ปลัด มท.สั่งอำนวยความสะดวกทำ “บัตรชมพู” สำหรับ “แรงงานต่างด้าว” ประมง

ปลัด มท.สั่งอำนวยความสะดวกทำ “บัตรชมพู” สำหรับ “แรงงานต่างด้าว” ประมง

“ปลัดมหาดไทย” สั่งอำนวยความสะดวกในการทำ “บัตรประจำตัวสีบัตรชมพู” สำหรับ “แรงงานต่างด้าว” ในกิจการประมงทะเล 4 สัญชาติเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงอย่างเต็มที่ตามนโยบายรัฐบาล

เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2566 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยได้หารือกรณีปัญหาเรื่อง การออกบัตรชมพู ให้กับกลุ่มแรงงานต่างด้าว ตามมาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ในคราวประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ. 2566 เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 จากกรณีดังกล่าว กระทรวงมหาดไทย ได้ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาต ให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อทำงานกับนายจ้างในกิจการประมงทะเล ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565 มีผลทำให้ คนต่างด้าวกลุ่มดังกล่าวซึ่งเป็นแรงงานในกิจการประมงทะเลอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 เพื่อดำเนินการรับหนังสือคนประจำเรือ ซึ่งสามารถไปดำเนินการจัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรชมพู) ได้ที่ สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ศูนย์บริหารการทะเบียนภาคสาขาจังหวัด หรือสถานที่อื่นที่กรมการปกครองกำหนดได้ ในวันและเวลาราชการเป็นการปกติ โดยไม่ได้มีการกำหนดห้วงเวลาดำเนินการ และไม่ได้ส่งผลกระทบในเรื่องการดำเนินการออกบัตรชมพูล่าช้าแต่อย่างใด

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานบนเรือประมงเป็นอย่างมาก พร้อมทั้งได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานเร่งบูรณาการหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมาสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยได้ยื่นหนังสือ ขอให้มีการใช้มาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ได้ปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 3 เดือน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคประมงทะเล จำนวน 30,000 – 50,000 ราย ประกอบกับคนต่างด้าวที่ได้รับการต่ออายุหนังสือคนประจำเรือตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 จำนวน 1,818 คน จะทยอยหมดอายุเดือนพฤษภาคม – กันยายน 2565 จึงได้เสนอเพื่อเปิดใช้อำนาจ ม.83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ให้แรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย สามารถทำงานในเรือประมงได้อย่างถูกต้อง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคประมงทะเล 
    
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ผลักดันเสนอเข้าที่ประชุมครม.กระทั่ง ครม. ได้มีมติเมื่อวันอังคารที่ 14 มิถุนายน 2565 อนุมัติในหลักการ “ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง พ.ศ. … และร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม สามารถมายื่นคำขอรับหนังสือคนประจำเรือเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และทำงานกับนายจ้างในกิจการประมงทะเลจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ปลัด มท.สั่งอำนวยความสะดวกทำ “บัตรชมพู” สำหรับ “แรงงานต่างด้าว” ประมง

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวอีกว่า ในปัจจุบันได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือ คนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง พ.ศ. 2565 โดยเจ้าของเรือสามารถนำแรงงานต่างด้าวไปยื่นคำขอ หนังสือคนประจำเรือได้ปีละ 2 ครั้ง ๆ ละ 3 เดือน คือในระหว่างวันที่ 1  เมษายน - 30 มิถุนายน และระหว่างวันที่ 1 กันยายน - 30 พฤศจิกายนนั้น โดยที่ประชุมมีมติให้ประสานกระทรวงมหาดไทย เพื่อหาแนวทาง ให้มีการเปิดทำบัตรชมพูได้ปีละ 2 ครั้ง เช่นเดียวกับประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือ ตามกฎหมายว่าด้วยการประมง พ.ศ. 2565 ซึ่งกระทรวงมหาดไทย ได้มีประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาต ให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อทำงานกับนายจ้างในกิจการประมงทะเล ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565 และได้แจ้ง ให้ทุกจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วยแล้ว 

นายสุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับ วัตถุประสงค์เพื่อให้ คนต่างด้าวกลุ่มดังกล่าว ซึ่งเป็นแรงงานในกิจการประมงทะเลอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 เพื่อดำเนินการรับหนังสือคนประจำเรือตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับดังกล่าว โดย แรงงานกลุ่มดังกล่าวสามารถไปดำเนินการจัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรชมพู) ณ สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ศูนย์บริหารการทะเบียนภาคสาขาจังหวัด หรือสถานที่อื่นที่กรมการปกครอง กำหนดได้ในวันและเวลาราชการเป็นการปกติ ไม่ได้มีการกำหนดห้วงเวลาดำเนินการแต่อย่างใด

“เพื่อเป็นการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในเรือประมงอย่างเร่งด่วนและอำนวยความสะดวก ในการขอรับหนังสือคนประจำเรือของแรงงานต่างด้าว ขอให้แรงงานต่างด้าวที่จะมาขอหนังสือคนประจำเรือจะต้องมีใบรับรองการตรวจสุขภาพรวมถึงการตรวจโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมการประกันสุขภาพ หนังสือสัญญาจ้างในงานประมงทะเลครอบคลุมการสัมภาษณ์คนต่างด้าวโดยมีเจ้าหน้าที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ตรวจสอบความถูกต้องและลงลายมือชื่อกำกับ พร้อมรูปถ่ายสี ครึ่งตัว หน้าตรงไม่สวมหมวกและแว่นดำ ขนาด 1.5 x 2 นิ้ว ถ่ายมาแล้วไม่เกิน 1 เดือน จำนวน 3 รูป และเมื่อยื่นคำขอแล้วจะได้รับใบรับคำขอ เพื่อนำไปเป็นหลักฐานในการยื่นขอจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัด ภายใน 15 วัน พร้อมทั้งขอจัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยกับกรมการปกครอง ซึ่งใบรับคำขอนี้ไม่อนุญาตให้ใช้แทนหนังสือคนประจำเรือ และเมื่อจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลเรียบร้อยแล้วให้นำหลักฐานมารับหนังสือคนประจำเรือพร้อมชำระค่าธรรมเนียม 100 บาท จึงจะสามารถนำแรงงานออกทำการประมงได้” ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าว

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวด้วยว่า การผ่อนผันให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงาน และการที่ กรมการปกครอง จัดทำบัตรประจำตัวคนไม่มีสัญชาติไทย (บัตรชมพู) ให้นั้น จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่ทำงานบนเรือประมง ทั้งยังใช้เป็นเอกสารประจำตัวที่ประกอบการขอรับบริการสาธารณะต่าง ๆ อาทิ ประกันสุขภาพ ประกันสังคม เป็นการช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงการใช้แรงงานผิดกฎหมาย การใช้แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ในภาคประมง รวมถึงการมีเอกสารประจำตัว ทำให้ลดความเสี่ยงในการเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลมีฐานข้อมูลบุคคลที่อยู่ในราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์ด้านความมั่นคงของประเทศ นอกจากนี้ การเปิดให้แรงงานต่างด้าวขอหนังสือคนประจำเรือ (Seabook) ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้แรงงานต่างด้าวได้รับการคุ้มครองและสวัสดิการตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศไทย สอดรับกับตัวชี้วัด SDGs ข้อที่ 16 ข้อย่อยที่ 16.9 จัดให้มีอัตลักษณ์ทางกฎหมาย (Legal Identity) สำหรับทุกคน ทำให้เกิดการส่งเสริมการจ้างงานกระตุ้นเศรษฐกิจให้ผู้ประกอบการภาคประมงสามารถประกอบอาชีพทำการประมงได้อย่างไม่ต้องกังวลใจ เนื่องจากการติดขัดปัญหาในด้านการดำเนินการที่ไม่คล่องตัว ก่อให้เกิดความมั่นคง และความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการประมงในระยะยาวต่อไป