"สุชาติ"สยบล้มซักฟอก งัดข้อบังคับสอนมวย "วิษณุ" ยันสภาล่ม"ญัติไม่สิ้นสุด"
"รองสุชาติ" งัดข้อบังคับประชุมสภา สอนมวย "วิษณุ" หลังชี้เป้า "แผนสภาฯล่ม" ล้มอภิปรายม.152 ยืนยัน "องค์ประชุมไม่ครบ" นัดประชุมใหม่นัดถัดไป ไม่ถือว่าจบการอภิปราย
หลังนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงปัญหา "สภาล่ม" ที่อาจเกิดขึ้นในการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152ระหว่างวันที่ 15-16ก.พ.66 โดยระบุว่า หากองค์ประชุมไม่ครบหรือสภาฯล่มตั้งแต่การอภิปรายวันแรกก็ต้องถือว่าจบการอภิปรายและสิ้นสุดญัตติทันทีนั้น
ล่าสุด นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิป 2 ฝ่าย) เมื่อวันที่ 25 ม.ค.66 เพื่อพิจารณาแนวทางการพิจารณาญัตติตามมาตรา 152 ถึงหลักปฏิบัติในกรณีที่องค์ประชุมไม่ครบหรือสภาฯล่ม
โดยนายสุชาติ ชี้แจงว่า การที่นายวิษณุระบุว่า หากองค์ประชุมไม่ครบถือว่า ถือว่าจบการอภิปรายในญัตติตามมาตรา 152 นั้นเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของ นายวิษณุ เท่านั้น และไม่ถูกต้อง เพราะตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่มีการระบุว่า การที่องค์ประชุมไม่ครบ ถือเป็นการสิ้นสุดญัตติเป็นเพียงการทำให้ญัตติดังกล่าวสะดุดลง ต้องเลิกประชุมเนื่องจากไม่เป็นองค์ประชุม และต้องนำกลับมาพิจารณาต่อในการประชุมคราวต่อไป
ซึ่งมีตัวอย่างที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์เช่นที่ว่าเป็นประจำ อย่างกรณีญัตติที่ยัง "ไม่สิ้นสุดการอภิปราย" หรือญัตติที่ต้องมีการลงมติแล้วเกิดองค์ประชุมไม่ครบก็จะเลิกประชุมทุกครั้ง และประธานจะแจ้งให้ว่าให้ส่วนที่เหลือนำมาพิจารณาต่อเพื่ออภิปราย หรือลงมติในการประชุมครั้งถัดไป
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า ในกรณีการอภิปรายในญัตติตามมาตรา 152 ซึ่งไม่มีการลงมตินั้นก็ต้องปฏิบัติตามข้อ 73 ในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ระบุว่าการอภิปรายเป็นอันยุติเมื่อ
1.ไม่มีผู้ใดอภิปราย, 2.ที่ประชุมลงมติให้ปิดอภิปรายและ 3.ที่ประชุมลงมติให้ยกเรื่องอื่นขึ้นปรึกษาและข้อ 74ที่ว่าในกรณีที่ประธานพิจารณาเห็นว่าได้อภิปรายกันพอสมควรแล้วจะขอให้ที่ประชุมวินิจฉัยว่าจะปิดอภิปรายหรือไม่ก็ได้อีกทั้งตามข้อตกลงของวิป 2 ฝ่ายก็ได้เห็นพ้องที่จะให้มีการประชุมเป็นเวลา 2 วัน
โดยพรรคร่วมฝ่ายค้านมีเวลา 24 ชั่วโมงขณะที่คณะรัฐมนตรีและพรรคร่วมรัฐบาลมีเวลา 8 ชั่วโมงจึงควรดำเนินการประชุมให้เป็นไปตามข้อบังคับสภาฯและข้อตกลงของวิป 2 ฝ่าย จนกระทั่งใช้เวลากันจนครบรวมถึงการใช้สิทธิอภิปรายสรุปของผู้เสนอญัตติตามข้อบังคับข้อที่ 75 ด้วย
“การอภิปรายตามมาตรา 152 ครั้งนี้ถือเป็นกระบวนการตรวจสอบหนึ่งของฝ่ายนิติบัญญัติ และเป็นครั้งสุดท้ายของสภาฯชุดนี้แล้วฝ่ายบริหารเองก็จะได้มีโอกาสในการชี้แจงทำความเข้าใจกับ ส.ส.รวมไปถึงประชาชนที่ติดตามฝ่ายรัฐบาลจึงควรที่จะร่วมรักษาองค์ประชุมเพื่อให้การประชุมดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ส่วนตัวเป็นห่วงว่า หากฝ่ายรัฐบาลหวังปฏิบัติตามความเห็นของ รองนายกฯวิษณุ อาจถูกมองว่ารัฐบาลหนีการตรวจสอบหรือไม่” นายสุชาติ ระบุ.