เสี้ยวจันทร์อันอุดม เสี้ยวจันทร์อันอาภัพ | ไสว บุญมา
การสูญเสียมหาศาลจากแผ่นดินไหวทางตะวันตกเฉียงใต้ของตุรกีต่อกับซีเรียเมื่อวันจันทร์ เป็นเหตุการณ์โหดร้ายล่าสุดที่เกิดขึ้นในย่านนั้นซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ "เสี้ยวจันทร์อันอุดม" (Fertile Crescent) ตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
เสี้ยวจันทร์อันอุดมซึ่งครอบคลุมส่วนหนึ่งของตุรกีตอนใต้ไปจนถึงอีรัก ซีเรีย เลบานอน จอร์แดน อิสราเอล ปาเลสไตน์ และส่วนหนึ่งของอียิปต์ มีเหตุการณ์ใหญ่ๆ ซึ่งน่าสนใจและจูงใจให้คิดต่อ
คนโบราณในย่านเสี้ยวจันทร์อันอุดมรู้จักการทำเกษตรกรรมก่อนย่านอื่น การทำเกษตรกรรมเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดในสังคมมนุษย์เป็นครั้งแรก และเป็นฐานของการสร้างบ้านเมืองและวิถีชีวิตใหม่ที่รวมเป็นอารยธรรมแรกของโลก
อย่างไรก็ดี ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมักมีคำสาปแฝงมาด้วย หากนำมาใช้โดยปราศจากความรอบรู้จริง หรือด้วยเจตนาร้าย คำสาปนั้นจะยังผลให้เกิดความเสียหายร้ายแรงถึงขนาดทำให้อารยธรรมล่มสลาย
ความล่มสลายเกิดขึ้นกับอารยธรรมแรกของโลกหลังจากการบริโภค ซึ่งรวมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ เป็นไปแบบไร้เหตุผลจนก่อให้เกิดความขาดสมดุลร้ายแรงในระบบนิเวศ
อาจกล่าวได้ว่า มนุษย์ทำสงครามกับธรรมชาติอย่างกว้างขวางเป็นครั้งแรกในย่านนี้และมีผลที่อาจคาดเดาได้
นั่นคือมนุษย์แพ้ จากคำพูด ชาวโลกปัจจุบันดูเหมือนจะรู้ว่าตนได้เรียนรู้จากความล่มสลายของอารยธรรม แต่พฤติกรรมของคนส่วนใหญ่กลับชี้ชัดว่าตนมิได้ใส่ใจกับบทเรียนจากอารยธรรมที่ล่มสลายไปนัก
ปรากฏการณ์ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยจึงกำลังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ภาวะโลกร้อนเป็นอาการหนึ่ง ซึ่งบ่งบอกว่ามนุษย์น่าจะแพ้อีกแน่นอน
ในย่านนี้มีสงครามระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งสงครามระหว่างกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่เองและสงครามกับผู้บุกรุกจากภายนอก
ย้อนไปในสมัยโบราณ คนในพื้นที่รวมทั้งซูมาเรียนและบาบิโลเนียนทำสงครามแย่งชิงพื้นที่และทรัพยากรกันไม่ขาด ต่อมาอาณาจักรออตโตมานก็รุกรานและยึดครองพื้นที่ของกลุ่มต่างๆ อย่างทั่วถึง
ในปัจจุบัน ชาวอิสราเอลกับชาวปาเลสไตน์กลุ่มต่างๆ ยังทำสงครามกันอยู่ ย้อนไปหลายพันปี อเล็กซานเดอร์แห่งมาซิโดเนีย ยาตราทัพเข้าไปรุกรานจนกระทั่งเอาชีวิตไปทิ้งไว้ในย่านนี้
สงครามศาสนาที่เรียกกันว่าสงครามครูเสดก็เกิดระหว่างกองทัพจากนอกพื้นที่บุกเข้าไปหลายต่อหลายครั้ง ครอบคลุมเวลาถึง 200 ปี
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 มหาอำนาจจากภายนอกส่งกองทัพเข้าไปเช่นกัน เมื่อเอาชนะอาณาจักรออตโตมานได้ก็ขีดเส้นตรงแบ่งแยกประเทศตามความพอใจของตน ยังผลให้ชนเผ่าต่างๆ ต้องรับกรรมและทำให้เกิดความขัดแย้งกัน
ในยุคปัจจุบัน กองทัพอเมริกันและพันธมิตรเพิ่งเสร็จกิจจากการบุกเข้าไปในอีรัก ส่วนกองทัพรัสเซียยังกำลังช่วยรัฐบาลซีเรียทำสงครามกลางเมืองกับฝ่ายต่อต้านจนชาวซีเรียนับล้านคนต้องพลัดถิ่น ผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ดังกล่าวเป็นชาวซีเรียพลัดถิ่นจากสงครามกลางเมือง
ท่ามกลางความแห้งแล้งร้ายแรงบนพื้นที่ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ย่านนี้และพื้นที่ติดกันมีน้ำมันปิโตรเลียมจำนวนมหาศาล น้ำมันเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีคำสาปเรียกกันว่า Resource Curse และเป็น “อุจจาระของปีศาจ” (Devil’s Excrement)
สิ่งเหล่านี้มีผลเสียร้ายแรง ความต้องการน้ำมันเป็นเหตุให้มหาอำนาจจากภายนอกพยายามเข้าไปก้าวก่ายกิจการภายในของผู้อยู่ในพื้นที่ตลอดเวลา
ส่วนเจ้าของพื้นที่ซึ่งมีรายได้มหาศาลจากการขายน้ำมันก็ใช้จ่ายกันแบบแทบไม่ลืมหูลืมตา การใช้จ่ายนั้นนำไปสู่การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และระบบนิเวศของทั้งภายใน-ภายนอกพื้นที่ ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน
ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติบ่งว่า ย่านเสี้ยวจันทร์อันอุดมเป็นย่านเดียวที่มีสงครามและความเดือดร้อนอย่างต่อเนื่องมาหลายพันปี เป็นไปได้ไหมว่ามันเป็นผลของคำสาปของทรัพยากร?
มองอีกมุมหนึ่ง เป็นไปได้ไหมว่ามันเป็นผลของมนุษย์ติดกระดุมเม็ดแรกผิด เมื่อผู้ค้นพบเทคโนโลยีใหม่ซึ่งนำไปสู่การสร้างสิ่งที่ต่อมาเรียกกันว่าอารยธรรมของมนุษย์นั้นวางรากฐานทางความคิดผิดๆ ไว้ให้รุ่นหลังรวมทั้งคนนอกพื้นที่ด้วย? หรือคำสาปของเทคโนโลยีใหม่ในยุคนั้นยังมีผลร้ายยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบันนี้?