ผ่าทีม กทม. "33 เขต"เพื่อไทย โพลยกแรก ใครลุ้น-ใครเหนื่อย
“แกนนำ กทม.” พรรคเพื่อไทย ที่ประเมินจากผลโพลของพรรคเอง แม้เป้าของพรรคเพื่อไทยจะวางเอาไว้ 20 ที่นั่ง แต่ผลโพลขณะนี้ โอกาสได้ลุ้นอยู่ที่ 15-18 ที่นั่ง ดังนั้นจึงอยู่ที่กลยุทธ์เก็บแต้มในช่วงโค้งสุดท้าย จะขยับปรับเปลี่ยนอย่างไร
พรรคเพื่อไทยยกทีมว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. ทั้ง 33 เขต มาเปิดตัว พร้อมโชว์วิสัยทัศน์ที่เครือเนชั่น โดย “แกนนำพรรค-แกนนำกทม.” มั่นใจว่า จะสามารถสร้างปรากฎการณ์แลนด์สไลด์ กวาด ส.ส.“เมืองหลวง” ได้มากที่สุด
เนื่องจากกระแสของ “เพื่อไทย” ร้อนแรง ตั้งแต่ช่วงเลือกตั้ง ส.ก. ตัวแทนจากพรรคกวาดไป 20 ที่นั่ง จากยอดรวมทั้งหมด 50 ที่นั่งในสภา กทม. ดังนั้นการเลือกตั้ง ส.ส. กทม. ในครั้งนี้เป้าหมายของพรรคเพื่อไทย จึงอยู่ที่ 20 ที่นั่งขึ้นไปเช่นกัน
แกนนำ กทม.เพื่อไทย วิเคราะห์พื้นที่ที่มีโอกาสได้เก้าอี้ ส.ส.สูง ประกอบด้วย
เขต 8 สุรชาติ เทียนทอง เขตจตุจักร (ยกเว้นแขวงจันทรเกษม และแขวงเสนานิคม) เขตหลักสี่ (ยกเว้นแขวงตลาดบางเขน) ซึ่งถือเป็นแชมป์เก่า หลังชนะเลือกตั้งซ่อม ยึดหัวหาดพื้นที่เขตหลักสี่เอาไว้ได้ แม้จะมีจุดบอดอยู่ที่เขตจตุจักรบางพื้นที่ก็ตาม เขต 9 อนุสรณ์ ปั้นทอง เขตบางเขน (ยกเว้นแขวงท่าแร้ง) เขตจตุจักร (เฉพาะแขวงจันทรเกษมและแขวงเสนานิคม) เขตหลักสี่ (เฉพาะแขวงตลาดบางเขน) แม้จะถูกผ่าเขตแยกฐานเสียง แต่พื้นที่เขตหลักสี่แบ่งแต้มจาก “สุรชาติ” มาช่วยได้
เขต 14 พงศกร รัตนเรืองวัฒนา เขตบางกะปิ เขตวังทองหลาง (เฉพาะแขวงคลองเจ้าคุณสิงห์) ยึดเก้าอี้ ส.ก. มาได้ แต่ต้องลุ้นกับ “ฐิติภัสร์ โชตเดชาชัยนันต์” จากพรรครวมไทยสร้างชาติ เขต 15 พลภูมิ วิภัตภูมิประเทศ เขตคันนายาว เขตบึงกุ่ม (เฉพาะแขวงคลองกุ่ม) แทบไม่ได้รับผลกระทบจากการแบ่งเขต ฐานเสียงในพื้นที่เหนียวแน่น
เขต 16 จิรายุ ห่วงทรัพย์ เขตคลองสามวา (ยกเว้นแขวงสามวาตะวันออก และแขวงทรายกองดินใต้) แชมป์เก่ายังสามารถตรึงฐานเสียงในพื้นที่ได้ไม่ขาดตกบกพร่อง เขต 19 วิชาญ มีนชัยนันท์ เขตมีนบุรี (เฉพาะแขวงแสนแสบ) เขตสะพานสูง (ยกเว้นแขวงทับช้าง) แพ้ให้กับ “ชาญวิทย์ วิภูศิริ” จากพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งปี 2562 แต่ครั้งนี้ “วิชาญ” ตรึงพื้นที่ได้ ผนวกกับกระแสพรรคเพื่อไทย ทำให้ “ชาญวิทย์” ต้องหลบฉากเว้นวรรคการเมือง โอกาสได้เก้าอี้ ส.ส. จึงค่อนข้างสูง
