จุดอ่อน 'เพื่อไทย-ก้าวไกล' อยู่ที่วาระซ่อนเร้นการเมือง
ส่งสัญญาณออกมาเรียบร้อย “ไทม์ไลน์” ยุบสภาไม่เกินวันที่ 15 มีนาคม และคาดว่าเลือกตั้งวันที่ 7 พฤษภาคม 2566 แสดงว่า คนไทยจะได้ตัดสินอนาคตของประเทศในอีกไม่นาน
โดยเฉพาะการต่อสู้ทางการเมือง ระหว่าง “เบื่อประยุทธ์” กับ “หนุนประยุทธ์” จะหนีพ้น “ประยุทธ์” ได้หรือไม่
เพราะ แม้ ฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า “ประชาธิปไตย” หรือ พรรคร่วมฝ่ายค้าน จะได้กระแส “เบื่อประยุทธ์” จากคนไทยบางส่วนที่ไม่พอใจการบริหารประเทศตลอด 8 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาล พล.อ.ปรยุทธ์ จันทร์โอชา แต่ก็ยังหา “จุดแข็ง” ของตัวเองที่จะเป็น “จุดขาย” ให้ประชาชนเลือกไม่เจอ แถมยังมี “จุดอ่อน” ให้เห็นอีกด้วย
เข้าทำนอง โอกาสมาแล้ว แต่จะฉวยโอกาสได้หรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ที่กล่าวเช่นนี้ ลองมาไล่เรียงดูว่า จริงหรือไม่
เริ่มจากพรรค “แกนนำ” ฝ่ายค้าน อย่าง “เพื่อไทย” ถือว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ “ตระกูลชินวัตร” ลงมาเล่นอย่างเต็มตัว ทั้ง “ทักษิณ ชินวัตร” หรือ “โทนี่ วู้ดซัม” เคลื่อนไหวผ่าน“คลับเฮาส์” ที่อำนวยการสร้างโดย “CARE คิด เคลื่อน ไทย” ของ อดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย หรือ “กลุ่มคนเดือนตุลา” ในคาถา “ทักษิณ” จัดให้ โดยโหนกระแส “เบื่อประยุทธ์” เป็นเป้าโจมตีอย่างต่อเนื่อง
ส่วนในพรรคเพื่อไทย ก็มีการปรับเปลี่ยนกันยกใหญ่ นับแต่ “คุณหญิงอ้อ” พจมาน ดามาพงศ์ ภรรยา “ทักษิณ” เข้ามาจัดการบริหารพรรค จนกลุ่ม “คุณหญิงหน่อย” สุดารัตน์เกยุราพันธุ์ อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรค ต้อง “ถอนสมอ” ออกจาก “เพื่อไทย” รวมทั้งมีการเปลี่ยนหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคตามมา อันถือว่า เจ้าของพรรคตัวจริง เริ่มเข้ามาปัดกวาดบ้านอย่างจริงจัง
เท่านั้นไม่พอ “ไฮไลท์” อยู่ที่ การก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญของ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธารชินวัตร ลูกสาวคนเล็กของ “ทักษิณ” ในฐานะประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย และ “หัวหน้าครอบครัว” พรรคเพื่อไทย ในเวลาต่อมา
ก่อนที่ “สปอร์ตไลท์” จะโฟกัสในฐานะ “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ของพรรคเพื่อไทย
ทั้งยังกลายเป็น “จุดขาย” ใหม่ของพรรคเพื่อไทย ในการดึงฐานเสียง “คนรุ่นใหม่” เข้ามาเป็นส่วนผสม “ฐานเสียงเดิม” ที่มีอยู่ก่อนแล้ว ตั้งแต่แฟนคลับ พรรคไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนที่ยังคิดถึง “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์”
แน่นอน, เกมของพรรคเพื่อไทย ด้านหนึ่งทำให้เห็นว่า “ทักษิณ” ไม่ได้ทอดทิ้งพรรคเพื่อไทย และตระกูลชินวัตร ยังคงสนับสนุนพรรคเพื่อไทย เป็นการการันตีความมั่นคงของพรรค ที่สำคัญ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร แม้ยัง “อ่อนประสบการณ์” ทางการเมือง แต่หลายคนก็ให้น้ำหนักในฐานะตัวแทน “ทักษิณ” หรือ เสมือน “ทักษิณ”
แต่หารู้ไม่ว่า อีกด้านหนึ่ง มันคือ “จุดอ่อน” ที่ “คู่แข่ง” ทางการเมือง แทบไม่ต้องลงทุนลงแรงขุดคุ้ยหา “บาดแผล” มาโจมตีให้ยาก เพราะ “ทักษิณ” ก็คือ “จุดอ่อน” อย่างหนึ่งในการเมืองไทย แม้ว่าจะมี “จุดแข็ง” ในการสร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ และมีคนรักไม่น้อยก็ตาม
โดยเฉพาะการต้องโทษและมีคดีติดตัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีเกี่ยวกับการ “ทุจริตเชิงนโยบาย” ซึ่งคาบเกี่ยวกับการบริหารประเทศ ดังนั้น จึงง่ายที่จะถูก “โจมตี” ในเรื่องการโกงกินของรัฐบาลที่เป็นตัวแทนของ “ทักษิณ” หรือ สืบทอดทายาท “ทักษิณ”
ยิ่งกว่านั้น การคุยโม้คำโตของ “ทักษิณ” เรื่องจะกลับไทย กลับแน่นอน ทั้งกล่าวอย่างอหังการ ว่าจะกลับบ้าน โดยไม่ต้องมีกฎหมายนิรโทษกรรม ไม่ต้องพึ่งพรรคเพื่อไทยส่วนจะกลับเมื่อไหร่ให้ไปถาม “อุ๊งอิ๊ง” หรือ จะบอกผ่าน “อุ๊งอิ๊ง” อะไรทำนองนั้น ก็ยิ่งปลุกคนที่ต่อต้าน “ระบอบทักษิณ” ให้กลับมาอีกครั้ง
กระทั่งที่เป็นหมัดตายน็อก “ทักษิณ” ก็คือ การออกมาแฉชนิด “รายวัน เป็นตอนๆของ “ตู่” จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. หรือ ประธานคนเสื้อแดง หลังจากทั้งคู่ ตัดญาติขาดมิตร “ลูกน้อง-นายใหญ่” กันแล้ว ซึ่งแต่ละตอนล้วนสะท้อนให้เห็นตัวตนของ“ทักษิณ” ว่าคบไม่ได้ เห็นแก่ตัว เห็นแก่ประโยชน์ทางการเมือง ทรยศทุกคน ปล่อยคนเสื้อแดงที่ต่อสู้เพื่อตัวเองให้ติดคุก หลอกลวงจะมาร่วมต่อสู้ถ้าเสียงปืนแตก เอาอำนาจอธิปไตยของประชาชนมาละเลงผลประโยชน์ทับซ้อน ฯลฯ
จนทำเอา “ทักษิณ” กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ตอบโต้ก็ไม่ได้ พูดมากก็ไม่รู้ว่าจะโดนแฉอะไรอีก เพราะ 30 ปีที่ “จตุพร” รับใช้ “ทักษิณ” ยาวนานพอที่จะรู้อะไรจนหมดไส้หมดพุงเลยทีเดียว และดูเหมือน เกี่ยวกับ “ทักษิณ” จับไปตรงไหนก็มีแต่บาดแผล
กลายเป็นว่า ถ้า “อุ๊งอิ๊ง” ก็คือ “ทักษิณ” สิ่งที่น่ากลัว และน่าเป็นห่วงในอนาคตหากได้บริหารประเทศ ก็คือ การทำเพื่อตัวเอง พวกพ้องและวงศ์ตระกูล มากกว่าประชาชน?
โดยสิ่งแรกที่ถูกตั้งคำถามมาตลอดก็คือ การ “พาพ่อกลับบ้าน” โดยไม่ต้องติดคุก และไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แม้ว่าจะมีโทษและคดีติดตัว
สุดท้าย “วาระซ่อนเร้น” ส่วนตัว ปม “พาทักษิณกลับบ้าน” ของพรรคเพื่อไทย กำลังถูกมองว่า ต้องการชนะเลือกตั้งแบบ “แลนด์สไลด์” หรือ “ถล่มทลาย” จนสามารถ “จัดตั้งรัฐบาล” พรรคเดียว ก็เพื่อสิ่งนี้หรือไม่ ไปโดยปริยาย
ส่วน “พรรคก้าวไกล” หรือ พรรคที่ “สืบทอดเจตนารมณ์”อดีตพรรคอนาคตใหม่ หลังจากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ส.ส.ส่วนใหญ่ ก็ย้ายเข้ามาอยู่พรรคนี้
อุดมการณ์พรรค จึงไม่ต่างจากอดีตพรรคอนาคตใหม่ นั่นคือ เปลี่ยนแปลงประเทศ เพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริง?
