ตุลาการศาลปกครองยัน คำสั่งทุเลามีผลให้ “สืบพงษ์” นั่งอธิการบดี ม.รามฯ
ตุลาการศาลปกครอง ยืนยันชัด! คำสั่งทุเลามีผลให้ “สืบพงษ์ ปราบใหญ่” ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดี ม.รามคำแหง ต่อ หากสภา ม.รามฯ เพิกเฉย-ทำให้กระทบสิทธิเสียหาย ยื่นขอศาลเรียกไต่สวนให้ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวได้
เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2566 ที่ศาลปกครอง นายประวิตร บุญเทียม ประธานแผนกคดีละเมิดและความรับผิดอย่างอื่นในศาลปกครองสูงสุด กล่าวถึงกรณีที่ นายสืบพงษ์ ปราบใหญ่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ยื่นฟ้อง สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง กรณีมีคำสั่งปลดพ้นจากตำแหน่งอธิกามหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยมิชอบ ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้นายสืบพงษ์ ปฎิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าศาลจะมีตำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น แต่ปรากฎว่า สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ยังไม่ได้ปฎิบัติตามนั้นว่า คดีนี้คำสั่งศาลบอกว่า คำสั่งทุเลามีผลเท่ากับว่าคำสั่งของสภาม.ราม ที่ให้ นายสืบพงษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้ฟ้องคดี พ้นจากตำเเหน่ง ไม่มีผล เท่ากับว่าผู้ฟ้องคดียังปฏิบัติหน้าที่อธิการบดีได้อยู่ ส่วนกรณีที่สภามหาวิทยาลัยรามคำแหงไม่ปฏิบัติตาม โดยนายสืบพงษ์ ได้มาร้องศาลให้ออกคำบังคับ สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาล แต่ศาลไม่ออกให้นั้น นายประวิตร กล่าวว่า เรื่องนี้ศาลมีคำสั่งว่า ถ้านายสืบพงษ์ ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าตนเองได้รับผลกระทบต่อสิทธิหน้าที่ สามารถไปดำเนินการตามบทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไปได้ หมายความว่า สามารถไปเเจ้งความร้องทุกข์ได้
โดยนายประวิตร กล่าวอีกว่า ยืนยันว่าศาลมีอำนาจเรียกเจ้าหน้าที่ หรือหน่วยงานที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลมาไต่สวน เพื่อออกคำบังคับ เเละสั่งให้ดำเนินการหรือปรับได้ ส่วนที่ก่อนหน้านี้ศาลไม่ออกคำบังคับให้นายสืบพงษ์ ตนก็ไม่เเน่ใจว่าผู้ฟ้องคดีอ้างบรรยายเหตุอย่างไรศาลถึงยังไม่เห็นควรให้ไต่สวนหรือออกคำบังคับให้ ทั้งนี้ คำสั่งศาลที่ให้ทุเลา มีผลให้นายสืบพงษ์ ปฏิบัติหน้าที่อธิการมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ยังมีผลบังคับใช้สืบไป เเต่หากว่าผู้ฟ้องเห็นว่าตนเองไม่สามารถทำงานต่อไปได้ หรือคำสั่งของศาลปกครองไม่สัมฤทธิ์ผลจริงๆก็สามารถมายื่นคำร้องขอให้ศาลออกคำบังคับใหม่ได้
“ตามคำสั่งศาลที่ให้ทุเลาคดีนั้น จริงๆผู้ถูกฟ้องต้องปฏิบัติเพราะยังไม่มีการยื่นอุทธรณ์คำสั่งทุเลา ถ้ามีปัญหาเพิ่มขึ้นผู้ฟ้องก็สามารถมาร้องขอให้ศาลมีคำสั่งบังคับใหม่ได้” นายประวิตร กล่าว