เขต 20 ธีรรัตน์ สำเร็จวานิชย์ เขตลาดกระบัง (ยกเว้นแขวงลำปลาทิว) มีฐานแฟนคลับรุ่นเยาว์ - รุ่นเก๋า ค่อนข้างหนาแน่น ผนวกกับฐาน ส.ก.ของพรรค ชื่อของ “ธีรรัตน์” ในพื้นที่เขตลาดกระบังจึงหาตัวเบียดยาก เขต 28 วัน อยู่บำรุง เขตหนองแขม (เฉพาะแขวงหนองแขม) เขตบางบอน (ยกเว้นแขวงบางบอนใต้และแขวงคลองบางบอน) เขตจอมทอง (เฉพาะแขวงบางขุนเทียน) ถูกผ่าเขตแยกพื้นที่จนต้องวางฐานหัวคะแนนกันใหม่ แต่พื้นที่เขตหนองแขมจะเป็นฐานหลัก ผลักดัน “วัน” เข้าสภาอีกครั้ง
เขต 30 สุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา เขตบางแค (ยกเว้นแขวงบางแคเหนือ และแขวงบางไผ่) เขตภาษีเจริญ (เฉพาะแขวงบางหว้า แขวงบางด้วนและแขวงคลองขวาง) แชมป์เก่าฐานเสียงค่อนข้างปึ้ก
ส่วนพื้นที่ กทม.ชั้นใน ที่มีโอกาสได้เก้าอี้ ส.ส.ประกอบด้วย เขต 1 กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ เขตบางรัก เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตดุสิต (ยกเว้นแขวงถนนนครไชยศรี) เขตสัมพันธ์วงศ์ แชมป์เก่าย้ายขั้วมาจากพรรคพลังประชารัฐ ฐานเสียงยังแน่นปึ้ก แต่ กทม.ชั้นในมีฐานของ “อนุรักษ์นิยม” ไม่น้อยจึงต้องออกแรงเยอะพอตัว
เขต 3 เพ็ญพิสุทธิ์ จินตโสภณ เขตบางคอแหลม เขตยานาวา ทีมงานของ “พลภูมิ” ที่พอมีฐานเสียงอยู่ในระดับหนึ่ง
เขต 5 ขจรศักดิ์ ประดิษฐาน เขตห้วยขวาง เขตวังทองหลาง (ยกเว้นแขวงคลองเจ้าคุณสิงห์) พื้นที่ห้วยขวางอาจจะเป็นจุดบอด แต่เขตวังทองหลางฐานเสียงพรรคเพื่อไทยดีพอตัว
เขต 10 สุธนพจน์ กิจธนาพิทักษ์ เขตดอนเมือง แม้จะต้องชนกับ “การุณ โหสกุล” ที่ย้ายไปสังกัดพรรคไทยสร้างไทย แต่การเลือกตั้ง ส.ก. “กนกนุช กลิ่นสังข์” จากพรรคเพื่อไทย เคยคว่ำเด็กของ “การุณ” มาแล้ว “สุธนพจน์” ที่คนดอนเมืองพอคุ้นหน้าคุ้นตาจึงมีโอกาสคว่ำ “การุณ” อีกรอบ
