สภา กทม.รับหลักการงบเพิ่มเติมปี 66 กว่า 9,999 ล้าน จี้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
สภา กทม.รับหลักการข้อบัญญัติงบประมาณเพิ่มเติมปี 66 วงเงิน 9,999 ล้านบาท ตามที่ “ผู้ว่าฯ กทม.” เสนอ ตั้ง 35 กรรมการวิสามัญฯ ขีดเส้นพิจารณาใน 45 วัน บรรดา ส.ก.กำชับฝ่ายบริหารใช้งบปี 66 ให้มีประสิทธิภาพ ติดตามความล่าช้า
เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2566 ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง มีการประชุมสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) โดยมีนายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภา กทม.เป็นประธานการประชุม ในสมัยประชุมวิสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 1) ประจำปี 2566 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) พร้อมด้วยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมการประชุม
โดยวาระสำคัญในการประชุมคือ นายชัชชาติ ในฐานะผู้ว่าฯ กทม. ได้เสนอญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2566 พ.ศ. ... โดยจ่ายขาดจากเงินสะสมของกรุงเทพมหานคร
นายชัชชาติ กล่าวว่า ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง เงินสะสม พ.ศ.2562 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2564 ข้อ 12 กำหนดให้กรณีที่กรุงเทพมหานครมีความจำเป็นจะต้องจ่ายขาดเงินสะสมให้กระทำได้ในกรณีที่เป็นกิจการที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของกรุงเทพมหานคร และที่มีความจำเป็นหรือเร่งด่วนเกี่ยวกับการบริการชุมชนและสังคม หรือเป็นกิจการซึ่งแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนโดยตรง หรือเป็นกิจการที่เป็นการเพิ่มพูนรายได้ให้กรุงเทพมหานคร และต้องเป็นไปตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร หรือตามที่มีกฎหมายกำหนด และให้คำนึงถึงฐานะเงินสะสมของกรุงเทพมหานครด้วย อย่างไรก็ดี กรุงเทพมหานครต้องดำเนินการก่อหนี้ผูกพันและเบิกจ่ายให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาไม่เกินปีงบประมาณถัดไป หากไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ตกเป็นเงินสะสม
“กรุงเทพมหานครมีความจำเป็นเร่งด่วนในการบริการชุมชนและสังคม และให้ความสำคัญของการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ในการดำเนินการซ่อม สร้าง ช่วยเหลือ ฟื้นฟูและเยียวยา จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และจากการเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร” นายชัชชาติ กล่าว
โดยสถานะการเงินการคลังของกรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 27 ม.ค.66 กรุงเทพมหานครมีเงินฝากธนาคาร 91,685.62 ล้านบาทโดยเป็นเงินสะสม จำนวน 56,270.34 ล้านบาท หรือคิดเป็น 61.37 % ภาระหนี้ตามโครงการต่อเนื่องที่ได้ก่อหนี้ผูกพันแล้ว ณ วันที่ 30 ก.ย.65 จำนวน 213 โครงการ เป็นจำนวนเงิน 76,406.44 ล้านบาท ฐานะเงินสะสมที่ปลอดภาระผูกพันประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ณ วันที่ 27 ม.ค.66 จำนวน 36,843.65 ล้านบาท
- เปิดงบเพิ่มเติม กทม.ปี 66 กว่า 9,999 ล้านบาท
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ในส่วนของงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 พ.ศ. .... วงเงินงบประมาณ 9,999.31 ล้านบาท จำแนกตามลักษณะงาน ประกอบด้วย ด้านความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อย จำนวน 61.44 ล้านบาท (0.61%) ด้านพัฒนาสังคมและชุมชนเมือง จำนวน 136.10 ล้านบาท (1.36%) ด้านสาธารณสุข จำนวน 328.81 ล้านบาท (3.29%) ด้านเมืองและการพัฒนาเมือง จำนวน 2,619.62 ล้านบาท (26.20%) การจัดบริการของสำนักงานเขต จำนวน 2,907.67 ล้านบาท (29.08%) และด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 3,945.67 ล้านบาท (-39.46%)
