แดง-ส้ม ชิง"15.5 ล้านเสียง" เดิมพัน“ทักษิณ-ธนาธร”
ไม่แปลกที่ “ทักษิณ-ธนาธร” จะเปิดศึก เนื่องจากการเลือกตั้งที่จะถึง มีเดิมพันการกลับบ้าน มาเหยียบแผ่นดินไทยของ “ทักษิณ” ฝั่ง “ธนาธร” ก็เดิมพันอนาคตของพรรคก้าวไกล จะสามารถต่อยอดความสำเร็จได้มากน้อยเพียงใดเช่นกัน
เมื่อพรรคเพื่อไทยขยับเป้าตัวเลข ส.ส.จากแลนด์สไลด์เกินครึ่ง 253 ที่นั่ง เป็นซูเปอร์แลนด์สไลด์ 310 ที่นั่ง หวังจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว เพื่อบีบ 250 ส.ว. โหวตเลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากเสียงของประชาชน
แต่ตัวเลข 253 ที่นั่งว่ายากแล้ว ตัวเลข 310 ที่นั่ง แทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องรุกกินแดน ขั้วประชาธิปไตย-ขั้วอนุรักษ์นิยมด้วย จึงจะสมหวัง ทว่าแฟนพันธุ์แท้การเมืองมักไม่ข้ามฝั่ง แม้จะมีความเป็นไปได้อยู่บ้าง แต่โอกาสได้แต้มข้ามขั้วจะมีน้อยมาก
โดย “หมอชลน่าน” นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประกาศเอาไว้ว่า เป้าหมาย 310 ที่นั่ง แบ่งเป็น ส.ส.เขต 250 ที่นั่ง นั่นหมายความว่าจะต้องกวาด ส.ส. ในพื้นที่ฐานเสียง อาทิ ภาคอีสาน ภาคเหนือ แบบยกภาค แล้วยังต้องรุกพื้นที่ภาคกลาง-ภาคใต้ ให้ได้ด้วย
สำหรับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อไทยตั้งเป้าไว้ 60 ที่นั่ง ซึ่งต้องกวาดคะแนนป็อบปูลาร์โหวตอย่างน้อย 20 ล้านเสียง โดยพรรคตระกูลชินวัตร เคยทำได้มากที่สุดในการเลือกตั้งปี 2548 พรรคไทยรักไทยได้ 18,993,073 คะแนน แต่การเมืองในยุคนั้นพรรคประชาธิปัตย์ เป็นคู่แข่งหลักเพียงพรรคเดียว
ต่างจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ “ทักษิณ-เพื่อไทย” มีพรรคจากขั้วเดียวกันมาหารแต้มที่เรียกได้ว่าพื้นที่ฐานเสียงเดียวกัน เทียบดูได้จากการเลือกตั้งปี 2562 พรรคที่เรียกตัวเองว่า “ขั้วประชาธิปไตย” มีคะแนนเสียงรวมกัน 15.5 ล้านเสียง
ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 7,920,630 เสียง (ส่งผู้สมัครไม่ครบ 350 เขต) อดีตพรรคอนาคตใหม่ (พรรคก้าวไกล) 6,265,950 เสียง (ไหลมากจากอดีตพรรคไทยรักษาชาติราวๆ กว่า 2 ล้านเสียง) พรรคเสรีรวมไทย 826,530 เสียง พรรคประชาชาติ 485,436 เสียง พรรคเพื่อชาติ 419,393 เสียง และพรรคพลังปวงชนไทย 81,733 เสียง
เมื่อชำแหละเสียงของพรรคเพื่อไทย บวกรวมกับอดีตพรรคไทยรักษา ซึ่งเป็นพรรคเครือข่ายการถูกคำสั่งยุบพรรค พอเฉลี่ยได้ว่าแต้มการเมืองของพรรคเพื่อไทยจะอยู่ราว 12 ล้านเสียง ซึ่งยังห่างไกล 20 ล้านเสียงที่คาดหวังเอาไว้
อย่างไรก็ตาม เมื่อตั้งโจทย์ว่าแต้มการเมืองมักจะไม่ข้ามขั้ว ทางเดียวของ “ทักษิณ-เพื่อไทย” ที่จะสานฝันซูเปอร์แลนด์สไลด์ต้องแย่งแต้มการเมืองจาก “ขั้วประชาธิปไตย” เป้าหมายหลักโฟกัสไปที่แต้มการเมืองของพรรคก้าวไกล (ก.ก.)
ทว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ก่อตั้งอดีตพรรคอนาคตใหม่ รวมถึง “ทีมโปลิตบูโร” ย่อมรู้ดีกว่าหาก “ทักษิณ-เพื่อไทย” ปลุกแลนด์สไลด์ย่อมกระทบกับพรรคก้าวไกลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แนวทางการหาเสียงของ “ก้าวไกล” ในระยะหลังจึงมุ่งเน้นโจมตีพรรคเพื่อไทย เริ่มจาก "ปิยบุตร แสงกนกกุล" ออกมาเปิดแผน “ทักษิณ-เพื่อไทย” เตรียมจับมือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เพื่อยืมเสียง ส.ว. โหวต “ประวิตร” นั่งนายกฯคนที่ 30 ขยายแผลชิงแต้ม “เสื้อแดง”
ต่อมา “ธนาธร” ชำแหละ “กลุ่มบ้านใหญ่” ที่ย้ายเข้าย้ายออกบางพรรค บางโอกาสสนับสนุนรัฐประหาร บางโอกาสกระโดดย้ายฝั่ง พร้อมตอกย้ำภาพเผด็จการจำแลง แม้จะไม่ระบุชัดว่า โจมตีเข้ากล่องดวงใจพรรคใด
แต่งานนี้มีคนร้อนตัว โดย “ทักษิณ” ออกมาซัดกลับทันควันว่า “ผมงงมาก ธนาธร ยังโจมตีเพื่อไทย ที่คนบอกว่า ก้าวไกลเหมือนประชาธิปัตย์ ก็จะชักจะเหมือนขึ้นทุกวัน” เจตนาของ “ทักษิณ” พยายามดิสเครดิต “ธนาธร-ก้าวไกล” คืน พร้อมทิ้งบอมบ์หวังกระชากแต้มจากพรรคก้าวไกล
ศึกชิงระหว่าง “เพื่อไทย” VS “ก้าวไกล” คงต้องประชันกันอีกหลายยก เพราะในสนามเลือกตั้งการแย่งคะแนนในขั้วเดียวกัน เป็นเดิมพันของทั้งสองพรรค
โดยเฉพาะพื้นที่โซนเมือง ประกอบด้วย กทม. และพื้นที่เขต 1 ตามหัวเมืองหลัก อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น อุดรธานี เป็นต้น กระแสนิยมของพรรคก้าวไกลเริ่มพุ่งสูงขึ้น สวนทางกับพรรคเพื่อไทยที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
จึงไม่แปลกที่ “ทักษิณ-ธนาธร” จะเปิดศึก เนื่องจากการเลือกตั้งที่จะถึง มีเดิมพันการกลับบ้าน มาเหยียบแผ่นดินไทยของ “ทักษิณ” ฝั่ง “ธนาธร” ก็เดิมพันอนาคตของพรรคก้าวไกล จะสามารถต่อยอดความสำเร็จได้มากน้อยเพียงใดเช่นกัน