เขต 12 ญาณกิตติ์ ห่วงทรัพย์ เขตบางเขน (เฉพาะแขวงท่าแร้ง) เขตสายไหม(เฉพาะแขวงออเงิน) เขตลาดพร้าว (เฉพาะแขวงจระเข้บัว) พอมีฐานของ “จิรายุ-อนุสรณ์” คอยสนับสนุน เขต 13 สกาวใจ พูนสวัสดิ์ เขตลาดพร้าว (ยกเว้นแขวงจระเข้บัว) เขตบึงกุ่ม (ยกเว้นแขวงคลองกุ่ม) ฐานเสียงหลักจะอยู่ที่เขตบึงกุ่ม โดยมีแรงหนุนจาก “พลภูมิ” เจ้าของพื้นที่เดิม คาดการณ์ว่าหากแบ่งแต้มจากเขตลาดพร้าวมาได้ 6,000 - 8,000 คะแนน “สกาวใจ” ก็มีโอกาสเข้าวินสูง
เขต 31จิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ เขตตลิ่งชัน (ยกเว้นแขวงบางเชือกหนัง) เขตทวีวัฒนา “ทนายบิลลี่” แชมป์เก่าย้ายมาจากพรรคก้าวไกล ครั้งได้นั่งเก้าอี้ ส.ส. เพราะกระแสพรรคสีส้ม ครั้งนี้จึงต้องพิสูจน์ตัวเอง
สำหรับพื้นที่ ที่ยังต้องลุยต่อและไม่หมดหวัง เขต 32 อารุม ตุ้มน้อย เขตบางกอกใหญ่ เขตภาษีเจริญ (ยกเว้นแขวงบางหว้า แขวงบางด้วนและแวงคลองขวาง) เขตธนบุรี (เฉพาะแขวงวัดกัลยาณ์ แขวงหิรัญรูจี และแขวงบางยี่เรือ) เขตตลิ่งชัน (เฉพาะแขวงบางเชือกหนัง) เขตบางกอกน้อย (เฉพาะแขวงศิริราช) มีฐานเสียงของ “เอนก ตุ้มน้อย” คนดังเขตตลิ่งชันคอยสนับสนุน ส่วน เขต 33 ธิติวัฐ อดิศรพันธ์กุล เขตบางพลัด เขตบางกอกน้อย (ยกเว้นแขวงศิริราช) คู่แข่งจัดอยู่ในสายแข็ง
เขต 2 ลีลาวดี วัชโรบล เขตสาทร เขตราชเทวี เขตปทุมวัน โซนเมืองฐานเสียงพรรคก้าวไกลค่อนข้างเหนียวแน่น
เขต 4 นวธันย์ ธวัธวงศ์เดชากุล เขตคลองเตย เขตวัฒนา ต้องชนกับคู่แข่งที่แข็งแกร่ง โอกาสลุ้นจึงค่อนข้างยาก นอกจากขั้วตรงข้ามจะตัดแต้มกันเอง จนเข้าทางตาอยู่
เขต 6 ภัทร ภมรมนตรี เขตดินแดง เขตพญาไท เป็นพื้นที่เป้าหมายของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ต้องการปักธงในกทม. ซึ่งเป็นฐานเสียงของ “เดอะตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เขต 7 นายรัฐพงษ์ ระหงส์ เขตบางซื่อ เขตดุสิต (เฉพาะแขวงนครไชยศรี)
เขต 11 เอกภาพ หงสกุล เขตสายไหม (ยกเว้นแขวงออเงิน) ต้องชนกับ “สมชาย เวสารัชตระกูล” จากพรรคไทยสร้างไทย ซึ่งมี “น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ” แบ็คอัพให้ จึงเสียเปรียบไม่น้อย
