แตกทัพ ปรับยุทธศาสตร์ ‘กทม.-ใต้’ ปชป.ลุ้นดูดกลับขั้วอนุรักษ์ ขยับ 60 +
ศึกเลือกตั้งที่จะชี้ชะตาในอีก 40 วันข้างหน้า ถือเป็นเดิมพันครั้งสำคัญของ “ค่ายสีฟ้า” ถึงขั้นที่"จุรินทร์" ผู้นำพรรคต้องปลุกลูกพรรคถือยางลบเพื่อ "ลบปรามาส" ให้จงได้
“ใครปรามาสเราไว้บ้าง ขอให้ทัพหน้าประชาธิปัตย์ทั้ง 100 คน (ปาร์ตี้ลิสต์) ช่วยกันถือยางลบแท่งใหญ่ ตระเวนไปทั่วประเทศเพื่อช่วยกันลบคำปรามาส และนำพรรคไปสู่ความสำเร็จในการเลือกตั้งต่อไป”
ประโยคสำคัญจากปาก “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในวันเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ100 คน เมื่อวันที่ 31 เม.ย.ที่ผ่านมา นับเป็นการตอกย้ำถึงเดิมพันครั้งสำคัญของ “ค่ายสีฟ้า” ในศึกเลือกตั้งรอบนี้ ที่จะรู้ผลในอีกราวๆ 40 วันข้างหน้า
อย่างที่รู้กันว่า การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เกิดจุดพลิกครั้งสำคัญภายใน “ค่ายสีฟ้า” โดยเฉพาะสนาม กทม.ซึ่งแต่เดิมถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของ ปชป. ที่เกิดปรากฎการณ์ชิงแต้มกันเองภายในขั้วประชาธิปไตย
โดยเฉพาะพรรคคู่แข่งอย่างพลังประชารัฐ ยามนั้นกระแส “ลุงตู่” มาแรง ยิ่งไปกว่านั้น กติกาเลือกตั้งยังใช้ “บัตรใบเดียว” บีบให้ต้องเลือกแบบ "เหมาเข่ง" ทั้งคนและพรรค
จุดนี้เองที่ ปชป.ประเมินว่า เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลการเลือกตั้งครั้งนั้น มีการเทคะแนนเดิมที่เคยเป็นของพรรคไปที่พลังประชารัฐ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมด้วยกัน
การเลือกตั้งที่จะลงคะแนนเสียงกันในวันที่ 14 พ.ค.นี้ ภายใต้กติกาบัตร 2 ใบ “ใบหนึ่งเลือกคนที่รัก-อีกใบเลือกพรรคที่ชอบ” จุดนี้เองที่อาจเข้าทางค่ายสีฟ้า จนมั่นอกมั่นใจว่า รอบนี้สนาม กทม.ปชป.จะไม่สูญพันธุ์อย่างแน่นอน
ภายใต้กติกาบัตร 2 ใบ บวกตัวเลข 254,723 เสียง ที่เลือก “ดร.เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เมื่อครั้งศึกเลือกตั้งพ่อเมืองกทม. รวมถึงผลคะแนนเลือก สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร(ส.ก.) เมื่อช่วงต้นปี 2565 ปชป.ได้มา 9 คน บวกอีก 7 เขต ที่คะแนนมาเป็นลำดับ 2 ถือเป็นีคะแนนอันดับหนึ่งในขั้วอนุรักษ์นิยม
รอบนี้ ปชป.จึงแอบหวังลึกๆว่า อาจตีตั๋วผู้แทนเมืองหลวงอย่างน้อย 6-9 ที่นั่ง
นอกเหนือจากการช่วงชิงความได้เปรียบจากกติกาเลือกตั้ง ในยามที่กระแสคู่แข่งในขั้วอนุรักษ์นิยมเริ่มแผ่วลงอย่างเห็นได้ชัด
ทว่า ปชป.เองก็ยังต้องปรับแผนหาเสียงให้รัดกุมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการจัดวางขุนพล ที่นอกจากจะมี “องอาจ คล้ามไพบูลย์” รองหัวหน้าพรรคคุมพื้นที่กทม. เป็นแม่ทัพใหญ่แล้ว ยามนี้ยังเห็นภาพของการผนึกกำลังลงพื้นที่ของบรรดาขุนพล
โดยเฉพาะ “เดอะมาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค ลงไปเจาะพื้นที่เป้าหมายของ ปชป. ประเดิมที่เขตบางพลัดบางกอกน้อย ของ “เดอะแบง” ชนินท์ รุ่งแสง และเป็นเขตเดิมของ “องอาจ” เมื่อครั้งยังเป็นเขตใหญ่ หวังฟื้นกระแสพรรคที่เคยมีแต่เดิม
โดยเฉพาะในยุคที่อภิสิทธิ์ เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งปชป.เคยรุ่งเรืองในสนามเมืองหลวง โดยในปี 2550 ปชป.เคยมี ส.ส.สูงสุดถึง 29 ที่นั่ง (27 ที่นั่ง + 2 ที่นั่งเลือกตั้งซ่อม)จากส.ส.ทั้งหมด 36 ที่นั่ง
นอกเหนือจากการชิงแต้มภายในขั้วเดียวกันแล้ว ศึกรอบนี้ ปชป.ยังมีอีกหนึ่ง “ด่านหิน” นั่นคือ การฝ่ากระแส "ขั้วประชาธิปไตย" ที่นับวันจะยิ่งมาแรง ตอกย้ำชัดจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เมื่อช่วงต้นปี2565 ที่เกิดปรากฎการณ์ “ชัชชาติแลนด์สไลด์” ฝั่งประชาธิปไตยได้รับคะแนนเสียงอย่างถล่มทลาย
