ชาย-หญิงเท่าเทียม ทำให้เป็นจริง“ทุกมิติ”

ชาย-หญิงเท่าเทียม ทำให้เป็นจริง“ทุกมิติ”

ประเด็นการ “ลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางสังคมสตรีและเยาวชนได้รับสิทธิเท่าเทียมกับเพศชายทุกมิติ” เป็นแนวคิดที่พรรคการเมืองนำเสนอสู่สาธารณะ

ม.ค. 2565 สหประชาชาติประจำประเทศไทยได้ลงนามในกรอบความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) วาระปี พ.ศ. 2565-2569 กับรัฐบาลไทยเพื่อให้บรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน United Nations Sustainable Development Cooperation Framework Guidance (UNSDCF) ภายใน ค.ศ. 2030 โดยอิงหลักการของสหประชาชาติที่ “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” หลักสิทธิมนุษยชน หลักความเสมอภาคทางเพศ หลักความยั่งยืน และหลักภูมิคุ้มกันต่อวิกฤติ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีประเทศไทย และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13

เป้าหมาย SDGs ข้อที่ 5 คือการบรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรีและเด็กหญิง (Achieve gender equality and empower all women and girls) เพื่อให้ผู้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมกันในทรัพยากรทางเศรษฐกิจและความเสมอภาคทางเพศด้านอื่นๆ ในทุกระดับ ถูกหยิบยกมาพูดถึงมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะ “นโยบาย” ที่ล้อไปกับ “วันสตรีสากล” หรือ International Women’s Day ซึ่งตรงกับวันที่  8 มี.ค.ของทุกปี

ขณะที่รายงานความเท่าเทียมระหว่างเพศ ปี 2565 หรือ Global Gender Gap Report 2022 จัดทำโดย World Economic Forum ที่สำรวจใน 146 ประเทศทั่วโลก พบว่าสัดส่วนผู้หญิงที่เป็นผู้บริหารองค์กรมี 30% สามารถไต่เต้าไปถึงผู้บริหารสูงสุดหรือ CEO 24% เป็นนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรม 53% ทำงานสายเทคโนโลยี 5% แต่ทำได้ดีในอุตสาหกรรมการเงิน ดูได้จากผู้บริหารหญิงที่เป็น CFO ปัจจุบันมี 43% คาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้าจะขยับเพิ่มขึ้นเป็น 30% 

ช่วงนี้จะเห็นว่าประเด็นการ “ลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางสังคมสตรีและเยาวชนได้รับสิทธิเท่าเทียมกับเพศชายทุกมิติ” เป็นแนวคิดที่พรรคการเมืองนำเสนอสู่สาธารณะไล่เรียงจาก “พลังประชารัฐ” ที่ขายแนวคิดเพิ่มพื้นที่และโอกาสการทำงานของผู้หญิง ความเท่าเทียมทางเพศทุกช่วงวัย ทุกสาขาอาชีพ และทุกศาสนา เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่วน “ชาติไทยพัฒนา” บอกว่าจะสนับสนุนทุกเพศหากความสามารถตรงกับงาน และ “ก้าวไกล” เปิด 10 นโยบายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ ขณะที่ “ประชาธิปัตย์” สร้าง “โอกาสทุกคนเท่ากันเท่าเทียมทุกมิติ"

อย่างไรก็ตามการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น จำเป็นต้องสร้างระเบียบทางสังคม ผลักดันนโยบายและกฎหมาย ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและโครงสร้างที่เอื้อต่อการทำงานของผู้หญิง ออกแบบหลักสูตรการศึกษาที่ผู้หญิงและผู้ชาย สามารถเรียนรู้การงานและลงมือทำในทักษะทุกด้านโดยไม่จำกัดและไม่เกี่ยงเพศ รวมไปถึง LGBTQ+ และ Inclusiveness  ซึ่งประเทศไทยมีแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาสตรีแห่งชาติ (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งจะเปิดโอกาสให้สตรีทุกช่วงวัย ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สามารถยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีต่อตนเอง ครอบครัวและชุมชนได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งมีส่วนร่วมพัฒนาแล้วด้วยการใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้ “ชาย-หญิง” เท่าเทียมเป็นจริงได้ “ทุกมิติ”