ยังมีเวลาลุยต่อ ด้วยนโยบายที่จับต้องได้ อีกหลายพื้นที่ยังมีลุ้น ไม่ว่าจะเป็น เขต 17 ไพฑูรย์ อิสระเสรีพงษ์ เขตหนองจอก (ยกเว้นแขวงโคกแฝด แขวงลำผักชี และแขวงลำต้อยติ่ง) เขตคลองสามวา (เฉพาะแขวงสามวาตะวันออก และแขวงกองทรายดินใต้) เขต 18 ไพโรจน์ อิสระเสรีพงษ์ เขตหนองจอก (เฉพาะแขวงโคกแฝด แขวงลำผักชีและแขวงลำต้อยติ่ง) เขตมีนบุรี (เฉพาะแขวงแสนแสบ) เขตลาดกระบัง (เฉพาะแขวงลำปลาทิว) ทั้งสองเขตนี้ คู่แข่งจากขั้วรัฐบาลค่อนข้างแข็งแกร่ง
เขต 21 อรรฆรัตน์ นิติพน เขตประเวศ (ยกเว้นแขวงหนองบอน) เขตสะพานสูง (เฉพาะแขวงทับช้าง) มาในโควตา “ตั๋วช้าง” แต่เจ้าของพื้นที่มีฐานเสียงแน่นกว่ามาก หากหวังชนะต้องอาศัยกระแสค่อนข้างสูง เขต 22 ธกร เลาหพงศ์ชนะ เขตสวนหลวง เขตประเวศ (เฉพาะแขวงหนองบอน) พอมีลุ้นเพราะแชมป์เก้าย้ายจากขั้วฝ่ายค้าน ไปสังกัดขั้วรัฐบาล ทำให้คะแนนในพื้นที่ค่อนข้างแตกพอสมควร เขต 23 กวีวงศ์ อยู่วิจิตร เขตพระโขนง เขตบางนา ต้องแข่งกับพรรคก้าวไกล และมีแชมป์เก่าที่ย้ายฝั่งไปสังกัดพรรคขั้วรัฐบาลลงสู้
เขต 24 ศิลปวิชญ์ น้อยสมมิตร เขตคลองสาน เขตธนบุรี (ยกเว้นแขวงวัดกัลยาณ์ แขวงหิรัญรูจีและแขวงบางยี่เรือ) เขตราษฎร์บูรณะ (เฉพาะแขวงบางประกอก) ต้องเบียดแชมป์เก่าจากพรรคก้าวไกล ที่ผลงานในสภาค่อนข้างดี เขต 25 กิตติพล รวยฟูพันธ์ เขตทุ่งครุ เขตราษฎร์บูรณะ (ยกเว้นแขวงบางประกอก) คู่แข่งค่อนข้างแข็ง
เขต 26 ศรัณยสัณฑ์ วีรกุลสุนทร เขตจอมทอง (ยกเว้นแขวงบางขุนเทียน) เขตบางขุนเทียน (เฉพาะแขวงท่าข้าม) คู่แข่งมีฐานเสียงแน่นปึ้ก เขต 27 กมลพัฒน์ ปุงบางกระดี่ เขตบางขุนเทียน (ยกเว้นแขวงท่าข้าม) เขตบางบอน (เฉพาะแขวงบางบอนใต้และแขวงคลองบางบอน) รอลุ้นแต้มจากบ้านใหญ่ “อยู่บำรุง” มาสนับสนุน แต่คู่แข่งจัดอยู่ในสายแข็ง
เขต 29 กฤชนนท์ อัยยปัญญา เขตบางแค (เฉพาะแขวงบางแคเหนือ และแขวงบางไผ่) เขตหนองแขม (ยกเว้นแขวงหนองแขม) เป็นอีกคนที่ถือตั๋วช้าง แม้คะแนนเที่ยวที่แล้วจะค่อนข้างสูง แต่ถูกมองว่าเป็นคะแนนจากกระแสของ “ลุงตู่”
ทั้งหมดคือการคาดการณ์ของ “แกนนำ กทม.” พรรคเพื่อไทย ที่ประเมินจากผลโพลของพรรคเอง แม้เป้าของพรรคเพื่อไทยจะวางเอาไว้ 20 ที่นั่ง แต่ผลโพลขณะนี้ โอกาสได้ลุ้นอยู่ที่ 15-18 ที่นั่ง
ดังนั้น จึงอยู่ที่กลยุทธ์เก็บแต้มในช่วงโค้งสุดท้าย จะขยับปรับเปลี่ยนอย่างไร ให้สามารถจุดกระแส “คนเมืองหลวง” หันมากาบัตรให้ผู้สมัครเพื่อไทย ทั้งคนทั้งพรรค