"สนธิรัตน์" ชู บันได 4 ขั้น กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น แนะปลดล็อค 8 ปี อปท.
"สนธิรัตน์" ชู บันได 4 ขั้น กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ชี้ เทศพาณิชย์-วิสาหกิจท้องถิ่น สร้างรายได้ แนะปลดล็อค 8 ปี อปท.เพราะ คนทำดี ต้องได้รับการสนับสนุน ไม่ห่วงสร้างอิทธิพล
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานยุทธศาสตร์การเมืองพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)ตอนหนึ่งในวงเสวนาบทบาทท้องถิ่นกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่จัดขึ้นโดย กรุงเทพธุรกิจ ว่า ท้องถิ่นคือหัวใจสำคัญในการแข่งขันระดับประเทศมองเป็นมหาภาพท้องถิ่นคือกลไก ที่จะเข้ามาค้ำจุนการแข่งขันของประเทศ พรรคพลังประชารัฐมีบันได 4 ขั้นในการบริหารจัดการส่วนท้องถิ่น 1 การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น กระจายการตัดสินใจสู่ อปท. ซึ่งการกระจายอำนาจดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2542 มาจนถึงปัจจุบัน แต่อยู่ในรูปแบบของการควบคุมหรือการตัดสินใจ อยู่ที่ส่วนกลางและภูมิภาค ซึ่งเราจะลดอำนาจ และให้การตัดสินใจให้กลับไปสู่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น( อปท.) เนื่องจากใกล้ชิดกับประชาชน และรู้ความต้องการของประชาชน เพื่อนำเสนอนโยบายสาธารณะ อีกทั้งยังจะส่งเสริมความเป็นเจ้าของอำนาจประชาธิปไตยด้วยการบริหารจัดการในส่วนของท้องถิ่น ในขณะที่ส่วนกลางจะทำหน้าที่กำหนดกรอบระบบและวางยุทธศาสตร์ในส่วนของภูมิภาคจะไม่เข้าไปแทรกแซงจะทำหน้าที่แค่คอยประสานและนำ
บันไดขั้นที่ 2 คือการกระจายอำนาจ คือการจัดงบประมาณใหม่ให้ อปท.ซึ่งพรรคพลังประชารัฐจะผลักดันให้ได้ 35% เพื่อเป็นการส่งเสริมท้องถิ่นในการบริหารจัดการงบด้วยตัวเอง ส่วนของงบอุดหนุนเฉพาะกิจซึ่งกระจุกอยู่ในส่วนกลางในขณะที่ท้องถิ่นต้องวิ่งเต้นเพื่อนำพบตรงนี้ไปสู่การพัฒนา ก็จะมีการจัดงบอุดหนุนเฉพาะกิจไปสู่การจัดการบริหารส่วนท้องถิ่น
3 องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นพิเศษ ต้องยอมรับว่า อปท.จัดเก็บงบประมาณได้น้อยมากงบประมาณในสัดส่วน 29-27% อปท.เก็บได้เพียง 10% ที่เหลือมาจากรัฐจัดเก็บให้เงินเป็นเงินอุดหนุน ดังนั้นจะมีการปรับรูปแบบพิเศษ
4.การหารายได้เข้าท้องถิ่น ด้วยกันส่งเสริมการเก็บภาษีในพื้นที่ เช่น อสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย กิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ภาษีที่พักอาศัย การท่องเที่ยว การพัฒนาพื้นที่พิเศษ การส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่ง พปชร.ได้คิดการแปรรูปไฟฟ้าท้องถิ่นเหมือนกับประเทศเยอรมันเพื่อปลดเอกไฟฟ้าสาธารณะจากนายทุน และเตรียมจะผลักดันเป็นนโยบายในเร็วๆนี้
ทั้งนี้นายสนธิรัตน์ ยังเห็นด้วยที่จะเปิดโอกาสให้ อปท.ได้จัดทำกิจกรรมสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองในรูปแบบเทศพาณิชย์หรือวิสาหกิจท้องถิ่น เพื่อให้สามารถยืนได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องรอเงินอุดหนุนจากภาครัฐ อีกทั้งยังเป็นการรองรับ โลกการค้ายุคใหม่ และนำผลประกอบการที่ได้กระจายไปสู่ประชาชนในท้องถิ่น
แต่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายปัจจุบันที่กำหนดวาระผู้บริหารท้องถิ่นไม่เกิน 2 สมัยหรือ 8 ปี เนื่องจากมองว่าองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นใกล้ชิดประชาชนหากผู้บริหารทำดี ก็ควรได้รับการสนับสนุน เพื่อได้สานต่องานได้ต่อเนื่อง โดยไม่ต้องห่วงในเรื่องของการสร้างอิทธิพล ถ้าหากทำไม่ดีประชาชนก็ไม่เลือกเอง