก ก่อน! กกต.หวั่นรีบชิงยุบสภา ไร้เขตเลือกตั้ง-รับสมัครไม่ได้
เลขาฯ กกต.ชี้ต้องมีเวลา 45 วัน หลัง “กฎหมายลูก” ประกาศใช้ ก่อนยุบสภา-ครบวาระ เพื่อแบ่งเขตเลือกตั้ง ทำไพรมารีโหวต หวั่นหาก กม.มีผลแล้วชิงยุบสภาเลย จะไร้เขตเลือกตั้ง เปิดรับสมัคร ส.ส.ไม่ได้
เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2566 ที่โรงแรมโอโซ่ นอร์ธ พัทยา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการอบรมตามโครงการเสริมสร้างการปฏิบัติงานเกี่ยวกับพรรคการเมืองให้แก่พนักงานสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับพรรคการเมือง ประจำปี 2566 โดยมีนายสันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ กกต. เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม และมีนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. เป็นผู้บรรยาย
โดยการอบรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้พนักงานของสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับพรรคการเมือง และบุคลากรช่วยปฏิบัติงานโครงการตรวจติดตามการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ทราบถึงบทบาทและหน้าที่ในงานพรรคการเมือง ซึ่งจะช่วยให้การปฏิบัติงานของพนักงานมีประสิทธิภาพและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน
นายแสวง กล่าวตอนหนึ่งว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าเราจะรับมืออย่างไร ทั้งนี้อายุสภาจะครบวันที่ 23 มี.ค. ตามแผนเลือกตั้งวันที่ 7 พ.ค. แต่ก่อนที่อายุสภาจะครบ เราต้องมีเขตเลือกตั้ง ซึ่งตอนนี้ยังไม่มี ซึ่งก่อนมีเขตเราต้องมีกฎหมาย และระเบียบ ซึ่งขณะนี้ระเบียบ สำนักงาน กกต. ร่างไว้หมดแล้ว แม้ทุกอย่างจะพร้อมแต่ต้องรอกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ โดยเราจะมีเวลา 25 วันหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้เพื่อแบ่งเขต โดยจังหวัดจะมีเวลาดำเนินการแบ่งเขต 5-7 วัน นับจากอายุสภาสิ้นสุดลง รับฟังความเห็นประชาชน พรรคการเมือง 10 วัน ขั้นตอนการพิจารณาของ กกต.อีก 7 วัน รวม 25 วัน หากยุบสภาช่วงนี้ ก็หวาดเสียวเหมือนกันเพราะจะไม่มีเขต และสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้เลย นอกจากนั้นในส่วนของพรรคการเมืองเองก็ต้องทำไพรมารี่โหวต 6-7 ขั้นตอน ประมาณ 20 วัน จึงจะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ โดยตามข้อมูลขณะนี้มีพรรคที่มีสาขาหรือตัวแทนครบทุกจังหวัดซึ่งจะสามารถส่งผู้สมัครได้ครบทุกเขต เพียง 3 พรรค ทั้งนี้หากพูดตามทฤษฎีเราต้องมีเวลา 25+20 วัน ก่อนสภาหมดวาระ ถึงจะทำให้การเลือกตั้งเรียบร้อย โดย 45 วันดังกล่าวจะต้องนับจากวันที่มีกฎหมายมีผลใช้บังคับในราชกิจจานุเบกษา แต่ตอนนี้กฎหมายยังไม่ออกก็ไม่รู้จะนับวันไหน
นายแสวง กล่าวอีกว่า ทั้งนี้มีความกังวลอยู่เหมือนกันว่า เราจะมีเวลา 45 วัน ก่อนครบวาระสภา หรือยุบสภาหรือไม่ ทั้งนี้หากจะให้การเลือกตั้งปลอดภัยต้องนับจากวันที่ 23 มี.ค. ย้อนขึ้นมา 45 วัน และหากยุบสภาก็จะเร็วขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ถ้ากฎหมายมีผลใช้บังคับแล้วยุบสภาเลย เราจะไม่มีเวลาในการทำงานเลย เพราะหลังยุบสภา 5 วันต้องเปิดรับสมัคร แต่เรายังไม่มีเวลาแบ่งเขต และพรรคการเมืองเองก็จะไม่มีเวลาทำไพรมารีโหวต ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดทางการเมือง ทั้งนี้สำนักงาน กกต.ก็ไม่ได้อยู่เฉย เราบอกเรื่องข้อกฎหมาย ความจำเป็นในการเตรียมการเลือกตั้งไปแล้ว แต่ทางการเมืองหากจะยุบสภาก็เป็นเงื่อนไขทางการเมือง ซึง่ทางสำนักงาน กกต.ก็พยายามเตรียมการไว้
“ความยากในการรับสมัครครั้งแรก ก็เห็นใจจังหวัดที่ต้องรับผิดชอบเรื่องการแบ่งเขต แต่เลือกตั้งไม่มีเขต มันเดินต่อไม่ได้เลย เพราะเขตเป็นบ่อเกิดของทุกอย่าง พรรคการเมืองต้องมีเขตเพื่อทำไพรมารีโหวตเพื่อส่งผู้สมัคร และหาเสียง กกต.ก็ต้องหาคนทำงานในเขต ทั้งนี้หวังว่าจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เราทำงานได้ง่าย ทั้งนี้เราขอแบบนี้ไม่ได้ขอเพื่อให้พรรคไหนได้เปรียบ แต่ขอให้การเลือกตั้งเรียบร้อยตั้งแต่ต้น แต่หากไม่เรียบร้อยและมีปัญหา ก็จะเป็นเงื่อนไขมาถึงเรื่องอื่น” เลขาธิการ กกต. กล่าว
นายแสวง กล่าวอีกว่า ตนมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะง่ายกว่าครั้งที่ผ่านมา ด้วยกติกาที่เปลี่ยนไป การเมืองที่เปลี่ยนไป แม้การแข่งขันจะสูสีเข้มข้น แต่เงื่อนไขเอื้อต่อการทำงานของ กกต. มากขึ้น โดยสิ่งที่จะทำให้เราได้รับความน่าเชื่อถือต้องทำคือการทำหน่วยเลือกตั้งให้ดี ในช่วงเวลา 12-15 ช.ม. ตั้งแต่เปิดหีบจนถึงการรายงานผลคะแนน ซึ่งต้องมีประสิทธิภาพ มีการจัดการที่ดี โปร่งใส ให้ทุกคนมีส่วนร่วม และตรวจสอบได้หากเกิดปัญหา ส่วนเรื่องการรายงานผลคะแนนต้องแก้ปัญหาให้ถูกจุด รายงานผลให้ดี กรอกคะแนนไม่ให้ผิด และยังมีแนวคิดที่จะให้ประชาชนประเมินความพึงพอใจหลังการใช้สิทธิเลือกตั้งด้วย นอกจากนั้นอีกส่วนคือการได้รับการยอมรับจากการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่เราควบคุมได้ยาก เพราะมีผู้สมัครและผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกี่ยวข้อง แต่ก็เป็นเรื่องที่จับได้ยากเพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นใต้ดิน ดังนั้นต้องอาศัยเรื่องการข่าว และการทำสำนวนที่ดี