"ฝ่ายค้าน" - "ส.ว." หนุน “ร่างกม.จริยธรรมสื่อ”
"จิรายุ" เผย มติพรรคร่วมฝ่ายค้าน หนุนร่างกม.จริธรรมสื่อมวลชน รอลุ้นประชุมล่มก่อนโหวตหรือไม่ ด้าน "คำนูณ" ชี้ร่างกม.เป็นประโยชน์ ไม่มีช่องให้รัฐแทรกแซง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา นัดประชุมร่วมรัฐสภา เป็นพิเศษในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ โดยมีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ... ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ในวาระแรก
ทั้งนี้ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าในสาระของร่างกฎหมายดังกล่าวพอรับได้ แต่มีบางประเด็นที่ต้องปรับปรุงและแก้ไขในรายมาตรา โดยเฉพาะกรณีของบทลงโทษ รวมถึงการกำหนดกรอบของนิยามความเป็นสื่อมวลชน ผู้ทำคอนเทนต์ออนไลน์ ในยุคสมัยที่ใครก็สามารถเป็นสื่อได้ ทั้งนี้ในมติของพรรคร่วมฝ่ายค้านจะร่วมเป็นกรรมาธิการ และตนจะร่วมเป็นกรรมาธิการด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบว่า การประชุมวาระดังกล่าวจะผ่านชั้นรับหลักการ หรือที่ประชุมรัฐสภาจะล่มหรือไม่ หากสามารถผ่านการพิจารณาและตั้งกมธ.ได้ ตนเชื่อว่าร่างกฎหมายจะไม่แล้วเสร็จภายในสมัยประชุม และต้องรอรัฐบาลชุดใหม่หลังเลือกตั้งพิจารณายืนยันว่าจะเดินหน้าต่อหรือไม่
ขณะที่ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวว่าตนพร้อมรับหลักการร่างกฎหมายส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เพราะเป็นร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาโดยมีสื่อมวลชนอาวุโสเข้ามามีส่วนร่วมทั้งในกระบวนการทำร่างกฎหมายสมัยสภาปฏิรูป รวมถึงชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา อีกทั้งเนื้อหายังเป็นการส่งเสริม สนับสนุนให้เกิดมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน โดยไม่มีประเด็นที่รัฐบาลพยายามเข้าไปกำกับเหมือนข้อกังวลที่เคยเกิดในอดีต
“เป็นประเด็นที่ถกเถียงมานาน นับ 20 ปีตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ที่รับรองสิทธิเสรีภาพสื่อ และควรมีองค์กรวิชาชีพที่มีกฎหมายรองรับและควบคุมกันเอง แต่ความเห็นต่างยังคงมี จนปี 2557 ยุคที่ปฏิรูปสื่อ เห็นว่าควรมีการจัดตั้งองค์กรตามกฎหมาย โดยมีตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพสื่อร่วมยกร่าง ดังนั้นทำให้ลักษณะของกฎหมายไม่ใช่รัฐควบคุมสื่อ แต่ในราละเอียดและบางประเด็นอาจมีข้อถกเถียง ซึ่งสามารถแก้ไขในชั้นกรรมาธิการ” นายคำนูณ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ... มีเหตุผลคือ ให้มีสภาผู้ประกอบการและนักวิชาชีพด้านสื่อสารมวลชนระดับชาติ ทำหน้าที่กำกับดูแลกันเองของผู้ประกอบการและผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งต้องดำเนินการในมาตรฐานสากล บนพื้นฐานเคารพกฎหมาย สำนึกแห่งความรบผิดชอบและมาตรฐานจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
ร่างกฎหมาย ได้รับรองให้ผู้ประกอบวิชาชีพมีเสรีภาพเสนอข่าวหรือแสดงความเห็นแต่ต้องไม่ขัดหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนโดยเคารพและไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น ทั้งนี้กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐสามารถปฏิเสธการปฏิบัติตามคำสั่งที่มีผลเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมสื่อฯ โดยไม่ถือว่าขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา แต่การใช้สิทธิต้องคำนึงถึงภารกิจหน่วยงานที่สังกัด
ขณะที่ สภาวิชาชีพฯ กฎหมายกำหนดให้เป็นนิติบุคคล มีหน้าที่คุ้มครองเสรีภาพการเสนอข่าวสารหรือแสงดงความคิดเห็นรวมถึงพัฒนาจริยธรรมของสื่อและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พร้อมกำหนดให้สภาวิชาชีพฯมีรายได้ จากเงินที่รัฐบาลให้เป็นทุนประเดิม, เงินอุดหนุนทั่วไป ทั้งนี้กำหนดให้ กสทช. จัดสรรเงินในกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ปีละไม่น้อยกว่า 25 ล้านบาท
สำหรับการกำกับผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมร่างกฎหมายกำหนดให้มีบทลงโทษ 3 ระดับ คือ ตักเตือน, ภาคทัณฑ์ และ ตำหนิโดยเปิดเผยต่อสาธารณะ โดยกำหนดให้คณะกรรมการจริยธรรมเป็นผู้ตรวจสอบ.