ไม่ต่างจากอีกหนึ่งจุดยุทธศาสตร์สำคัญคือ “สนามภาคใต้” ที่รอบนี้จะมีส.ส.เพิ่มจาก 50 เป็น 58 ที่นั่ง รอบนี้ “ขุนพลใต้ค่ายสะตอ” วางเดิมพันไว้สูง 30-40 ที่นั่ง จากเดิม 23 ที่นั่ง
ศึกรอบนี้ต้องยอมรับว่า ปชป.เจอโจทย์หิน ทั้งคะแนนความนิยมของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ที่ยังสูงเป็นลำดับหนึ่ง ไม่เว้นแม้แต่คู่แข่งต่างขั้วอย่าง “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวและแคนดิเดตนายกฯพรรคเพื่อไทย ที่ยามนี้กระแสตีตื้นขึ้นมาอยู่ในระดับสูงอย่างน่าตกใจ
ไล่ดูผลสำรวจ “นิด้าโพล” เปิดเผยคะแนนนิยมคนภาคใต้เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2565 พบว่า บุคคลที่คนใต้จะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมน ตรี ลำดับหนึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ ลำดับ 2 แพทองธาร ขณะที่จุรินทร์ ผู้นำค่ายสีฟ้า มีคะแนนตามห่างอยู่ในลำดับที่ 6
เมื่อไล่ดูผลสำรวจความเห็น "พรรคการเมืองที่คนใต้มีแนวโน้มจะเลือกให้เป็น ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ" พบว่า ผลสำรวจเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยพรรคประชาธิปัตย์มีคะแนนมาเป็นลำดับ 1 ตามด้วยพรรคเพื่อไทย ที่มาเป็นลำดับ 2
ทำให้ปชป.ต้องปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ ที่นอกเหนือจากการเคลื่อนด้วยทัพหลวง ที่มีจุรินทร์ เป็นแม่ทัพร่วมกับขุนพลภาคใต้ทั้งนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผอ.เลือกตั้งปชป. รวมถึง เดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรค ภาคใต้
จะเห็นชัดว่า ปชป.เลือกปรับยุทธศาสตร์ "แตกทัพ" แยกกันเดิน รวมกันตี โดยเฉพาะการดึงอดีตหัวหน้าพรรคทั้ง “ชวน หลีกภัย” รวมถึง “บัญญัติ บรรทัดฐาน” เดินสายเก็บแต้มปาร์ตี้ลิสต์อีกทางหนึ่ง
สนามภาคใต้รอบที่แล้ว ปชป.สร้างปรากฎการณ์ “แลนด์สไลด์” 6 ที่นั่ง “เมืองร้อยเกาะ” บ้านเกิดนายหัวบัญญัติ เพียงจังหวัดเดียว
ที่สำคัญ รอบนี้ซึ่งจะมี ส.ส.เพิ่มเป็น 7 ที่นั่ง ปชป.ยังต้องสู้กับอดีตคนคุ้นเคยอย่าง “ชุมพล กาญจนะ” บ้านใหญ่เมืองร้อยเกาะ ที่ผนึกกับอีกหนึ่งบ้านใหญ่ “กำนันศักดิ์” พงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว นายก อบจ.สุราษฎร์ธานี ภายใต้สังกัดรวมไทยสร้างชาติของลุงตู่
เป้าหมายหลัก 2 ภูมิภาค คือสนามกทม.และภาคใต้ รอบนี้ จึงถือเป็นเดิมพันครั้งสำคัญของค่ายสีฟ้า หากสามารถทวงคืนพื้นที่ ซึ่งเคยเป็นของปชป.แต่เดิม กลับมาได้ บวกกับส.ส.ในระบบปาร์ตี้ลิสต์ที่มีการประเมินโซนปลอดภัยไว้ที่ 10-15 ที่นั่ง นั่นย่อมเป็นผลดีที่จะช่วยหนุนให้ตัวเลขเป้าหมาย ลบอาถรรพ์ด้วย 60-80 ที่นั่ง ตามที่ตั้งเป้าไว้ เพื่อไปถึงฝั่งฝัน
ขณะเดียวกันสถานการณ์ภายใต้ค่ายสีฟ้ารอบนี้ ยังต้องจับตาไปที่โผปาร์ตี้ลิสต์ แม้ล่าสุดคีแมนย์คนสำคัญโดยเฉพาะ “เลขาฯต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงอภิสิทธิ์ จะแสดงความประสงค์อย่างชัดเจน “ไม่ลงสมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ” ในการเลือกตั้งรอบนี้ ทำให้ที่นั่งโซนปลอดภัยว่างลง 2 ที่นั่ง
ทว่า ด้วยเป้าปาร์ตี้ลิสต์ที่พรรคประเมินไว้เพียง 10-15 ที่นั่งทำให้การจัดลำดับจนถึงยามนี้ ยังต้องพิจารณากันหลายรอบกว่าจะได้ข้อสรุป
ศึกเลือกตั้งที่จะชี้ชะตาผ่านปลายปากกาในอีกราว 40 วันข้างหน้า ถือเป็นเดิมพันครั้งสำคัญของทุกพรรคการเมือง ไม่เว้นแม้แต่ “ค่ายสีฟ้า” ก่อนหน้านี้ “เฉลิมชัย ศรีอ่อน” เลขาธิการพรรค ถึงขั้นประกาศเทหมดหน้าตัก วางเดิมพันด้วย “ชีวิตการเมือง” ต่อจากนี้