“ก้าวไกล” ชูแนวคิดสร้างงาน - ซ่อมประเทศ พุ่งเป้าเศรษฐกิจโต ลดเหลื่อมล้ำ

“ก้าวไกล” ชูแนวคิดสร้างงาน - ซ่อมประเทศ พุ่งเป้าเศรษฐกิจโต ลดเหลื่อมล้ำ

“พิธา” ร่วมงาน 20 ปี “โพสต์ทูเดย์” ถกนโยบายเศรษฐกิจพรรคการเมือง ชงแนวคิดกำหนดนโยบายต้อง “ถูกใจคนไทย - ตรงใจตลาดโลก” ชู สร้างงาน - ซ่อมประเทศ เปลี่ยนปัญหา - ความต้องการคนไทย เป็นอุตสาหกรรมใหม่ - จ้างงาน 1 ล้านตำแหน่ง พุ่งเป้าเศรษฐกิจเติบโตควบคู่ลดเหลื่อมล้ำ

เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2566 ที่ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กทม. โพสต์ทูเดย์จัดงานครบรอบ 20 ปี ชื่องาน “อนาคตประเทศไทย Economic Drives เศรษฐกิจไทย สตาร์ทอย่างไรให้ก้าวนำโลก” โดยช่วงบ่ายมีการจัดงานเสวนาโดยเชิญตัวแทนพรรคการเมืองมาแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนโยบายทางเศรษฐกิจ “Policy Push-Market Drives กำหนดนโยบายอย่างไร ให้ตรงใจตลาดโลก”

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า โจทย์ที่ได้รับมาวันนี้ จากผู้จัดงานคือ เราจะกำหนดนโยบายเศรษฐกิจอย่างไรให้ตรงใจตลาดโลก แต่ในการนี้ตนต้องขอคิดต่าง ว่าคำถามที่ถูกต้องคือ เราจะกำหนดนโยบายเศรษฐกิจอย่างไร ให้ตรงใจคนไทย และตลาดโลก ไปพร้อมกัน เพราะที่ผ่านมาเรามีเศรษฐกิจที่ตรงใจตลาดโลกมามากแล้ว ทั้งของถูก และมีคุณภาพ แต่จะมีประโยชน์อะไร ถ้าสิ่งนั้นต้องแลกมาด้วยการเสียสละของคนไทย

ดังจะเห็นได้ว่าประเทศไทยที่ส่งออกข้าวเป็นอันดับ 1-3 ของโลกมาตลอด แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศยังยากจน คิดเป็นถึง 66% หรือ 2 ใน 3 ของคนจนอยู่ในภาคการเกษตร จะมีประโยชน์อะไรกับการที่รายได้การท่องเที่ยวของประเทศก่อนโควิด สูงถึง 2 ล้านล้านบาท แต่ 74% กระจุกตัวอยู่แค่ใน 5 จังหวัดจากทั้งประเทศ และจะมีประโยชน์อะไรกับการที่ประเทศไทยมีภาคธนาคารที่เข้มแข็งเป็นอันดับที่ 21 ซึ่งถือเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยพุ่งทะยานไปถึง 89% ของจีดีพีแล้ว

นายพิธา กล่าวอีกว่า ธนาคารโลกล่าสุดคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปีหน้า จะโตช้าที่สุดในรอบ 30 ปี นี่คือโจทย์ที่รัฐบาลไทยต้องออกแบบนโยบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ จะเอาแต่พึ่งการส่งออก การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ รวมถึงการท่องเที่ยวอย่างเดียวไม่ได้แล้ว สิ่งที่เราต้องการวันนี้คือ วิธีคิด ซึ่งพรรคก้าวไกลมีกระบวนการวิเคราะห์ กำหนดเป้าหมาย ที่จะนำไปสู่การกำหนดนโยบายอย่างเป็นระบบ พรรคก้าวไกลเริ่มต้นจากการวิเคราะห์หาจุดแข็ง-จุดอ่อน-โอกาส-ภัยคุกคาม (SWOT analysis) ที่ทำให้เราได้เห็นภาพของประเทศไทยในปัจจุบัน