จากนั้น ส.ก.ได้ร่วมอภิปรายอย่างกว้างขวาง เช่น นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง กล่าวว่า ขอขอบคุณฝ่ายบริหารที่เห็นความจำเป็น และเห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ซึ่งงบกลางคืองบที่ใช้สำหรับแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลัก ในส่วนของร่างงบประมาณสำนักการระบายน้ำ ถือว่ามีประโยชน์เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ตะวันออก แต่ที่จะติคือ คือเรื่องประตูระบายน้ำคลองสามเสน-คลองบางซื่อ พบว่าไม่มีการเสนอเข้ามาซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จึงอยากสอบถามว่าเป็นเพราะอะไร ในครั้งประชุมพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 66 ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญก็ได้สอบถามไปแล้วแต่ยังไม่มีการบรรจุเพื่อขอรับงบประมาณแต่อย่างใด ซึ่ง 3-4 เดือนหน้าจะเข้าสู่ฤดูฝนอีกครั้ง ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคงไม่อยากให้ประชาชนเดือดร้อน
- กำชับฝ่ายบริหารใช้งบปี 66 ให้มีประสิทธิภาพ
นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.พญาไท กล่าวว่า งบประมาณปี66 ที่สภากทม.ได้พิจารณาเห็นชอบไปแล้ว พบว่ามีการใช้ไปเพียง 10% แต่ในวันนี้ฝ่ายบริหารจะมาของบประมาณเพิ่มเติม จึงเกรงว่าจะเป็นการซ้ำซ้อนกับงบประจำปีเดิมหรือไม่ และเหตุใดไม่ขับเคลื่อนการใช้งบประมาณประจำปีที่มีอยู่ โดยเฉพาะสำนักการโยธามีการของบประมาณเพื่อปรับปรุงทางเท้าจำนวนมาก แต่กรุงเทพมหานครไม่เคยมีมาตรฐานทางเท้าที่เหมือนกันเลย และต้องซ่อมแซมทุก 2-3 ปี รวมถึงการเว้นระยะทางเท้าบริเวณหน้าบ้านเรือนประชาชนทำให้ประชาชนที่ต้องเดินผ่านต้องเดินขึ้น-ลงทางเท้า ซึ่งควรทำเป็นเนินราบเพื่อให้เจ้าของบ้านขับรถขึ้นไปแทน เพื่อให้ผู้ที่เดินเท้าได้รับความสะดวกเช่นเดียวกับผู้ที่ขับรถ สำหรับข้อสังเกตเพื่อทำถนนเส้นใหม่ ขอให้มีการออกแบบทางเท้า ท่อระบายน้ำ ท่อร้อยสายลงดิน ไปพร้อมกัน เพื่อไม่ต้องขุดเจาะหลายครั้งและก่อให้เกิดความไม่สวยงาม ซึ่งการใช้งบประมาณต้องให้ได้ประโยชน์และสวยงามด้วย
“กรุงเทพฯต้องเปลี่ยนแปลงในยุคนี้ เพราะประชาชนเป็นล้านคนได้เชื่อมั่นและมอบคะแนนเสียงให้ และการใช้งบประมาณต้องครอบคลุมกระจายทุกหน่วยงานให้เท่าเทียมกัน เนื่องจากประชาชนคาดหวังจากท่านมาก การเปลี่ยนแปลงนี้เชื่อว่าจะทำได้” นายพีรพล กล่าว
- จี้ กก.วิสามัญฯติดตามความล่าช้าใช้ง่ายงบ
นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย กล่าวว่า แนวทางการปฏิบัติเพื่อของบประมาณซึ่งควรเป็นโครงการเร่งด่วนแต่พบว่าหลายโครงการไม่มีความเร่งด่วน เช่น โครงการก่อสร้างเส้นทางผจญภัย พื้นที่เขตดุสิต ของสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ซึ่งควรมีการศึกษารายละเอียดโครงการให้ชัดเจนก่อน รวมทั้งโครงการปรับปรุงถนนตรอกซอย ที่ผ่านมาในหลายเขตมีปัญหาความล่าช้าเนื่องจากติดขัดเรื่องระบบสาธารณูปโภค ทั้งการไฟฟ้า และการประปา ทำให้หลายโครงการไม่เสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด จึงขอสอบถามความเป็นไปได้ในการให้กรุงเทพมหานครจัดทำท่อร้อยสายเอง และการพิจารณจัดเก็บภาษีเสาไฟฟ้าและการจัดเก็บภาษีโรงแรมเพิ่มเติมเพื่อเป็นรายได้ให้กับกทม.
- เห็นชอบตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่าง 35 ท่าน
ทั้งนี้ที่ประชุมสภามีมติเห็นชอบรับหลักการแห่งร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 พ.ศ. … และให้แต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ 35 ราย กำหนดการแปรญัตติภายใน 7 วันทำการ และจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน (นับจากวันที่สภาฯรับร่างข้อบัญญัติฯ เป็นครั้งแรก) คือภายในวันที่ 5 เม.ย. 2566