มวลชนบุกที่ประชุมใหญ่ “ก้าวไกล” จี้ถาม “พิธา” จะยกเลิก-แก้ ม.112 หรือไม่
คณะราษฎรยกเลิก ม.112 บุกที่ประชุมใหญ่ “ก้าวไกล” จี้ถาม “พิธา” จะยกเลิกหรือแก้ไข ด้านเจ้าตัวยันเริ่มจากการแก้ ให้เกิดการพูดคุย หากยังไม่ตอบรับ อาจยกระดับเป็นยกเลิก “โรม” ลั่นจุดยืนไม่เปลี่ยน แต่ต้องมีพันธมิตรมากกว่านี้
เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2566 เวลา 13:30 น. ที่อาคารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มธ.รังสิต กลุ่มราษฎรยกเลิก ม.112 ยื่นหนังสือต่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล โดยตัวแทนกลุ่ม กล่าวว่า จากข้อแถลงของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่ได้มีความชัดเจนในการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เราต้องการคำตอบว่าจะแก้ไขอย่างไร ในสถานการณ์ตอนนี้และสุดท้าย"คณะราษฎรยกเลิก 112 ที่เรามีความชัดเจนว่าเราต้องการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นของพวกเราจึงอยากมาฟังจากปากของหัวหน้าพรรคว่าทิศทางของของพรรคก้าวไกลจะเป็นอย่างไร
นายพิธา กล่าวว่า ตนเป็นห่วง น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ “ตะวัน” และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือ “แบม” มากที่สุด ล่าสุดที่ได้ยินมาว่าสถานการณ์ร่างกายของทั้งสองก็ไม่ไหวแล้ว ตะวันก็ปฏิเสธน้ำเกลือ เพราะฉะนั้นเวลาของพวกเราที่อยู่ตรงนี้มีเหลืออยู่ไม่มากก็พยายามที่จะทำทุกอย่างเท่าที่จะเป็นไปได้
เมื่อถามว่าจุดยืนของพรรคก้าวไกล คือการยกเลิกหรือ แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 นายพิธา กล่าวว่า ขั้นต่ำที่สุดจะต้องมีการแก้ไข กับฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพื่อให้เกิดการถกเถียงกัน แต่อย่างน้อยที่สุดสิ่งที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงออก ก็ได้รับการพูดคุยกันแต่ในขณะเดียวกัน ทางรัฐสภาก็พยายามผลักดันเพื่อจะให้มีการพูดคุยกัน ถ้ามีโอกาสก็จะรีบผลักดันกฎหมายเข้าไปแต่ขณะเดียวกันถ้ามีฝ่ายอื่นที่จะแก้ไขมาตรา 112 ไปในทางที่เข้มข้นมากขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายต่อประเทศ เราก็พร้อมที่จะยื่นร่างประกบเข้าไป หากพรรคการเมืองหรือสภาจะไม่ให้โอกาสในการสร้างฉันทามติถ้าของสังคมไทย กลัวว่า ประเทศไทยจะหลุดมือ และไม่สามารถนำกลับมาได้ การที่พรรคจะผลักดันจนถึงขั้นยกเลิกอาจจะเป็นไปได้
ขณะที่นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวว่า จุดยืนของพรรคกล้าวไกล มีความชัดเจนในการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 และเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพต่างๆ พรรคก้าวไกลมีความชัดเจนว่าจุดยืนของเราไม่ได้เปลี่ยน เรารู้ว่าเรามี ส.ส.เท่าไหร่ หากต้องการการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ ต้องใช้พันธมิตรมากกว่านี้ สิ่งที่เราพยายามทำก็คือการแก้ไขกฎหมายมาตรา112 เป็นมาตราฐานขั้นต่ำที่เราสามารถคุยกันได้ และเราก็หวังว่ามาตราขั้นต่ำตรงนี้ จะนำไปสู่การสร้างความร่วมมือ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาวต่อไป
"แน่นอนว่าจุดยืนของเรายังคงเหมือนเดิม ส่วนในรายละเอียดถ้าจะถามให้ลึกไปกว่านี้ ก็คงจะยังไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้" นายรังสิมันต์ กล่าว