เช็กที่นี่! กกต.เปิดสเปก-ลักษณะต้องห้ามผู้สมัคร ส.ส.ก่อนเปิดรับ 3-7 เม.ย.
เช็กได้ที่นี่! กกต.เปิดคุณสมบัติ-ลักษณะต้องห้าม ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต-บัญชีรายชื่อ ก่อนเปิดรับจริง 3-7 เม.ย.นี้
เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2566 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เผยแพร่คุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ผู้สมัคร ส.ส. หลังกำหนดให้วันเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 และกำหนดวันสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ระหว่างวันที่ 3-7 เม.ย. 2566 และวันที่ 4- 7 เม.ย. 2566 เวลา 8.30 -16.30 น. เป็นวันสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ โดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 41 และ มาตรา 42 บัญญัติคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.
โดยคุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 41 กำหนดว่า (1)ต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิด (2) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบห้าปีนับถึงวันเลือกตั้ง (3)เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแต่เพียงพรรคการเมืองเดียวเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในกรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไปเพราะเหตุยุบสภาระยะเวลา 90 วันดังกล่าวให้ลดลงเหลือ 30 วัน และผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง คือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5ปี นับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง หรือเป็นบุคคลซึ่งเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง หรือเคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีการศึกษา หรือเคยรับราชการหรือปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ หรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง แล้วแต่กรณีเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี
ส่วนลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 42 คือ (1) ติดยาเสพติดให้โทษ (2)เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต (3)เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ (4)เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช (5)อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ (6)วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ (7)อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (8)ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล (9)เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ (10)เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
(11)เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิด ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (12)เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญาความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน (13)เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
นอกจากนั้น (14) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง (15)เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (16)เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกินสองปี (17)เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ (18)เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ (19)อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (20)เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีการเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำด้วย ประการใด ๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือ ทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย และ (21)เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาว่าเป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง