ดัชนีรับรู้การทุจริตไทยปี 65 ขึ้น 9 อันดับรั้ง 101 โลก ได้ 36 คะแนน
องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ แพร่ผลคะแนน CPI ไทยประจำปี 2565 ขึ้นมา 9 อันดับอยู่ที่ 101 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ได้ 36 คะแนนมากกว่าปีที่แล้ว ร่วมกับ 8 ประเทศ ด้าน “เดนมาร์ก” พุ่งพรวดคว้าชัยอันดับ 1 “สิงคโปร์” อยู่อันดับ 5 ร่วม “สวีเดน”
เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2566 เวลาประมาณ 12.30 น. ตามเวลาประเทศไทย องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) เผยแพร่ผลสำรวจดัชนีรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2565 (ค.ศ. 2022) จากจำนวนประเทศ 180 ประเทศทั่วโลก
โดยพบว่าประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 101 จาก 180 ประเทศทั่วโลก เพิ่มจากปี 2564 จำนวน 9 อันดับ และมีคะแนน 36 จาก 100 คะแนน มากกว่าปีที่แล้ว 1 คะแนนเช่นกัน
สำหรับประเทศที่มีคะแนน CPI 36 คะแนนเท่ากับไทย และอยู่อันดับ 101 ร่วมกัน เช่น อัลเบเนีย เอกวาดอร์ คาซัคสถาน ปานามา เปรู เซอร์เบีย ศรีลังกา และตุรกี
ทั้งนี้ไทยเคยได้ 36 คะแนนมาแล้ว 3 ปีก่อนหน้านี้คือ ระหว่างปี 2561-2563 (ค.ศ. 2018-2020) ส่วนปี 2564 (ค.ศ. 2021) ได้ 35 คะแนน
โดยในรอบ 11 ปีที่ผ่านมา ไทยเคยได้คะแนน CPI สูงสุดที่ 38 คะแนน ระหว่างปี 2557-2558 (ค.ศ. 2014-2015)
ส่วนประเทศที่ได้อันดับ 1 ในปีนี้คือ เดนมาร์ก ได้ 90 คะแนน ฟินแลนด์ และนิว ซีแลนด์ อยู่ที่ 2 ร่วม ได้ 87 คะแนนเท่ากัน นอร์เวย์อยู่ที่ 4 ได้ 84 คะแนน และสิงคโปร์อยู่ที่ 5 ร่วมกับสวีเดน ได้ 83 คะแนน
ขณะที่ประเทศคะแนนต่ำสุดในโลกคือ โซมาเลีย ได้ 12 คะแนน อยู่อันดับ 180 ของโลก ซีเรีย 13 คะแนน อยู่อันดับ 178 ร่วมกับเซาท์ ซูดาน
โดยคะแนน CPI 2022 พบว่า มีคะแนนเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 43 คะแนนจาก 100 คะแนน โดยมี 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกที่มีคะแนนต่ำกว่า 50 คะแนน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงาน ป.ป.ช.เผยแพร่ผลคะแนนเปรียบเทียบแต่ละแหล่งข้อมูลดัชนีรับรู้การทุจริต พบว่า ไทยได้คะแนนดีขึ้นกว่าปีที่แล้วจำนวน 2 แหล่งข้อมูล คือ IMD WORLD การติดสินบนและการทุจริตมีอยู่หรือไม่ มากน้อยเพียงใด และ WEF ภาคธุรกิจต้องจ่ายเงินสินบนในกระบวนการต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด
ส่วนแหล่งข้อมูลที่คะแนนที่ตกลงจากปีที่แล้ว มาจาก PERC ระดับการรับรู้ว่าการทุจริตเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองมากน้อยเพียงใด และ WJP เจ้าหน้าที่รัฐมีพฤติกรรมการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบมากน้อยเพียงใด (ดูรายละเอียดตามภาพประกอบ)
ทั้งนี้ ดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) เป็นดัชนีที่สะท้อนภาพลักษณ์การทุจริตของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ที่มีความสำคัญต่อนักลงทุนหรือนักธุรกิจในการประเมินความเสี่ยงหรือใช้ประกอบการตัดสินใจในการเข้ามาลงทุนในแต่ละประเทศ ซึ่งดัชนีดังกล่าวสำรวจโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1993 มีสถานะเป็นองค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานด้านการต่อต้านการทุจริต