31 พรรคเว้น พปชร.-รทสช.ลงนามจรรยาบรรณหาเสียงเลือกตั้ง 66
31 พรรค เว้น “พปชร.-รทสช.” ร่วมลงนามจรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้ง 66 รวมภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย-ภาคประชาสังคม เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริตเที่ยงธรรม สร้างเสถียรภาพทางการเมือง
เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2566 ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ภาคประชาสังคม องค์กรสื่อ และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีการจัดพิธีลงนาม "จรรยาบรรณการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566" และ "สัญญาที่พรรคการเมืองขอให้ไว้แก่ประชาชน พ.ศ. 2566" โดยมีตัวแทนพรรคการเมืองมาร่วมลงนามจรรยาบรรณฯ ครั้งนี้ ทั้งหมด 31 พรรค ยกเว้นพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)
นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวเปิดงานว่า การร่วมลงนามในจรรยาบรรณครั้งนี้ ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่แสดงให้เห็นถึงความเห็นพ้องต้องกันของพรรคการเมืองที่จะทำให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และยังเป็นการวางรากฐานของกระบวนการติดตามตรวจสอบการเลือกตั้ง โดยภาคประชาสังคม ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของ กกต.ที่เห็นว่าประชาธิปไตยเป็นของประชาชนทุกคนในชาติ ทุกคนจึงต้องเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองเพื่อธำรงรักษาและทำให้ประชาธิปไตยงอกงามต่อไป ทั้งนี้หวังว่า พรรคการเมืองและว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะยึดมั่นในจรรยาบรรณการหาเสียงที่ได้ลงนามร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์ให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตตามมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ
จากนั้น ผู้แทนจากพรรคการเมืองร่วมกันอ่าน"จรรยาบรรณหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566" และผู้แทนจากพรรคการเมืองพร้อมด้วยสักขีพยานร่วมลงนามในจรรยาบรรณฯ ทั้งนี้สำหรับเนื้อหาของจรรยาบรรณฯ คือ เพื่อให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม กกต.ต้องปฏิบัติต่อพรรคการเมืองทุกพรรค และผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกคนอย่างเท่าเทียม รวมทั้งการหาเสียงทางสื่อสังคมออนไลน์และการหาเสียงที่เป็นมิตรต่อผู้หญิงและบุคคลทุกเพศสภาพ ส่วนสัญญาที่พรรคการเมืองขอให้ไว้แก่ประชาชน พ.ศ. 2566
เป็นกรณีที่พรรคการเมืองเห็นพ้องกันว่า ไม่ว่าใครจะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล สิ่งที่ต้องทำร่วมกันเป็นสาระสำคัญเพื่อสร้างเสถียรภาพ การฟื้นฟูประชาธิปไตย และการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อาทิ การพูดคุยสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและการรวมกลุ่มของประชาชน การลดความเหลื่อมล้ำในทุกด้าน โดยเฉพาะด้าน เศรษฐกิจ ดูแลผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ การสนับสนุนให้แรงงานนอกระบบทุกกลุ่มเข้าสู่ระบบการประกันสังคม อย่างครอบคลุมและทั่วถึง รวมทั้ง การกำกับดูแลไม่ให้สมาชิกของพรรคการเมืองที่เป็นข้าราชการการเมืองใช้ ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบเพื่อให้คุณหรือให้โทษแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และให้เคารพความเป็นกลางของข้าราชการประจำ เป็นต้น