22 ปีเลือกตั้ง 8 ครั้ง "2.5 หมื่นล." โมฆะสูญ 6 พันล. - ปี 66 สูงสุด
"...มีอยู่ 2 ปีคือ 2549 และ 2557 ที่เหมือน “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” ต้องสูญงบประมาณไปถึง 6,044 พันล้านบาท เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เป็น “โมฆะ” และนำไปสู่การรัฐประหาร..."
ไม่ใช่แค่ “นักเลือกตั้ง” เท่านั้นที่กำลังคึกคัก แต่องค์กรอิสระที่มีอำนาจหน้าที่คุมกลไกการเลือกตั้งอย่าง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็กำลังจัดทัพเตรียมความพร้อมอยู่เช่นเดียวกัน
ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกรอบวงเงินสำหรับค่าใช้จ่ายในการควบคุมและการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ปี 2566 ตามที่ กกต.เสนอ ในจำนวน 5,945,161,000 บาท
ก่อนหน้านี้ กกต.เคยชี้แจงว่า ในการเลือกตั้งปี 2566 ที่กำลังจะมาถึง ใช้งบประมาณมากกว่าปี 2562 ที่ควักไปราว 4.2 พันล้านบาท เนื่องจากเขตเลือกตั้งเพิ่มขึ้นจาก 350 เขตเลือกตั้งเป็น 400 เขต และต้องใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ รวมทั้งจำนวนกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเพิ่มขึ้น จากหน่วยละ 5 คน เป็นหน่วยละ 9 คน เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ยังไม่มีรายละเอียดว่า งบประมาณการเลือกตั้ง ส.ส.ในปี 2566 ใช้จ่ายไปกับอะไรเพิ่มเติมอีกบ้าง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ นับเป็นการอนุมัติงบประมาณ “มากที่สุด” นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งมา
หากเทียบกับค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งปี 2562 พบว่า การเลือกตั้งปี 2566 จะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นถึง 1,724,375,930 บาทเลยทีเดียว
ลองย้อนดูค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 กันบ้างว่า ถูกนำไปใช้อะไรบ้าง
เมื่อปี 2562 กกต.ตั้งวงเงินงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งประมาณ 4,220,785,070 บาท เป็นการเลือกตั้ง ส.ส. 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 350 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน
รายการใช้จ่ายเยอะที่สุดคือ ค่าใช้จ่ายในการควบคุมและจัดการเลือกตั้ง ที่ดำเนินการโดยสำนักงาน กกต. จำนวน 3,534,873,980 บาท ที่เหลือเป็นรายการค่าใช้จ่ายในการควบคุมและจัดการเลือกตั้ง ดำเนินการโดยหน่วยงานสนับสนุน ทั้งราชการและรัฐวิสาหกิจ จำนวน 685,911,090 บาท
ในส่วนรายการค่าใช้จ่ายในการควบคุม และจัดการเลือกตั้ง จำนวน 3,534,873,980 บาท ถูกนำไปใช้ใน 13 ภารกิจ
มากสุดคือ ภารกิจจัดการเลือกตั้ง ส.ส. วงเงิน 1,814,353,400 บาท นอกจากนั้นเป็นภารกิจเกี่ยวกับตรวจสอบการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง การให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการเลือกตั้ง การเตรียมความพร้อม การสนับสนุนการหาเสียง การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
ทั้งนี้หากย้อนกลับไปดูสถิติการใช้งบประมาณในการจัดการเลือกตั้งทั่วไปย้อนหลังในรอบ 22 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีการจัดเลือกตั้ง 8 ครั้ง ใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 25,230 ล้านบาท ได้แก่
- การเลือกตั้งเมื่อ 6 ม.ค. 2544 ใช้งบประมาณ 2 พันล้านบาท
- การเลือกตั้งเมื่อ 6 ก.พ. 2548 ใช้งบประมาณ 1.5 พันล้านบาท
- การเลือกตั้งเมื่อ 2 เม.ย. 2549 ใช้งบประมาณ 2,159 ล้านบาท (ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้โมฆะ หลังจากนั้นเกิดรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย. 2549)
- การเลือกตั้งเมื่อ 23 ธ.ค. 2550 ใช้งบประมาณ 2,521 ล้านบาท
- การเลือกตั้งเมื่อ 3 ก.ค. 2554 ใช้งบประมาณ 3 พันล้านบาท
- การเลือกตั้งเมื่อ 2 ก.พ. 2557 ใช้งบประมาณ 3,885 ล้านบาท (ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้โมฆะ หลังจากนั้นเกิดรัฐประหารเมื่อ 22 พ.ค. 2557)
- การเลือกตั้งเมื่อ 24 มี.ค. 2562 ใช้งบประมาณ 4,220 ล้านบาท
- การเลือกตั้งในวันที่ 7 พ.ค. 2566 (ตามกรอบของ กกต.) ขอใช้งบประมาณ 5,945 ล้านบาท
ทั้งหมดคือข้อมูลเกี่ยวกับสถิติงบประมาณที่ต้องใช้ไปในการเลือกตั้ง เห็นได้ว่า มีอยู่ 2 ปีคือ 2549 และ 2557 ที่เหมือน “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” ต้องสูญงบประมาณไปถึง 6,044 พันล้านบาท เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เป็น “โมฆะ” และนำไปสู่การรัฐประหาร
สุดท้ายในการเลือกตั้งปี 2566 จะเกิดขึ้นตามกรอบเวลาที่ กกต.วางไว้ หรือจะมี “อุบัติเหตุทางการเมือง” เกิดการยุบสภา และต้องมาจัดสรรวันกันใหม่หรือไม่ ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด