จุดเปลี่ยน "ลดเพดาน" ร่วมรัฐบาล “ก้าวไกล” สกัด "พลังป้อม" ดีลเพื่อไทย
"...เพราะฉะนั้นกลเกมของก้าวไกลตอนนี้มีแค่สองหน้าคือ 1.กวาด ส.ส.ให้เยอะที่สุด 2.บลัฟเพื่อไทยไม่ให้ไปร่วมมือกับพรรคสืบทอดอำนาจ 2 ลุงให้ได้ หากทำได้ตามนี้ ก็มีโอกาสร่วมจัดตั้งรัฐบาลครั้งหน้าสูง..."
เรียกได้ว่ากำลังแฮปปี้อย่างสุด ๆ สำหรับ พลพรรคสีส้ม เมื่อได้เสียงครวญเพลงจาก ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็น “กาวใจ” เคลียร์เกาเหลาระหว่าง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และ ปิยบุตร แสงกนกกุล ทำให้องคาพยพ “ก้าวไกล-ก้าวหน้า” กลับมาเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว นำพายุทธศาสตร์แยกกันเดิน-ร่วมกันตีได้อีกครั้ง
หลังจากก่อนหน้านี้ ห้ำหั่นกันตั้งแต่ในที่ลับตา ลามมาประจานลงโซเชียลมีเดีย จนทำให้กองเชียร์อกสั่นขวัญแขวนกันว่า พรรคจะแตกหรือไม่
เบื้องลึกฉากหลังกรณีนี้ ว่ากันว่า เกิดจากการหารือตำแหน่งแห่งที่ และบทบาทของแกนนำพรรคไม่ลงตัว รวมถึงการจัดสรรตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่แต่ละคน ต่างก็มีกลุ่มขั้วของตัวเองมาลง แต่ไม่เพียงพอ
เพราะพื้นที่ปลอดภัยของ “พรรคก้าวไกล” มีการประเมินกันภายในแล้วว่า มากสุดอยู่ลำดับที่ 15-18 หากมากกว่านั้น อาจมีแวว “สอบตก” ค่อนข้างสูง
ส่วน ส.ส.แบบแบ่งเขต แม้ “ก้าวไกล” จะส่งผู้สมัครลงครบ 400 เขต แต่ภายในประเมินกันแล้วว่า น่าจะได้ราว 30 ที่นั่ง ดังนั้นหากรวมกับ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จะขน ส.ส.เข้าสภาได้ไม่เกิน 50 เสียง
แกนนำคนสำคัญของพรรคบางคน เคยบอกว่า 50 เสียงถือว่าค่อนข้างมาก และสามารถร่วมจัดตั้งรัฐบาลครั้งหน้าได้ เพราะในระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ยอมรับว่า “พรรคเพื่อไทย” ได้ประโยชน์ค่อนข้างสูง และคาดว่าจะกวาด ส.ส.เข้าสภาได้มากกว่า 200 คน แต่เชื่อว่าคงไม่แลนด์สไลด์ถึง 250 คน
ดังนั้น หากพิจารณาจากสูตรการจัดตั้งรัฐบาลในมุมของพรรคก้าวไกล ที่ยืนยันหนักแน่นว่า จะไม่จับมือกับพรรค 2 ป. คือ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จึงเหลือแค่ “พรรคฝ่ายค้าน” ในปัจจุบันเท่านั้นที่ “ก้าวไกล” พอจะจับมือด้วยได้
ตัวแปรสำคัญของพรรคก้าวไกลในการร่วมจัดตั้งรัฐบาล จึงหนีไม่พ้นร่วมมือกับ “พรรคเพื่อไทย” หากยังหวังจะ “สานฝัน” นโยบายที่หาเสียงเอาไว้ โดยเฉพาะประเด็น “ทะลุเพดาน” ทั้งเรื่องแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และการปฏิรูปกองทัพ-ตำรวจ
