“พิจารณ์” กังขาแบ่งเขตเลือกตั้ง 66 กกต.ค่าเบี่ยงเบนประชากรมาก
“พิจารณ์ ก้าวไกล” กังขาการแบ่งเขตเลือกตั้ง 66 ของ กกต. เฉพาะใน กทม.มีค่าเบี่ยงเบนประชากรค่อนข้างมาก แนะกำหนดงบหาเสียงแปรผันตามสัดส่วนเวลาจนกว่าจะเลือกตั้ง
เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2566 นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงการออกกติกาเลือกตั้ง 2566 ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีอะไรไม่ชอบมาพากลหรือไม่ ว่า วันนี้ได้เห็นการแบ่งเขตเลือกตั้งยกตัวอย่างเช่น การแบ่งเขตเลือกตั้งของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่แบ่งออกมา 5 แบบ แต่เท่าที่ดูในรายละเอียดทั้ง 5 แบบ พบว่า มีค่าความเบี่ยงเบนของจำนวนประชากรค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับค่ากลาง 1.65 แสนคน ยกตัวอย่าง บางเขตมีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 1.2 แสนคน หรือ 1.3 แสนคน หรือ บางเขตทะลุ 2 แสนคนไปเลย อย่างไรก็ตามเรายังไม่สามารถคาดเดาว่า สุดท้ายแล้วจะใช้ 1 ใน 5 แบบที่กำหนดมาหรืออาจจะมีแบบที่ 6 ก็ได้
เมื่อถามถึง การกำหนดค่าใช้จ่ายการหาเสียงเลือกตั้ง คือ ส.ส.คนละ 1.5 ล้านบาท และพรรคการเมือง 35 ล้านบาท คิดว่าจำนวนเท่าใดจึงจะเหมาะสม นายพิจารณ์ กล่าวว่า ถ้าอ้างอิงตามกฎหมายการเลือกตั้งเดิมที่กำหนดเขตเลือกตั้งละ 1.5 ล้านบาทและพรรคการเมือง 35 ล้านบาท โดยใช้ในช่วงพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ประกาศใช้ คือมีเวลาประมาณ 60 วัน ถือว่าเป็นตัวเลขที่มากอยู่แล้ว และพรรคก้าวไกลเห็นว่าเหมาะสม แต่หากระยะเวลาที่เราต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเป็นเวลานาน หรือไม่มีการยุบสภาฯ คืออยู่จนครบวาระ ก็จะนับถอยไป 180 วันก่อนครบวาระ ถ้าเป็นแบบนี้จึงมีความจำเป็นที่ กกต. ควรกำหนดเพิ่มจำนวนงบประมาณในการใช้จ่ายหาเสียง ตามสัดส่วนของระยะเวลา