นายกฯ พอใจโครงการดูแลสุขภาพผู้ประกันตนเชิงรุกในสถานประกอบการ นำร่อง 7 จว.
นายกฯ พอใจผลการดำเนินงาน โครงการดูแลสุขภาพผู้ประกันตนเชิงรุกในสถานประกอบการ เพื่อตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคของผู้ประกันตน นำร่อง 7 จังหวัด ดูแลสุขภาพแรงงาน
เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบความสำเร็จของ ผลการดำเนินงานใน โครงการดูแลสุขภาพผู้ประกันตนเชิงรุกในสถานประกอบการ เห็นผลสำเร็จเอกชนชื่นชม
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการดูแลสุขภาพผู้ประกันตนเชิงรุกในสถานประกอบการ เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 9 -16 มกราคม 2566 โดยมีผู้ประกันตนเข้ารับบริการตรวจสุขภาพกับสถานพยาบาล ในสถานประกอบการในพื้นที่นำร่องพร้อมกัน 7 จังหวัด ได้แก่
- นนทบุรี
- สมุทรปราการ
- ชลบุรี
- ปทุมธานี
- ระยอง
- พระนครศรีอยุธยา
- สมุทรสาคร
เป็นผู้ประกันตนคนไทย 7,104 คน และผู้ประกันตนชาวต่างชาติ 1,433 คน รวมทั้งสิ้น 8,537 คน โดยเป็นการตรวจคัดกรองสุขภาวะเบื้องต้น ลดความเสี่ยงด้านสุขภาวะ เนื่องจากพฤติกรรมการกิน และการใช้ชีวิตของคนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ทางโครงการจึงเน้นตรวจคัดกรอง เพื่อค้นหาความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้แก่ ตรวจน้ำตาลในเลือด ตรวจไขมันในเส้นเลือด และใช้เทคโนโลยีเข้ามาให้บริการด้านการแพทย์ โดยจะเป็นโอกาสให้ผู้ประกันตนได้รับคำแนะนำ คำปรึกษา เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของกลุ่มเสี่ยง ซึ่งผู้ประกันตนจะได้รับการตรวจสุขภาพเพื่อค้นหาโรค และเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงจาก โรคที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงาน และโรคที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับการทำงาน
ซึ่งเมื่อตรวจพบเร็ว จะช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยเรื้อรัง ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่สูญเสียไปกับการรักษาพยาบาล และสามารถลดจำนวนวันลางาน ทำให้อาการร้ายแรง พิการและเสียชีวิตน้อยลง ลดค่าใช้จ่ายที่สูญเสียไปกับการรักษาพยาบาล และ ลดจำนวนวันลางานที่เกิดจากอาการป่วยได้
“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการมีสุขภาพที่ดีของประชาชนทุกคน ชื่นชมการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้เดินหน้าตามแนวทางที่รัฐบาลกำหนด ดำเนินการส่งเสริมป้องกันให้ผู้ประกันตนมีสุขภาพที่ดี ซึ่งโครงการดูแลสุขภาพผู้ประกันตนเชิงรุกในสถานประกอบการนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกันตนทางด้านสุขภาวะ ให้ดูแลสุขภาพของตนเองมากขึ้น ทำให้แรงงานได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และ เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณความร่วมมือของสถานประกอบการที่ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพที่ดีของผู้ประกันตน เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงกับการทำงาน ในสถานที่ประกอบการ ให้สามารถเข้าถึงบริการของรัฐ ลดความเลื่อมล้ำทางสังคม และ สู่ความ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในอนาคต” นายอนุชาฯ กล่าว