ดังนั้น จุดเปลี่ยนของก้าวไกล และก้าวหน้า จึงจำเป็นต้องลดเพดานบางอย่าง โดยละเว้นประเด็นอ่อนไหว ที่จะถูกนำมาขยายผลในการเลือกตั้ง ลงมาลุยนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม เป็นหลัก
ยุทธศาสตร์ของพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้ง 2566 คือ ความพยายามกวาด ส.ส.ให้ได้มากที่สุดก่อน เพื่อต่อรองกับ “พรรคเพื่อไทย” ในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งหน้าให้ได้
ในอีกทางหนึ่งก็ต้องพยายาม “บลัฟ” ไม่ให้เกิดการ “เกี๊ยะเซียะ” จัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกันระหว่าง “นายใหญ่” และ “บ้านป่ารอยต่อฯ”
ที่เห็นได้ชัดคือการยกพล พรรคสีส้ม เหยียบเมืองหลวงคนเสื้อแดง จ.อุดรธานี “ปิยบุตร” ปราศรัยตอนหนึ่ง พาดพิงถึง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวหาว่า มีบทบาทสำคัญในการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553
หวังปลุกเร้าให้ “คนเสื้อแดง” รับรู้ว่า หาก “เพื่อไทย” ปันใจไปต่อรองทำ “ซูเปอร์ดีล” กับ “ค่ายป่ารอยต่อฯ” ให้เทคะแนนมายัง “ก้าวไกล” ทันที
เรียกได้ว่าเกมนี้มีแต่ “ได้กับได้” แทบไม่มีเสีย โดยเฉพาะบรรดา “แดงก้าวหน้า” ที่ไม่ใช่แฟนคลับ “ชินวัตร” อาจลังเลจนสุดท้ายเผลอใจเทคะแนนให้ “ค่ายสีส้ม” ได้
แต่ต้องไม่ลืมว่า ที่ผ่านมา “ก้าวไกล” ถูกโดดเดี่ยวจากทุกพรรค ไม่เว้นแม้แต่พรรคร่วมฝ่ายค้านด้วยกัน เนื่องจากนโยบายที่ชนกับ “กลุ่มทุนยักษ์ใหญ่” แต่ปัญหาหลักคือ ความพยายาม “ทะลุเพดาน” และการสนับสนุน “ม็อบ 3 นิ้ว” ทำให้หลายพรรคไม่อยากสังฆกรรม เพราะกลัวโดนหางเลขไปด้วย
ยุทธศาสตร์เดียวของ“ก้าวไกล” คือการกวาดเก้าอี้ ส.ส.ให้ได้มากที่สุด เพื่อต่อรองร่วมรัฐบาล ตรงกับการวิเคราะห์ของ “ปิยบุตร” ในช่วงที่ยังเกาเหลากับ “พิธา” ที่เคยบอกว่า หากพรรคก้าวไกลได้ ส.ส.ต่ำ 30 เรียกได้ว่าปิดประตูร่วมรัฐบาล เตรียมเป็นฝ่ายค้านได้เลย ถ้าได้ราว 50 เสียงขึ้นไปอาจเข้าไปร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่หากขึ้นถึง 70-80 เสียง พรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับหนึ่ง คงไม่อาจปฏิเสธเชิญพรรคก้าวไกลไปร่วมรัฐบาลได้
เพราะฉะนั้นกลเกมของก้าวไกลตอนนี้มีแค่สองหน้าคือ 1.กวาด ส.ส.ให้เยอะที่สุด 2.บลัฟเพื่อไทยไม่ให้ไปร่วมมือกับพรรคสืบทอดอำนาจ 2 ลุงให้ได้ หากทำได้ตามนี้ ก็มีโอกาสร่วมจัดตั้งรัฐบาลครั้งหน้าสูง
อย่างไรก็ดี บนหน้ากระดานการเมือง รุก-รับ ผันแปรได้ตลอดเวลา ต้องรอลุ้นช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันกาบัตรว่า สถานการณ์จะแปรเปลี่ยนไปอย่างไรอีกบ้าง