แอมเนสตี้ฯ บี้ รมว.ยุติธรรม เลิกดอง พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหาย ต้องบังคับใช้ทันที

แอมเนสตี้ฯ บี้ รมว.ยุติธรรม เลิกดอง พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหาย ต้องบังคับใช้ทันที

“แอมเนสตี้ ประเทศไทย” พร้อมตัวแทนนักกิจกรรม-ญาติผู้สูญเสีย ยื่นข้อเรียกร้องต่อ รมว.ยุติธรรม ให้บังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องปรามทรมาน-อุ้มหายทั้งฉบับทันที หลัง ครม.ขยายเวลาบังคับใช้เป็น 1 ต.ค.66

เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) พร้อมด้วยตัวแทนนักกิจกรรมและญาติผู้เสียหายจากการทรมานและอุ้มหายยื่นข้อเรียกร้องต่อ รมว.ยุติธรรม (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) ให้ยุติการเลื่อนหรือขยายระยะเวลาการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย ในบางมาตราออกไป เนื่องจากเห็นว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวต้องเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ทั้งฉบับ เพื่อยืนยันว่ารัฐบาลไทยตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องคุ้มครองบุคคลให้รอดพ้นและปลอดภัยจากการละเมิดที่ร้ายแรง รวมทั้งคืนความยุติธรรมให้กับผู้เสียหายและครอบครัว ซึ่งไม่ได้รับความเป็นธรรมมาเป็นเวลานาน โดยมีนายเกิดโชค เกษมวงศ์จิตร รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรมเป็นตัวแทนรับมอบข้อเรียกร้อง

ประเด็นนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ในมาตรา 22 ถึง 25  ออกไปเป็นวันที่ 1 ต.ค. 2566 โดยระบุเหตุผลถึงความจำเป็นต้องปรับปรุงการดำเนินการ บทบาท และหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมระดับหน่วยปฏิบัติและข้อขัดข้องเรื่องการจัดซื้อกล้อง และต้องเตรียมความพร้อมของบุคคลากรที่ต้องฝึกอบรมบุคลากรในการใช้อุปกรณ์

แอมเนสตี้ฯ บี้ รมว.ยุติธรรม เลิกดอง พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหาย ต้องบังคับใช้ทันที

น.ส.ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า แอมเนสตี้ ประเทศไทยได้ติดตามความคืบหน้าของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ที่จะมีกำหนดบังคับใช้ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 นี้มาโดยตลอด เเต่การชะลอการบังคับใช้กฎหมายที่มีการผลักดันมามากกว่า 10 ปี  และถือเป็นกฎหมายสำคัญที่นำไปสู่การป้องกันการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกิจหลายประการที่ทางการไทยได้ประกาศไว้ในเวทีโลก อีกทั้งยังนำไปสู่การตั้งคำถามถึงความจริงใจของรัฐบาลในการช่วยเหลือผู้เสียหายและครอบครัวให้ได้รับสิทธิเรียกร้องตามกระบวนการยุติธรรมจากกรณีที่ถูกทรมานและบังคับให้สูญหาย  

“การที่ ครม. มีมติขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ในมาตรา 22-25 ออกไปนั้น ส่งผลให้ผู้เสียหายไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรม และเป็นเหตุให้ผู้เสียหายคนอื่นไม่กล้าออกมาร้องเรียน ทั้งยังส่งสัญญาณต่อเจ้าพนักงานว่า พวกเขาอาจกระทำการละเมิดเช่นนี้ได้อีกโดยไม่ต้องรับโทษ ผู้เสียหายจากการทรมานและญาติของผู้ถูกบังคับให้สูญหาย ต่างยังคงยืนหยัดในการรณรงค์ให้มีการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว เพื่อเปิดทางให้พวกเขาได้รับความยุติธรรม เข้าถึงความจริง และการเยียวยาสำหรับครอบครัว ซึ่งกฎหมายฉบับนี้อาจเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยพวกเขาในเรื่องนี้ได้” น.ส.ปิยนุช กล่าว

