"ก้าวไกล" ปูด "ฝ่ายค้าน-พรรครัฐบาล" จ่อคว่ำ พ.ร.ก.อุ้มหายฯ
"ณัฐวุฒิ ก้าวไกล" แฉ "ฝ่ายค้าน-พรรคแกนนำรัฐบาล" จ่อคว่ำ "พ.ร.ก.อุ้มหายฯ" ลั่นหากไม่ผ่านสภาฯ "นายกฯ" ต้องรับผิดชอบ ลาออก-ยุบสภาฯ หวั่นช่วงเกียร์ว่าง เปิดช่อง จนท.รัฐ ใช้อำนาจมิชอบ ทำประชาชนอยู่ในความเสี่ยง
เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2566 นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 4 ครั้งที่ 31 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ ในวันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 09.30 น. เป็นต้นไป เพื่อพิจารณาเรื่องด่วนพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ.2566 หรือ "พ.ร.ก.อุ้มหายฯ" ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ว่า เป็นความล่าช้าของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นไปโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ที่ส่งพ.ร.ก.มาในวันเกือบสุดท้าย ทั้งที่ออกพ.ร.ก.ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2566
นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า อย่างไรก็ดีเชื่อว่าจะเปิดประชุมได้ หากเปิดให้อภิปรายอย่างเต็มที่ ทุกพรรคการเมืองคงไม่เห็นด้วยกับการซ้อมทรมานและการอุ้มหายที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอีกหลายกรณีตามที่เป็นข่าว ทุกคนไม่อยากให้ชะลอการใช้กฎหมายนี้ เท่าที่ได้ฟังเสียงแกนนำของพรรคร่วมรัฐบาลหลายคนก็เชื่อมั่นว่า จะโหวตไม่เห็นด้วยกับการออกพ.ร.ก.ฉบับนี้ โดยไม่สามารถปฏิเสธหรือหนีความรับผิดชอบได้ เพราะมีเวลาเตรียมตัวมานานแล้ว เมื่อกฎหมายที่มีความสำคัญเช่นนี้ไม่ผ่าน นายกฯ ต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก แต่เนื่องจากระยะเวลากระชั้นและใกล้จะหมดวาระอยู่แล้ว การลาออกหรือการยุบสภาฯ ก็ไม่ได้ต่างกัน จึงต้องไปถามนายกฯ ว่าจะแสดงความรับผิดชอบในแบบใด ที่ทำให้กฎหมายฉบับนี้ล่าช้าออกไปโดยไม่จำเป็นจนส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
เมื่อถามว่า แนวทางการโหวตของพรรคร่วมฝ่ายค้านเป็นอย่างไร นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านได้หารือกันแล้ว และในวันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ แกนนำพรรคฯ จะประชุมกันอีกครั้งหนึ่ง โดยมีจุดยืนคือ การโหวตไม่เห็นชอบกับพ.ร.ก.ฉบับนี้ได้ ด้วย 3 เงื่อนไข คือ 1.การออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 171 วรรคหนึ่ง เรื่องความจำเป็นเร่งด่วนฉุกเฉิน 2.รายละเอียดของความไม่พร้อม เป็นความไม่พร้อมของไม่กี่หน่วยงาน เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ และเทคนิคต่างๆ ซึ่งเรามีข้อมูลว่าหลายเรื่องมีความพร้อมอยู่แล้ว จึงเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น และ 3.แม้การชะลอกฎหมายนี้จะเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ แต่ก็ไม่มีหลักประกันว่าเมื่อถึงว่าที่ 30 กันยายน 2566 ที่รัฐบาลบอกว่าจะให้บังคับใช้ต่อนั้น จะมีข้ออ้างที่ชะลอออกไปอีกหรือไม่
“เรื่องนี้เท่ากับว่า จะทำให้ประชาชนอยู่ในความเสี่ยง ไม่รู้ว่าจะเกิดการจับกุมที่ไม่ชอบด้วยอีกหรือไม่ เราไม่รู้เลยว่าจะเกิดการซ้อมอีกไหม หรือมีคนที่หายไปอย่างไร้ร่องรอยอีกหรือไม่ ทั้งหมดเป็นหลักการพื้นฐานง่ายๆ ว่า ตัวแทนของประชาชนที่รับรู้ปัญหาของประชาชน จะไม่สามารถเห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ได้ นี่คือจุดยืนของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งคงจะรวมถึงส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล จำนวนมาก ทั้งส.ส.ที่อยู่ในจังหวัดภาคใต้ และส.ส.ที่เป็นนักกฎหมายที่เห็นกระบวนการการออกพ.ร.ก.ฉบับนี้ จะไม่สามารถเห็นด้วยได้ และเท่าที่ได้ยินมาทราบว่าแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลยืนยันว่าคงไม่โหวตรับรองพ.ร.ก.ฉบับนี้ สภาฯ ต้องแสดงจุดยืนว่า จะปล่อยผ่านไปไม่ได้จริงๆ ไม่ใช่การฉวยโอกาสล้มรัฐบาล” นายณัฐวุฒิ กล่าว
เมื่อถามว่า หาองค์ประชุมไม่ครบจนไม่สามารถลงมติได้จะเกิดอะไรขึ้น นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า กรณีนี้เป็นการตีความทางกฎหมาย หากองค์ประชุมไม่ครบและรัฐบาลเห็นว่า เรื่องนี้มีความจำเป็นเร่งด่วน รัฐบาลต้องเป็นฝ่ายริเริ่มให้เปิดประชุมสมัยวิสามัญ ซึ่งยังสามารถทำได้อยู่ และเป็นเรื่องที่ต้องทำ แต่ทราบว่ามีหลายฝ่ายพยายามยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