กล่าวคือ ประเทศไทยมีจุดแข็งคือ ความสร้างสรรค์ ห่วงโซ่อุปทานที่ดีระดับหนึ่ง และมีเสถียรภาพทางการเงินการคลัง ในขณะเดียวกันก็มีจุดอ่อนคือ การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว การมีระบบรัฐราชการรวมศูนย์ที่เต็มไปด้วยการคอร์รัปชัน และความเหลื่อมล้ำที่สูงมาก หากมองในแง่โอกาส แนวโน้มการลงทุนของโลกในขณะนี้กำลังมุ่งไปที่การกระจายความเสี่ยงออกจากฐานการผลิตเดิม ขณะเดียวกันกำลังจะเกิดการปฏิรูปภาษีโลกครั้งใหม่ (Global Minimum Tax) หรือ GMT แต่โลกก็กำลังมอบโจทย์ความท้าทายให้กับประเทศไทยในหลายด้านเช่นเดียวกัน ทั้งในเรื่องภาวะโลกร้อน ปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์เช่น สงคราม และราคาโภคภัณฑ์ที่ผันผวน

หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า เมื่อได้ภาพปัจจุบันของประเทศดังนี้แล้ว การกำหนดยุทธศาสตร์ของพรรคก้าวไกลจึงเกิดขึ้นภายใต้โจทย์เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตไปพร้อมกับการลดความเหลื่อมล้ำ นำมาสู่นโยบาย “สร้างงาน ซ่อมประเทศ” หรือการนำปัญหาร้อยแปดพันเก้าที่เรื้อรังมาข้ามทศวรรษ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไม่ถึงระบบขนส่งสาธารณะ น้ำประปาที่ไม่สะอาด ปัญหาพลังงาน ความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ เปลี่ยนให้เป็นโอกาสในการสร้างงาน เพื่อซ่อมประเทศ กล่าวคือ

(1) เพิ่มจุดแข็ง ด้วยนโยบายกองทุนภาพยนตร์ เพื่อนำไปสู่การส่งออกเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การเปิดเสรีโซลาร์เซลล์ให้ประชาชนดำเนินการติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้ง่ายขึ้น และสามารถขายไฟส่วนเกินคืนให้รัฐได้ และคูปองเมืองรองเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการกระจายนักท่องเที่ยวไปยังหัวเมืองรองต่างๆ

(2) ลดจุดอ่อน ด้วยนโยบายหวย SMEs ให้ใบเสร็จจากการซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการรายย่อยแลกเป็นสลากกินแบ่ง เพิ่มแรงจูงใจในการอุดหนุน SMEs ให้มีแต้มต่อแข่งกับทุนใหญ่ การกระจายอำนาจให้นำไปสู่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด การสร้างระบบ AI ตรวจจับการทุจริต และการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ การลดจำนวนใบอนุญาตที่ผู้ประกอบการต้องขอลง 50% และแก้ไขกฎระเบียบการออกใบอนุญาต ให้ต้องทราบผลภายใน 15 วัน ไม่เช่นนั้นให้มีผลเท่ากับการอนุมัติในทันที

(3) คว้าโอกาส ด้วยแนวทางการสร้างเทคโนโลยีที่เป็นของประเทศไทยเองขึ้นมา เพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงโซลาร์เซลล์ที่กล่าวไปข้างต้น

(4) ป้องกันภัยคุกคามที่เกิดจากความท้าทายของโลก เช่น ภาวะโลกร้อน ด้วยการสร้างระบบขนส่งสาธารณะรถเมล์ไฟฟ้าในทุกจังหวัด การกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการสร้างรัฐสวัสดิการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวอีกว่า สถานะทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ขณะนี้ อยู่ต่ำกว่าหลายประเทศ ทั้งในด้านการเติบโตที่สะท้อนผ่านจีดีพี และรายได้ต่อหัวที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำในประเทศ เป้าหมายของนโยบายพรรคก้าวไกล จึงอยู่ที่การผลักสถานะของประเทศไทย ทั้งในแง่ของการเติบโตและรายได้ต่อหัวประชากรให้ขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยตราบที่เศรษฐกิจของประเทศไทยยังใช้วิธีการเหมือน 40 ปีที่ผ่านมา

“คำตอบอย่างเป็นรูปธรรมที่สุดคือ ผลักประเทศให้เติบโตไปด้วย และลดความเหลื่อมล้ำให้คนในประเทศไปด้วย การสร้างการเติบโตของประเทศด้วยอุตสาหกรรมเก่า การส่งออกแบบเก่า พึ่งพาการลงทุนแบบเก่า ไม่สามารถตอบโจทย์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้อีกแล้ว มันจะมีประโยชน์อะไรถ้าเศรษฐกิจเติบโต แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังต้องอยู่ในนรก ทั้งนรกหนี้สิน และนรกของความเหลื่อมล้ำ ทางออกเดียวของประเทศไทยที่จะตอบโจทย์นี้ได้คือ การสร้างอุตสาหกรรมภายในประเทศ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการ และปัญหาของคนไทย” นายพิธา กล่าว