จากอุดมการณ์พรรคดังกล่าว ทำให้เห็นได้ชัดว่า การทำงานการเมืองของพรรคก้าวไกล ค่อนข้างแตกต่างจากพรรคการเมืองอื่น รวมทั้งการอภิปรายในสภาฯ ก็เช่นกัน
โดยเฉพาะการมุ่งตรวจสอบ งบประมาณของสถาบันฯและกองทัพ การต่อต้านตรวจสอบอำนาจ “คสช.” และรัฐบาลสืบทอดอำนาจ คสช. เป็นต้น
ขณะเดียวกัน แนวทางการเมืองของพรรคก้าวไกล ยังดูเหมือนสอดประสานกับการเคลื่อนไหวชุมนุมเรียกร้อง(ม็อบ)ของ นักเรียน นักศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่ หรือปรากฏการณ์ “สามนิ้ว” แทบจะเป็นเนื้อเดียวกัน
ทำให้พรรคก้าวไกล ถูกมองมาตลอดว่า มีส่วนหนุนหลังการเคลื่อนไหวของ “ม็อบสามนิ้ว” หรือไม่ ยิ่งท่าทีของ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ประธานคณะก้าวหน้า และนายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่เลขาธิการคณะก้าวหน้า สนับสนุนการเคลื่อนไหวของ “ม็อบสามนิ้ว” อย่างชัดเจน ก็ยิ่งตอกย้ำความสัมพันธ์ในเชิงลึก ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีส.ส.ของพรรคบางส่วน ใช้ตำแหน่งส.ส.ในการประกันตัว ผู้ต้องหาที่ถูกดำเนินคดีจากการทำผิดกฎหมายขณะร่วมชุมนุมด้วย
แต่ถึงกระนั้น ก็ยังไม่มีอะไรบ่งชัดมากนักว่า พรรคก้าวไกล มีส่วนเกี่ยวข้อง จนกระทั่งพรรคก้าวไกล ประกาศนโยบายหาเสียง หมวด การเมืองก้าวหน้า หนึ่งในนั้นก็คือ การเสนอแก้ไข ป.อาญา ม.112 หรือ กฎหมายว่าด้วยเรื่องหมิ่นสถาบันฯ และม.116 กฎหมายว่าด้วยความมั่นคง ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ต้องคดีอยู่เป็นจำนวนมาก
นี่เอง ทำให้ “พรรคก้าวไกล” ถูกจับตามองถึง “วาระซ่อนเร้น” ทางการเมืองอยู่เช่นเดียวกัน ว่า “แอบอิง” อยู่กับการชุมนุมของ “ม็อบสามนิ้ว” ที่เรียกร้อง ยกเลิก ม.112 และปฏิรูปสถาบันฯ หรือไม่
จริงอยู่, ทั้งพรรคเพื่อไทย และก้าวไกล ต่างก็มีฐานเสียง ของตัวเอง ซึ่งวาระซ่อนเร้นของทั้งสองพรรค ไม่ถือว่า กระทบกับฐานเสียงแต่อย่างใด ตรงข้ามกลับเป็น “จุดแข็ง” และ “จุดขาย” อีกต่างหาก
แต่กับประชาชนทั่วไป หรือ คนที่ต่อต้าน “วาระซ่อนเร้น” ดังกล่าว ถือว่า เป็น “จุดอ่อน” ของทั้งสองพรรค แทนที่ทั้งสองพรรคจะได้กระแส “สวิง” จากกระแส “เบื่อประยุทธ์” มาเต็มๆ กลับถูก “วาระซ่อนเร้น” บดบัง และลดการ “สวิง” ของกระแส “เบื่อประยุทธ์” ลงไปอย่างมาก
และที่ต้องไม่ลืม ก็คือ ฐานเสียงของพรรค “เพื่อไทย” และ “ก้าวไกล” บางส่วน เป็นฐานเสียงเดียวกัน ที่ต้องแย่งชิงกันด้วย จึงเท่ากับตัดคะแนนกันเอง
ประเด็นที่น่าวิเคราะห์ก็คือ จาก “จุดเริ่ม” หลังมีกระแส “เบื่อประยุทธ์” ที่ดูเหมือนพรรคฝ่ายค้านได้เปรียบ ฝ่ายรัฐบาลอย่างมาก โดยแทบไม่ต้องทำอะไรมาก ก็สามารถ “ขี่กระแส” ไปสู่การเลือกตั้งได้แล้ว
กลับกลายเป็นว่า “ฝ่ายค้าน” เอง ก็มี “ปมเงื่อน” ที่คลายไม่ออกของตัวเอง เป็น “วาระซ่อนเร้น” เป็น “ไฟต์บังคับ” ที่แฝงมากับการต่อสู้ทางการเมือง แม้รู้ทั้งรู้ว่า สวนกระแสประชาชนฝ่ายหนึ่ง และอาจไม่ได้คะแนนในส่วนนี้ไปก็ตาม แต่ก็ต้องยอม
ด้วยเหตุนี้ ทำให้ศึกเลือกตั้งที่ใกล้จะมาถึง เป็นการต่อสู้กันระหว่างขั้ว “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” กับขั้ว “พรรคร่วมรัฐบาล” ที่ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกันมากนัก
ดังนั้นจึงต้องวัดกันที่แต่ละพรรคการเมือง พรรคใดมีทีเด็ดทีขาดของตัวเอง จนได้ที่นั่งส.ส.เข้ามามากกว่ากัน มากกว่าที่จะเป็นชัยชนะของ “ฝ่ายค้าน” หรือ “ฝ่ายรัฐบาล” นั่นเอง