แอมเนสตี้ฯ บี้ รมว.ยุติธรรม เลิกดอง พ.ร.บ.ป้องกันอุ้มหาย ต้องบังคับใช้ทันที

ความล่าช้าในการบังคับใช้กฎหมายไม่เพียงเเต่มีผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น  เเต่ยังคงส่งส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของประเทศไทยในเรื่องความมุ่งมั่นต่อสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะด้านพันธกรณีที่ไทยมีต่ออนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน (CAT) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) รวมถึงประเทศไทยเคยรับข้อเสนอในประเด็นเรื่องยุติการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ในเวทีรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในกระบวนการทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน (UPR) รอบที่ 3 ทั้งหมด 39 ข้อ และให้คำมั่นสัญญาโดยสมัครใจในประเด็นดังกล่าว 2 ข้อ 

ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รวบรวมกรณีการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายจากการทรมาน การกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ระหว่างถูกควบคุมตัวในระหว่างปี 2557 และ 2558 ทั้งหมด 74 กรณี อีกทั้งคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ ขององค์การสหประชาชาติระบุในรายงานตั้งแต่ปี 2523 ถึง2562 ว่ามีผู้ถูกบังคับสูญหายอย่างน้อย 92 ราย และยังคงค้างอยู่ 76 ราย แสดงให้เห็นว่า สถานการณ์ดังกล่าวอยู่มาอย่างยาวนานและยังไม่มีแนวโน้มที่จะการคลี่คลายลง

ดังนั้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงขอเรียกร้องกระทรวงยุติธรรม ในฐานะที่มีหน้าที่ในการพัฒนากฎหมายและระบบบริหารจัดการของกระบวนการยุติธรรมให้เป็นเอกภาพ โปร่งใส คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งยังทำหน้าที่ช่วยเหลือให้ความรู้ทางกฎหมาย และสื่อสารกับองค์กรหน่วยงานอื่นๆ และสาธารณะเพื่อให้เป็นไปตามพันธกิจดังกล่าว ให้มีการดำเนินการดังนี้

1. ประกาศการใช้พระราชบัญญัติทั้งฉบับโดยไม่มีการยกเว้นบางมาตรา เพื่อทำตามพันธกรณีที่ประเทศไทยมีต่อ อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน (CAT) อีกทั้ง ให้สัตยาบันแก่อนุสัญญาระหว่างประเทศ ว่าด้วยการคุ้มครองบุคคล ทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) และพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีอื่น ๆ (OP-CAT)

2.ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำระเบียบหรือข้อกฎหมายย่อยในระดับกระทรวงเพื่อให้การ ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติเป็นไปตามกฎหมาย ติดตามการปฏิบัติของหน่วยงานต่าง ๆ อีกทั้ง ดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นในการแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างถูกต้องสมบูรณ์และโดยเร็วที่สุด 

3.การบังคับใช้จะต้องมีการประกาศ สื่อสาร และทำความเข้าใจกับสังคมในการเข้าถึงของกลไก มาตรการ และสิทธิที่ประชาชนมีภายใต้กฎหมาย ทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อันเป็นผลประโยชน์สูงสุดในการคุ้มครองและเติมเต็มสิทธิของประชาชน

สำหรับ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ซึ่งเดิมจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ. 2566 โดยให้ขยายกำหนดเวลาการมีผลบังคับใช้ของมาตรา 22 ถึง 25 ซึ่งเป็นมาตราที่สำคัญ ออกไปเป็นวันที่ 1 ต.ค. 2566 นั้น มีรายละเอียดดังนี้ 

  • มาตรา 22 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว
  • มาตรา 23 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว
  • มาตรา 24 การเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว
  • มาตรา 25 การไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว กรณีอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว เกิดผลร้ายต่อบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวน