กกต.จัด 400 ชุดเคลื่อนที่เร็ว ลงพื้นที่ทั่วประเทศ ปราบทุจริตเลือกตั้ง 66
กกต.เตรียมชุดเคลื่อนที่เร็วปราบทุจริตเลือกตั้ง 66 กว่า 400 ชุด จับตาดูทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เผยทำงานคู่ขนานรอคำวินิจฉัยศาล รธน.ตีความจำนวนราษฎร ยันไม่ประมาทให้เสียเวลาเปล่า
เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2566 นายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ รองเลขาธิการ กกต. กล่าวบรรยายหัวข้อ “การจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ตามบทบัญญัติกฎหมายใหม่” ว่า กกต.ให้ความระมัดระวังในทุกขั้นตอนของการจัดเลือกตั้ง ซึ่งการแบ่งเขตตอนนี้เราก็รอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถ้าสิ่งที่เราดำเนินการมาแล้วถูกต้องการดำเนินการต่อไปก็จะเร็ว เพราะตอนนี้เรากำหนดขั้นตอนไว้หมดแล้ว แต่ถ้าศาลวินิจฉัยไปต่างจากที่เราดำเนินการมาสิ่งที่เราต้องเริ่มดำเนินการนั้นก็ต้องทำให้เร็วที่สุด ตามกรอบเวลาที่เรามีอยู่ เราคงรอให้เวลาล่วงเลยไปไม่ได้ก็มีการดำเนินการคู่ขนานไปกับการรอศาลวินิจฉัย ทั้งนี้ในวันที่ 23 มี.ค.นี้จะครบวาระสภานี้ แต่อย่างไรก็ตามเพื่อความไม่ประมาทเราต้องรีบดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพราะมันจะมีขั้นของการทำไพรมารีโหวตของพรรคการเมือง ในเรื่องการประกาศให้มีการเลือกตั้งได้นั้นต้องมีพระราชกฤษฎีกา เมื่อมีแล้ว กกต.ก็จะประกาศกำหนดวันเลือกตั้งภายใน 5 วัน ส่วนที่บอกว่าให้ประกาศให้มีการเลือกตั้งไปก่อนการมีเขตเลือกตั้งได้หรือนั้นคงต้องบอกว่าทำไม่ได้ การที่จะประกาศวันเลือกตั้งโดยที่ไม่มีเขตเลือกตั้งแล้วไปเลื่อนวันเลือกตั้งนั้นทำไม่ได้โดยข้อกฎหมาย ส่วนวันที่จะเลื่อนวันเลือกตั้งได้นั้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ในความเห็นส่วนตัวการจะเลื่อนวันเลือกตั้งได้นั้นต้องเป็นเหตุจำเป็นที่จะไม่ทำให้ลงคะแนนได้ เช่น เกิดเหตุจลาจล แต่ต้องอยู่ในช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นการจัดการเลือกตั้งได้จะต้องมีเขตเลือกตั้งก่อน
นายกิตติพงษ์ กล่าวอีกว่า การรับสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อซึ่งของเดิมในปี 2562 เรามีใบเดียว ตามกฎหมายให้ส่งผู้สมัครแบบแบ่งก่อนแล้วจึงส่งแบบบัญชีรายชื่อได้ แต่ถ้าดูจากเลือกตั้งปี 2544 ปี 2550 หรือ 2557 ก็มีบัตรสองใบ นั้นคือผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อต้องมีก่อนแล้วจึงจะมีผู้สมัครแบบแบ่งเขตก็จะทำผู้สมัครทั้งสองแบบมีหมายเลขเดียวกัน แต่ตอนนี้ยังไม่มีการแก้กฎหมาย ปัญหาที่จะพบคือ ในขณะที่มีการรับสมัครวันแรกให้รับสมัครแบบแบ่งเขตก่อน แล้ววันที่สองจึงจะเริ่มสมัครแบบบัญชีรายชื่อ จะทำให้เบอร์ของแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อจะมีเบอร์ที่ไม่ตรงกัน ส่วนการประกาศผลเลือกตั้ง กับการรายงานผลการเลือกตั้งแบบไม่เป็นทางการนั้นบางครั้งทำให้เกิดความสับสน ซึ่งประกาศผลคำทางการคือการรับรองผลเลือกตั้งเป็นการรับรองผลตามกฎหมาย จะมีกรอบเวลาภายใน 60 วันหลังวันเลือกตั้ง นั้นก็จะมีคำถามว่าทำไมหลังวันเลือกตั้งไม่ทยอยประกาศ นั้นก็เพราะกกต.ทำตามกฎหมายที่ให้ประกาศร้อยละ 95 ของจำนวนเขตเลือกตั้งทั้งหมด คือ กกต.ต้องประกาศให้ในครั้งเดียวให้ได้อย่างน้อย 380 เขตทั่วประเทศ
ส่วน ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก รองเลขาธิการ กกต. กล่าวบรรยายหัวข้อ “กลยุทธ์การแสวงหาข่าวและป้องปราบการทุจริตการเลือกตั้ง ส.ส.” ว่า กฎหมายเลือกตั้งเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ดังนั้นการสื่อสารออกให้ประชาชนรับทราบ เข้าใจดีเป็นไปนั้นค่อนข้างลำบาก ซึ่งกกต.ไม่ได้มีกฎเหล็กอะไรมีแต่กฎหมายที่จะปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าระเบียบเราไม่ละเอียดทั้งผู้สมัครและพรรคการเมืองก็จะดำเนินการไม่ถูก เมื่อเราออกละเอียดไปมันก็จะมีการซิกแซ็กนั้นก็จะเป็นดาบสองคมได้ โดยการเลือกตั้งครั้งนี้เราก็เตรียมตัวไม่น้อยกว่าครั้งอื่น ๆ มีการตั้งเจ้าหน้าที่สอบสวน ทั้งออกภาคสนาม และซูม และครั้งนี้การดำเนินการจะรวดเร็วกว่าครั้งอื่นเพราะมีการบัญญัติเรื่องของเวลาในกระบวนการยุติธรรมกำหนดไว้ ทั้งนี้เราได้ขอความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดชุดเคลื่อนที่เร็วจำนวน 400 ชุดทั่วประเทศ ในการดูแลความเรียบร้อย และการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ส่วนงานสืบสวนสวนสอบเราได้ให้มีการตั้งศูนย์สืบสวนสอบสวนทุกจังหวัด
ด้านแอปพลิเคชันตาสับปะรดที่มีการพัฒนาข้อมูลให้ผู้โหลดต้องแสดงตัวตนด้วยการแสดงเลขประจำตัวประชาชนทั้ง13 หลัก ซึ่งตอนนี้มีผู้โหลดแอปพลิเคชันแล้ว 10,000 คน และมีข้อมูลกว่าพันข้อมูลที่เรานำมาใช้ในการสืบสวนสอบสวน ซึ่งจากสถิติในการเลือกตั้งปี62 มีคำร้องจำนวน 500 เรื่อง ส่วนคำร้องส่วนท้องถิ่นนั้นมี 7,000 เรื่อง นอกจากนี้เรายังมีเรื่องเงินรางวัลแจ้งข้อมูลเบาะแสทุจริตเลือกตั้งที่มีเงินรางวัลสูงสุด 2 ล้านบาทหลังศาลพิพากษาเรื่อง และการคุ้มครองพยานการเลือกตั้ง ใครที่มาเป็นพยานให้เราเราคุ้มครองให้หมดกว่า 26 รายแล้ว
ร.ต.อ.ชนินทร์ กล่าวอีกว่า ในส่วนที่มีสถิติเรื่องร้องเรียนการกระทำความผิดสูงนั้นด้วยการเลือกตั้งที่ผ่านมามีการแข่งขันที่สูง แต่เราไม่ได้ละเลยการกระทำความผิด เมื่อมีการร้องเรียนที่ไหนเราก็เนินการรับเรื่องมาตรวจสอบหมดจึงทำให้ดูเหมือนมีเรื่องร้องเรียนเยอะ ส่วนจะทำอย่างไรให้ลดน้อยลงเรื่องการร้องเรียนนี้ ประการแรก ต้องทำความเข้าใจกับผู้สมัครและประชาชนว่ากฎหมายมีความชัดเจนอยู่ในระดับหนึ่ง ประการที่สอง การซื้อสิทธิ์ขายเสียงสื่อต้องช่วยสื่อสารว่ามีการลงโทษจริง พวกที่เราจับไม่ได้ไล่ไม่ทันนั้นก็มีอยู่
พ.ต.ต.ณัฐวัฒน์ เสงี่ยมศักดิ์ รองเลขาธิการ กกต. กล่าวบรรยายหัวข้อ “การทำไพรมารีโหวต และค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของผู้สมัครและพรรคการเมือง” ว่า ขณะนี้มีพรรคการเมืองที่ดำเนินกิจกรรมอยู่ 86 พรรค ก่อนการส่งผู้สมัครเลือกตั้งพรรคการเมือง และผู้สมัครต้องเข้าระบบการทำไพรมารีโหวต การมีส่วนร่วมแบบกว้างขวาง ซึ่งต้องมีสาขา ตัวแทน และกรรมการสรรหาของพรรค ข้อห้ามของการทำไพรมารีโหวตพรรคการเมืองต้องเรียกรับทรัพย์สิน หรือสัญญาว่าจะให้ในการเลือกบุคคลเข้ารับสมัคร และไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวของกับพรรคเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำไพรมารีโหวต ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งถ้าเป็นกรณีครบวาระสภารายบุคคลของผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตคนละ 7 ล้านบาท กรณียุบสภาคนละ 1.9 ล้านบาท ส่วนในด้านของพรรคการเมืองกรณีครบวาระสภาค่าใช้จ่าย 163 ล้านบาท และกรณียุบสภา 44 ล้านบาท