งบฯกู้ "เรือหลวงสุโขทัย" พุ่งเกิน 200 ล้าน "ผบ.ทร."ยันไร้ธงโทษลมฟ้าอากาศ
งบฯกู้ "เรือหลวงสุโขทัย" พุ่งเกิน 200 ล้าน " ผบ.ทร. "ยันไม่มีธงเหตุเรือล่มมาจากลมฟ้าอากาศ ระบุ ต้องใช้วัตถุพยาน เทียบเคียงคำให้การ 289 ปาก เผย พลาธิการ ทร.ยันจ่ายเสื้อชูชีพครบอัตรา
พล.ร.อ. เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ(ผบ.ทร.) กล่าวถึงความคืบหน้าในการสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์ เรือหลวงสุโขทัยอับปางว่า คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ที่มีพล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือเป็นประธาน ได้ดำเนินการสอบสวนมาอย่างต่อเนื่อง และมีความก้าวหน้า โดยมีการสอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้องเช่นกำลังพลผู้รอดชีวิต และหน่วยงานที่เข้ามามีส่วนช่วยเหลือ ทั้งจากท่าเรือบางสะพานและเรือเอกชนอื่นๆที่เข้ามาร่วมช่วยเหลือในวันนั้นรวมทั้งหมด 289 ปากครบถ้วนเรียบร้อย ปัจจุบันนี้เหลือเพียงเรียบเรียงถ้อยความสาเหตุการจม ของเรือหลวงสุโขทัย
“ ซึ่งตามที่ทราบคือว่า การจมลงมีสาเหตุหลักจากการที่น้ำเข้าเรือและทางเรือไม่สามารถสูบน้ำออกได้ทัน จนกระทั่งเรือเอียง และจมลงในที่สุด ซึ่งสาเหตุต่างๆเหล่านี้ต้องนำมาประมวลหาสาเหตุที่แท้จริง ในขณะนี้ได้ตั้งสมมุติฐานที่ทำให้เรือจมไว้หลายประเด็น โดยผลการสอบข้อเท็จจริงจากกำลังพลที่รอดชีวิตต้องประกอบกับเรื่องของวัตถุพยาน ที่เรือหลวงสุโขทัยว่าตรงตามคำให้การของผู้รอดชีวิตหรือไม่ และได้มุ่งประเด็นไปที่จุดใดบ้าง เพื่อนำมาประกอบกับผลการสอบสวนจึงเป็นประเด็นแท้จริงที่เกิดขึ้น”
ส่วนที่มีการมองว่าสาเหตุที่เรือร่มมาจากสภาพอากาศหรือความผิดพลาดของตัวบุคคลนั้น พล.ร.อ เชิงชาย กล่าวว่า ในสมมุติฐานนั้น ก็มีการตั้งไว้หลายประเด็นแต่ผลยังไม่ชัดเจนขอให้คณะกรรมการสอบสวนได้ประมวลผลออกมาก่อน สำหรับประเด็นที่ประชาชนและสื่อมวลชนสงสัยในการจมของเรือ เช่นเสื้อชูชีพ จากการตรวจสอบตอัตราเสื้อของเรือหลิวรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นเรือรุ่นเดียวกัน เพียงพอสำหรับกำลังพลที่อยู่ในเรือ กล่าวคือมีอัตราเสื้ออยู่ 120- 130 ตัว ซึ่งเมื่อเทียบกับเรือหลวงสุโขทัยซึ่งมี ขนาดเท่ากัน รวมทั้งได้มีการตรวจสอบกับทางกรมพลาธิการ ได้รับการยืนยันว่าได้แจกจ่ายจำนวนเท่ากันคือ 130 ตัว รวมทั้งมีการเบิกเปลี่ยนเสื้อชูชีพล่าสุดก็ยืนยันว่าเพียงพอสำหรับกำลังพล ที่อยู่บนเรือ 105 คน
ส่วนขั้นตอนที่ว่าบางคนมีและบางคนไม่มีนั้นอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนทั้งในส่วนของกำลังพลของเรือ รวมถึงกำลังพลที่มาสมทบจากหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินและ คุยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) ซึ่งเรื่องนี้มีความชัดเจนและสามารถชี้แจงต่อประชาชนได้เพราะสามารถสอบถามพยานที่รอดชีวิตทุกคนว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร ทั้งเรื่องของเรือจมและบางคนที่ไม่มีเสื้อชูชีพ และขณะเรือใกล้จะจมช่วงนั้นเกิดอะไรขึ้น
ผบ.ทร. ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในการกู้เรือว่า เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะเรือจมอยู่ในระดับน้ำลึก 40 - 50 เมตร ดังนั้นการนำเรือขึ้นมาจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ หากมีอุบัติเหตุหรือทำให้เรือเสียหายเพิ่มมากขึ้น จะทำให้วัตถุพยานต่างๆไม่สามารถนำมาพิสูจน์ได้ จึงจำเป็นต้องเฟ้นหาบริษัทที่มีขีดความสามารถ มีเครื่องมือที่กู้เรือขึ้นมาได้เพื่อนำมาสอบสวนข้อเท็จจริงว่าเหตุใดถึงได้จมลง ขณะนี้ยังมีขั้นตอนการพิจารณา จากบริษัทที่นำเสนอเพิ่มเข้ามา ท้ายที่สุดคือเรื่องของงบประมาณที่จะใช้ในเรื่องนี้ ซึ่งจะต้องมีการนำเสนอไปที่หน่วยเหนือให้พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งกองทัพเรือจะเป็นส่วนพิจารณาว่า จะใช้งบฯสำรองที่กองทัพเรือมีอยู่ หรือจะต้องขอจากรัฐบาล ตอนนี้ยังไม่ทราบวงเงินที่ชัดเจน ต้องรอคณะกรรมการชุดกู้เรือนำเสนอขึ้นมา
เมื่อถามว่า ประมาณการว่าจะใช้งบประมาณจำนวนเท่าใด พล.ร.อ.เชิงชาย กล่าวว่า เท่าที่ทราบตัวเลขคร่าวๆน่าจะ สูงกว่า 200 ล้านบาท ในการนำเรือขึ้นมาและนำเข้าฝั่ง
ผบ.ทร. กล่าวด้วยว่า ในส่วนของผู้สูญหาย5 รายนั้นได้มีการเยียวยาจากในส่วนของกองทุนรวมใจไทยกองทัพเรือ และ ทุนประกันชีวิตหมู่ ได้มีการจ่ายเงินไปแล้ว 2,000,000 บาท ซึ่งส่วนที่เหลือต้องรอให้ศาลสั่งว่าเป็นผู้สูญหายก่อนตามกฏหมายจึงจะมีการดำเนินการจ่ายเงินที่เหลือได้ ทั้งนี้กองทัพเรือได้จัดเจ้าหน้าที่ดูแลญาติพี่น้องของผู้ที่เสียชีวิตและสูญหายอย่างต่อเนื่องด้วย