ส่วนในช่วงถาม-ตอบ นโยบายเร่งด่วนเพื่อให้ไทยแข่งขันทางเศรษฐกิจโลกได้จะทำอย่างไร นายพิธา กล่าวว่า วาระ 100 วันแรกหากตนได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะดำเนินการ 3 เรื่องที่เกี่ยวกับการเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว แบ่งเป็น

ด้านการเกษตร ปีที่แล้วเกิดน้ำท่วมเยอะ ทำให้การหมุนเงินของเกษตรกร ไม่ได้รับตามทันกับกระแสเงินสดของเกษตรกร ที่ผ่านมาตามปกติการจ่ายค่าเยียวยาต้องคิดคำนวณผ่านทางกำนัน และผู้ใหญ่บ้าน แต่คราวนี้ TDRI บอกตนว่า ให้ใช้ดาวเทียมของ GISDA จะทำได้รวดเร็วมากขึ้น สามารถลดวันจ่ายเงินเยียวยาลงได้ เพื่อเติมเงินให้เขาเร็วที่สุด

ส่วนด้านอุตสาหกรรม ความเหลื่อมล้ำของทุนใหญ่กับ SME โดยนโยบายของเราคือ หวย SME ที่นำมาจากไต้หวัน โดยหากซื้อของจากร้านปกติ ไม่ใช่ร้านทุนใหญ่ สามารถมีสิทธิสะสมตัวเลขจากใบเสร็จ นำไปลุ้นหวยได้

ส่วนการท่องเที่ยว จะให้คูปองเมืองรอง ที่ผ่านมารัฐบาลใช้งบประมาณไปมหาศาลในการโปรโมตเมืองรอง เนื่องจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยกระจุกอยู่แค่ 5 จังหวัด ที่เหลืออีก 71 จังหวัดแทบไม่ได้ประโยชน์ ดังนั้นหากก้าวไกลเป็นรัฐบาล จะเสนอให้มีคูปองเมืองรองไปยังจังหวัดอื่นๆ เพราะการคมนาคมอาจไม่ดีพอ 

นายพิธา กล่าวว่า เรื่องเหล่านี้ทั้งหมดสามารถทำได้ทันที 100 วันแรกในการเป็นรัฐบาล ไม่ต้องผ่านสภา นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องสุราก้าวหน้า ถ้าก้าวไกลมีโอกาสเป็น รมว.คลัง จะลงนามทันทีในการไม่แบ่งแยกกำลังการผลิตแอลกอฮอล์ ทำให้เกษตรกรที่ปลูกข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ผลไม้ เปลี่ยนจากโภคภัณฑ์เป็นผลิตภัณฑ์ ไม่ต้องผ่านสภา แก้ไขกฎกระทรวง ทำได้ทันที

เมื่อถามว่า ปัจจุบันราคาน้ำมันแพงขึ้นมาก พรรคมีแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างไร นายพิธา กล่าวว่า เริ่มต้นก่อน ตอนนี้ราคาน้ำมันอยู่ที่ 74 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ไม่สูงกว่าแต่ก่อนเท่าไรนัก ทิศทางมีขึ้นมีลง แต่เรื่องโครงสร้างพลังงาน ต้องเป็นสิ่งที่เข้ามาจับดูระยะสั้นว่ามีปัญหาอย่างไร รอดูอนาคต ภาษีสรรพสามิต ต่างๆ ที่สำคัญกว่านั้นคือ การจะยิงปืนนัดเดียว ให้ได้นก 2 ตัวคือ การประหยัดพลังงาน การเปลี่ยนพลังงานที่ใช้น้ำมันเป็นตัวตั้ง ให้กลายเป็นเรื่องเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คำถามมีอยู่ว่า จะทำอย่างไรให้สามารถแก้ไขปัญหานั้นๆ ได้ เช่น รถเมล์ EV เป็นต้น 

“ถ้าเรายังมีการคมนาคมขนส่งที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ ต้องมีรถหลายคัน แต่ถ้าเปลี่ยนการคมนาคมให้สะดวก ลดต้นทุน และดีต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ได้ การลดพลังงานในระยะสั้น และลดเพื่อประหยัดพลังงาน ไม่ใช่แค่รอเวฟการขึ้นลงของราคาอย่างเดียว และทำให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ เป็นต้น” นายพิธา กล่าว

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์